"... ข้อมูลจากบัตรลงคะแนนและผลคะแนนเช่นนี้ประกอบกับโพยที่หลุดออกมาก่อนวันเลือก จึงน่าจะเป็นไปตามข้อสันนิษฐานว่าเป็นการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ตามที่ใช้เป็นข้อสันนิษฐานในการเลือก สว.ในวาระเริ่มแรก ซึ่งควรที่จะนำมาเทียบเคียงเพื่อใช้กับการเลือก สว.ในครั้งนี้ด้วย..."
ที่พูดกันว่าการเลือก สว.ครั้งนี้ มีการฮั้ว บล็อคโหวต จัดตั้ง จ้างคนลงสมัคร แต่ก็ไม่เห็นว่า กกต.จะดำเนินการอย่างไร มีแต่ถามหาพยานหลักฐานแบบชัด ๆ หากสุดท้ายแล้วไม่มีใครส่งใบเสร็จรับเงินให้ กกต. ก็คงจะมีการประการรับรองผลการเลือกในอีกไม่กี่วันนี้ และก็ต้องถือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเลือก สว.ครั้งนี้ เป็นเรื่องปกติที่ทำกันได้ และจะทำกันต่อไปในการเลือกครั้งหน้า จึงต้องมาดูกันว่าจริง ๆ แล้ว เขาฮั้วกันอย่างไร และจะหาใบเสร็จได้ที่ไหนเพื่อเอามาชี้ว่าผิดกฎหมาย หรือไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
แต่ก่อนที่จะไปดูว่าฮั้วกันยังไง ลองมาดูว่ามีกฎหมายอะไรที่จะสามารถเอาผิดกับการฮั้ว หรือว่าไม่มีเลย และเป็นไปตามที่เลขาธิการ กกต.ให้สัมภาษณ์อยู่เรื่อย ๆ ว่า ถ้าตกลงแลกคะแนนกันโดยไม่จ่ายเงินกันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะเครื่องมือเอาผิดที่เป็นระเบียบของ กกต.ก็ถูกศาลปกครองสั่งเพิกถอนไปแล้ว
รัฐธรรมนูญ และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มิได้ให้คำนิยามของคำว่า “การเลือกที่ไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม” ไว้โดยชัดเจน แต่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ในบทเฉพาะกาลซึ่งใช้บังคับในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในวาระเริ่มแรก (ชุดที่กำลังจะพ้นวาระ) ได้บัญญัติถึงลักษณะอย่างหนึ่งที่ถือว่าการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ที่เป็นการเลือกในกลุ่มเดียวกัน ไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 94 (7) มาตรา 95 (7) และมาตรา 96 (4) สรุปได้ว่า การเลือกในแต่ละระดับ กลุ่มใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้มาแสดงตนเพื่อเลือกและรับการเลือกในกลุ่มนั้น ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับนั้น ๆ ดำเนินการให้กลุ่มนั้นเลือกกันเองใหม่
ขณะที่ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อธิบาย มาตรา 107 ส่วนหนึ่งระบุว่า “ การกำหนดในรัฐธรรมนูญให้สามารถกำหนดมิให้สมาชิกในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ก็เพื่อให้สามารถกำหนดวิธีการในการป้องกันการสมยอมกันได้ ” และอีกส่วนหนึ่งระบุว่า “ การกำหนดให้ผู้สมัครสามารถสมัครได้โดยเสรี และเลือกกันเองโดยตรงก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่สนใจในการเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมืองจะไม่ถูกกีดกันหรือถูกคัดกรองโดยองค์กรหรือพรรคการเมืองใด
การเลือกสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ แม้จะเป็นการเลือกในวาระต่อมาจากวาระเริ่มแรก โดยมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นจากวาระเริ่มแรก แต่การเลือกในกลุ่มเดียวกันของการเลือกครั้งนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับการเลือกในวาระเริ่มแรกที่มีเฉพาะกลุ่มเดียวกัน การพิจารณาว่า “การเลือกที่ไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม” จึงอาจเทียบเคียงความหมายที่กำหนดไว้ในการเลือกในวาระเริ่มแรกที่อยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ซึ่งย่อมมีเจตนารมณ์เช่นเดียวกัน อันจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์เดียวกันของกฎหมายทั้งฉบับ และเป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นที่ระบุไว้ในหน้าแรกและหมายเหตุในหน้าสุดท้ายของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ว่า เพื่อให้การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นอกจากนี้ยังทำให้การใช้ดุลพินิจเพื่อวินิจฉัยถึงความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมมีหลักอ้างอิง
แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.
การที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อสันนิษฐาน ในกรณีที่มีผู้สมัครไม่ได้รับคะแนนเลือกเลย มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ ว่าเป็นการสมยอมกันในการเลือก และให้ถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม เนื่องจากเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ ในลักษณะที่น่าจะมีการตกลงกันไว้ล่วงหน้าเพื่อนำเอาสิทธิในการเลือกทั้งหมดของผู้สมัครกลุ่มหนึ่ง ไปลงคะแนนให้กับผู้สมัครอีกกลุ่มหนึ่ง โดยไม่เหลือไว้สำหรับเลือกตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นอิสระในการเลือกของผู้สมัครกลุ่มหนึ่ง โดยความไม่เป็นอิสระในการเลือกย่อมทำให้ไม่เกิดความสุจริต และไม่เกิดความเที่ยงธรรม อันขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีความมุ่งหมายให้การใช้สิทธิเลือกในการเลือกของผู้สมัครจะต้องเป็นไปโดยอิสระโดยไม่มีการสมยอมกัน ตามที่ปรากฏอยู่ในความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 107 ที่ยกมาข้างต้น
โดยเฉพาะในการเลือกกลุ่มเดียวกันของการเลือกระดับประเทศในการเลือกครั้งนี้ ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิในการเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน มากถึง 10 เสียง หากจะเลือกผู้สมัครอื่น 9 เสียง และเหลือไว้เลือกตนเอง 1 เสียง ก็ย่อมเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ผู้สมัครจำนวนมากนำเอาสิทธิในการเลือกที่มีอยู่ไปเลือกผู้สมัครอื่นทั้งหมด โดยมีการลงคะแนนตามที่ปรากฏให้เห็นในบัตรลงคะแนนจำนวนมากว่า เป็นการเลือกเบอร์ต่าง ๆ เป็นรูปแบบที่เหมือนกันทั้ง 10 เบอร์ โดยเรียงตามลำดับจากบนลงล่างในลักษณะเดียวกัน จึงย่อมแสดงว่าก่อนที่จะมีการลงคะแนนได้มีการตกลงสมยอมกันไว้อย่างชัดเจน
@ ฮั้วกันยังไงให้ได้ สว.ซัก 100 คน
เริ่มจากรวบรวมผู้สมัครที่ผ่านเข้าสู่ระดับประเทศให้ได้ประมาณ 400 คน (อาจทำกันมาตั้งแต่ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด แล้ว) เพื่อทำการสมยอมกัน โดยใช้วิธีการแบ่งผู้สมัครระดับประเทศออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นผู้สมัครที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น สว.เรียกว่า แคนดิเดต โดยในแต่ละกลุ่มจะมีแคนดิเดต จำนวน 10 คน และกลุ่มที่ 2 เป็นผู้สมัครที่เรียกว่า โหวตเตอร์ คือผู้สมัครที่เหลือจากการไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นแคนดิเดต ที่จะต้องทำหน้าที่ลงคะแนนทั้ง 10 คะแนนให้กับผู้สมัครที่เป็นแคนดิเดตทั้ง 10 คน หากโหวตเตอร์ของกลุ่มใดมีจำนวนไม่มากเพียงพอ ก็จะต้องจัดหาผู้สมัครนอกกลุ่มเพื่อเข้ามาเป็นโหวตเตอร์เพิ่มเติมด้วยการมีข้อตกลงหรือเสนอผลประโยชน์ต่าง ๆ
โดยจะมีการคาดการณ์ด้วยการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ให้เห็นว่าผู้สมัครที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา จะต้องเริ่มจากได้รับคะแนนในรอบเลือกกันเองในกลุ่มเดียวกัน ไม่น้อยกว่า 20 คะแนน จึงจะมีโอกาสผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ โดยรอบที่เลือกกันเองในกลุ่มเดียวกัน หากผู้สมัครที่เป็นแคนดิเดต 10 คน และโหวตเตอร์อีกประมาณกลุ่มละอย่างน้อย 10 คน หรือมากกว่า เลือกผู้สมัครตามที่กำหนดไว้โดยไม่นอกใจไปเลือกผู้สมัครคนอื่นนอกกลุ่ม จะมีผู้สมัครในกลุ่ม ผ่านเข้าไปสู่รอบเลือกไขว้ กลุ่มละ 10 คนในทุกกลุ่ม รวมทั้งหมด 200 คน และเมื่อเข้าสู่รอบเลือกไขว้ซึ่งผู้สมัครที่อยู่ในขบวนการนี้จะผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ทุกกลุ่ม ๆ 10 คน แต่กำหนดผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น สว.เพียงกลุ่มละ 5 คน โดยในแต่ละสายซึ่งมี 5 กลุ่ม เมื่อเลือกไขว้จากกลุ่มอื่นอีก 4 กลุ่ม ที่มีผู้สมัครผ่านเข้ามาในรอบเลือกไขว้ กลุ่มละ 10 คน แต่ละคนมี 5 เสียง นำ 5 เสียงนั้น ไปเลือกผู้สมัคร 5 คนที่กำหนดไว้ จะทำให้ผู้สมัคร 5 คนในกลุ่ม ได้รับคะแนนคนละ 40 คะแนน ซึ่งคะแนนระดับนี้จะทำให้อยู่ใน 10 อันดับ ที่จะได้เป็น สว.
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ ผู้สมัครในขบวนการนี้จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประมาณ 100 คน ดังนั้นจึงต้องซักซ้อมแผนการ โดยเฉพาะการกำชับให้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโหวตเตอร์ในแต่ละรอบจะต้องเลือกผู้สมัครตามรายชื่อที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยในรอบเลือกกันเองในกลุ่มเดียวกัน จะต้องยกคะแนนทั้ง 10 คะแนน เลือกผู้สมัครที่เป็นแคนดิเดตทั้ง 10 คน โดยจะต้องไม่ลงคะแนนให้กับตนเอง ส่วนในรอบเลือกไขว้จะต้องใช้สิทธิลงคะแนนที่มีอยู่ 5 เสียง ลงคะแนนให้แคนดิเดต 5 คน ในอีก 4 กลุ่มที่อยู่สายเดียวกัน วิธีการที่จะทำให้ไม่สับสนคือ การจัดทำโพยและแจกจ่ายให้กับผู้สมัครอย่างที่ช้าสุดในช่วงกลางคืนก่อนวันเลือก โดยให้ผู้สมัครเก็บไว้กับตัวและนำเข้าไปในบริเวณที่จัดไว้สำหรับการเลือก
โดยจะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมผู้สมัครทั้ง 20 กลุ่ม อย่างเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้นอกลู่นอกทาง หรือถูกซื้อตัวโดยขบวนการอื่น
@ โพยหลุดคืนก่อนวันเลือก
โพยที่จัดทำขึ้นและแจกจ่ายให้กับผู้สมัครที่อยู่ในขบวนการ ได้หลุดรอดออกมาในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ต่อเนื่องมาถึงเช้าวันที่ 26 ที่เป็นวันเลือก ปรากฏว่ามีโพยของขบวนการหนึ่งเป็นตารางรายชื่อและเบอร์ของผู้สมัครที่เป็นแคนดิเดตในแต่ละกลุ่มหลุดรอดออกมา และถูกนำออกมาเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ และสื่อทีวี ดังนี้
กลุ่มที่ 2 เบอร์ที่ต้องเลือก 117, 43, 134, 64, 83, 123, 122, 15, 151, 85
กลุ่มที่ 3 เบอร์ที่ต้องเลือก 78, 16, 46, 145, 118, 48, 71, 110, 97, 1
กลุ่มที่ 4 เบอร์ที่ต้องเลือก 85, 118, 63, 5, 51, 3, 61, 151, 93, 103
กลุ่มที่ 5 เบอร์ที่ต้องเลือก 4, 35, 9, 60, 49, 105, 47, 79, 30, 80
กลุ่มที่ 6 เบอร์ที่ต้องเลือก 41, 86, 115, 25, 148, 37, 108, 82, 110, 119
กลุ่มที่ 7 เบอร์ที่ต้องเลือก 2, 21, 105, 39, 150, 151, 40, 36, 88, 59
กลุ่มที่ 8 เบอร์ที่ต้องเลือก 82, 98, 63, 72, 41, 108, 26, 3, 51, 145
กลุ่มที่ 9 เบอร์ที่ต้องเลือก 52, 77, 91, 129, 48, 13, 25, 29, 74, 99
กลุ่มที่ 10 เบอร์ที่ต้องเลือก 137, 8, 68, 11, 36, 71, 120, 39, 85, 132
กลุ่มที่ 11 เบอร์ที่ต้องเลือก 7, 32, 64, 79, 24, 47, 78, 52, 67, 99
กลุ่มที่ 12 เบอร์ที่ต้องเลือก 81, 14, 109, 106, 85, 93, 17, 114, 62, 121
กลุ่มที่ 13 เบอร์ที่ต้องเลือก 16, 25, 71, 57, 52, 44, 120, 83, 51, 90
กลุ่มที่ 14 เบอร์ที่ต้องเลือก 147, 30, 132, 7, 56, 92, 70, 40, 87, 77
กลุ่มที่ 15 เบอร์ที่ต้องเลือก 134, 25, 43, 147, 98, 18, 105, 9, 92, 76
กลุ่มที่ 16 เบอร์ที่ต้องเลือก 26, 41, 87, 99, 54, 130, 58, 24, 20, 62
กลุ่มที่ 17 เบอร์ที่ต้องเลือก 70, 141, 57, 145, 72, 26, 128, 48, 85, 114
กลุ่มที่ 18 เบอร์ที่ต้องเลือก 48, 60, 29, 136, 64, 35, 59, 142, 116, 21
กลุ่มที่ 19 เบอร์ที่ต้องเลือก 127, 75, 16, 30, 14, 26, 117, 119, 88, 64
กลุ่มที่ 20 เบอร์ที่ต้องเลือก 49, 27, 98, 152, 102, 97, 73, 88, 86, 78
โดยเมื่อมีการเลือกจริง ปรากฏว่าบัตรลงคะแนน ที่ลงคะแนนเลือกเบอร์เหล่านี้ มีการเขียนตัวเลขเรียงกันต่อเนื่องเป็นระเบียบตามโพยที่หลุดออกมาทุกประการ จำนวนเกินกว่า 10 ใบ ในทุก ๆ กลุ่ม
ตัวอย่าง การเลือกของบางกลุ่ม ที่บัตรลงคะแนนเขียนเบอร์เรียงลำดับเหมือนกัน ชุดตัวเลข 141, 10, 81, 104, 75, 130, 76, 83, 131, 53 มีจำนวน 26 ใบ และชุดตัวเลข 7, 32, 64, 79, 24, 47, 78, 52, 67,99 มีจำนวน 11 ใบ โดยผู้สมัครชุดตัวเลขแรกผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ทั้งหมด 10 คน โดยไม่มีหลุด ส่วนชุดตัวเลขที่สอง ผ่านเข้าสู่รอบไขว้ 7 คนจาก 10 คน หลุดไป 3 คน โดยผู้สมัครที่เข้ารอบเลือกไขว้ทั้ง 20 เบอร์นี้ มีคะแนนในรอบเลือกไขว้ที่จะได้รับการประกาศเป็น สว.จำนวน 8 คน จาก 10 คน และสำรอง 2 คน จาก 5 คน
การเลือกโดยแลกคะแนนกันเองในกลุ่มผู้สมัครที่เป็นแคนดิเดต 10 คน และอีกส่วนหนึ่งมาจากการลงคะแนนแบบพลีชีพของโหวตเตอร์ ทำให้มีจำนวนผู้สมัครที่ได้ศูนย์คะแนนในทุกกลุ่ม และมีกลุ่มที่ผู้สมัครได้ศูนย์คะแนน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของผู้ที่เข้ารับการเลือกในระดับประเทศที่มารายงานตัว เช่นกลุ่มที่ 1 จำนวน 25 คน, กลุ่มที่ 5 จำนวน 20 คน, กลุ่มที่ 7 จำนวน 16 คน, กลุ่มที่ 8 จำนวน 16 คน, กลุ่มที่ 10 จำนวน 22 คน, กลุ่มที่ 11 จำนวน 25 คน, กลุ่มที่ 14 จำนวน 23 คน, กลุ่มที่ 15 จำนวน 15 คน, กลุ่มที่ 17 จำนวน 23 คน, กลุ่มที่ 19 จำนวน 21 คน, กลุ่มที่ 20 จำนวน 16 คน
ผู้ที่เข้าข่ายถูกสงสัยว่าร่วมขบวนการสมยอม คือ ผู้สมัครที่มีชื่อและเบอร์อยู่ในตารางแคนดิเดต ที่ถูกเผยแพร่ออกมาในคืนวันที่ 25 และเช้าวันที่ 26 ที่เป็นวันเลือก และเมื่อมีการเลือกจริงก็ปรากฏเบอร์ในบัตรลงคะแนน เป็นชุดตัวเลขเดียวกัน
ข้อมูลจากบัตรลงคะแนนและผลคะแนนเช่นนี้ประกอบกับโพยที่หลุดออกมาก่อนวันเลือก จึงน่าจะเป็นไปตามข้อสันนิษฐานว่าเป็นการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ตามที่ใช้เป็นข้อสันนิษฐานในการเลือก สว.ในวาระเริ่มแรก ซึ่งควรที่จะนำมาเทียบเคียงเพื่อใช้กับการเลือก สว.ในครั้งนี้ด้วย
การสมยอมกันในการเลือกหรือการให้คะแนนซึ่งกันและกัน ยังน่าจะเป็นการกระทำผิดในเรื่อง การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้กับผู้ใด ซึ่งประโยชน์อื่นใดในกรณีนี้คือ การเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งมีการรวมตัวกันของผู้สมัครจำนวน 10 คน เท่ากับจำนวนเสียงที่แต่ละคนมีอยู่ 10 เสียง และตกลงให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ให้ประโยชน์กับผู้สมัครคนอื่นในกลุ่มที่รวมตัวกัน ด้วยการลงคะแนนเลือกผู้สมัครอื่นอีก 9 คน และเลือกตนเอง 1 คน เพื่อให้ผู้สมัครอีก 9 คนนั้น ลงคะแนนเลือกตนเองเช่นกัน ทำให้ผู้สมัครแต่ละคนได้รับคะแนนขั้นต่ำ 10 คะแนน โดยแต่ละคะแนนในแต่ละรอบมีผลต่อการได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีผลตอบแทนเป็นตัวเงิน จึงควรจะถือว่าเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวนเป็นเงินได้
การกำหนดให้ผู้สมัครคนใดเป็นแคนดิเดต หรือคนใดเป็นโหวตเตอร์ ยังเป็นการกีดกันหรือคัดกรองผู้สมัคร ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ผู้สมัคร สว.ได้สมัครเข้ามาและมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยเสรี โดยไม่ถูกกีดกันหรือถูกคัดกรองโดยองค์กรหรือพรรคการเมืองใด จึงไม่ควรมีการกำหนดว่าจะให้ใครเป็นแคนดิเดต หรือใครเป็นโหวตเตอร์
เหตุการณ์ทั้งหมดเพียงพอที่จะเป็นใบเสร็จรับเงิน ที่จะบอกว่าการเลือก สว.ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่
กกต.จะต้องเป็นผู้พิจารณา หรืออีกชั้นหนึ่งคือ ศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาด