"...ที่น่าสนใจ หลายครั้งที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ หรือเกิด ‘ความดราม่า’ ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 บรรดา ‘นักเลือกตั้ง-นักวิชาการ’ ต่างออกมาแชร์ความเห็น โชว์จุดยืน รวมถึงมีกระแสเรียกร้องจากสังคมมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีใครเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างเป็นจริงเป็นจัง..."
นับเป็นเรื่องใหญ่ ‘สะเทือน’ กระบวนการยุติธรรม!
กรณี ‘บุ้ง ทะลุวัง’ หรือ ‘เนติพร เสน่ห์สังคม’ เสียชีวิต ระหว่างถูกคุมขัง ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
จนกระแสเรียกร้องให้มีการ ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ ถูกจุดพลุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นนี้ถูกบางฝ่ายนำไปเทียบกับกรณี ‘อากง’ หรือ ‘อำพล ตั้งนพกุล’ ชายแก่ที่เคยถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS มีข้อความหมิ่นสถาบันฯ ไปยังเครื่องโทรศัพท์ของ ‘สมเกียรติ ครองวัฒนสุข’ เลขานุการของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เมื่อปี 2553 ทั้งที่หลายฝ่ายกังขาว่า ชายแก่ที่พูดไทยไม่ค่อยชัด ใช้โทรศัพท์ไม่ค่อยเป็น แถมเป็นชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำ จะรู้เบอร์เลขานุการนายกฯขณะนั้น เพื่อส่ง SMS ไปได้อย่างไร
จนสุดท้าย ‘อากง’ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี และเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2555
@ อำพล ตั้งนพกุล /https://th.wikipedia.org/
ตัดภาพกลับมาปัจจุบัน ผ่านพ้นช่วง ‘ม็อบตาสว่าง’ เฟื่องฟูระหว่างปี 2562-2564 ที่นำโดย ‘ม็อบราษฎร’ บรรดา ‘แกนนำ’ หลายคนต่างโดนคดีตามมาตรา 112 กันถ้วนหน้า บางคนถูกจับกุมคุมขัง ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว เช่น ‘อานนท์ นำภา’ แกนนำม็อบที่โดนลงโทษจำคุกคดีมาตรา 112 ไปแล้ว 3 คดี รวมโทษนับ 10 ปี บางคนหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาของศาล เช่น ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก เป็นต้น
ในช่วงเวลาเหล่านี้ กระแสการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมกำลังพุ่งสูง แม้แต่ในสภาฯเอง ‘พรรคก้าวไกล’ ฟอร์มทีม สส.ลงนามยื่นแก้ไขร่างประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดย ‘ไส้ใน’ รวมถึงการแก้ไขมาตรา 112 ด้วย ทว่าไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่สภาฯ จนสุดท้ายเรื่องนี้ถูกนำมาเป็นประเด็นยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ สั่งห้าม ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ และ ‘ก้าวไกล’ ห้ามเคลื่อนไหว รวมถึงถูกนำมาเป็นชนวนเหตุในการไต่สวนคำร้อง ‘ยุบพรรค’ อยู่
ทว่าการเสียชีวิตของ ‘บุ้ง’ กลับปลุกกระแสดังกล่าวให้ดังขึ้นมาในสังคม ทั้งจากนักวิชาการ นักการเมือง และอดีตแกนนำม็อบ ทั้งที่ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ และไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพุ่งเป้าไปยัง ‘รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน’ ไฉนยังนิ่งเฉยกับเรื่องนี้อยู่
ภาพ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร จาก www.innnews.co.th
สิ่งที่สังคมโฟกัสเป็นพิเศษ หนีไม่พ้น ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยหล่นคำให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนการเลือกตั้ง 2566 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย รายการ ‘หมดเปลือกเพื่อไทย’ มี ‘มดดำ’ คชาภา ตันเจริญ เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดย ‘อุ๊งอิ๊ง’ ตอบคำถามตอนหนึ่งถึงกระแสเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง โดยถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะขอความเมตตาจากศาลให้มีการปล่อยตัวคนเหล่านั้น ยืนยันไม่สนับสนุนเรื่องนี้เอามาใช้เป็นเกมการเมือง
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยถึงสถานการณ์ยื่นร้องขอต่อศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาเกี่ยวกับคดีทางการเมือง รวมถึงคดีตามมาตรา 112 พบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 มีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง เพราะจากการยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองทั้งหมด 45 ครั้ง เป็นคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 และมาตรา 116 รวม 36 ครั้ง คดีจากเหตุระเบิด-วางเพลิง 9 ครั้ง และคดีละเมิดอำนาจศาล 1 ครั้ง ไม่มีศาลใดอนุญาตให้ประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองแม้แต่รายเดียว
ปัจจุบันมีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีทางการเมืองรวม 43 คน มี 27 คนมิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แบ่งได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.คดีตามมาตรา 112 มี 18 คน คดีตามมาตรา 116 มี 2 คน และคดีอื่น ๆ มี 7 คน อย่างไรก็ตามหากโฟกัสเฉพาะคดีที่สิ้นสุดแล้ว ในกลุ่มผู้ต้องโทษตามมาตรา 112 มีจำนวน 16 คน
ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น นับตั้งแต่ พ.ย. 2563 เป็นต้นมาถึง 13 พ.ค. 2567 พบว่า คดีของผู้ต้องหาทางการเมือง มีอย่างน้อย 72 คดี โดยศาลยกฟ้อง 19 คดี ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 34 คดี ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 9 คดี ศาลยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่น 7 คดี และคดีที่ศาลยกฟ้องจำเลยบางคน แต่ลงโทษจำคุกจำเลยอีกราย 3 คดี
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผ่านมาราว 8 เดือนนับตั้งแต่ ‘รัฐบาล’ ที่มี ‘เพื่อไทย’ เป็นแกนนำจัดตั้ง แต่กลับไม่มีสัญญาณหรือนโยบายใด ๆ ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามที่ ‘สัญญา’ ไว้กับประชาชนช่วงก่อนการเลือกตั้งเลยแม้แต่น้อย ทำให้กระแสสังคมตอนนี้กลับมาทวงสัญญากดดันไปยังรัฐบาล ต้องมีมาตรการใดออกมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยด่วน รวมถึงมวลชนบางกลุ่มไปไกลถึงขั้นให้ออก ‘นิรโทษกรรม’ แก่บุคคลที่โดนคดีทางการเมืองจากการชุมนุมที่ผ่านมา โดยหมายรวมโทษตามมาตรา 112 เอาไว้ด้วย
เมื่อเรื่องถึงขั้นปลุกกระแส ‘นิรโทษกรรม’ ครั้งนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่า ประเด็นผิดตามมาตรา 112 สมควรถูกนำมาใส่ไว้ใน ‘นิรโทษกรรม’ หรือไม่ บางฝ่ายเห็นว่า สมควร เพราะไม่ควรถูกตั้งข้อหาเหล่านี้แต่แรก บางฝ่ายค้าน เพราะเห็นว่า ถ้าทำผิดสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ ไม่ควรเหมารวมในนิรโทษกรรม เป็นต้น
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เคยถกเถียงกันอย่างหนักว่า สมควรเอาความผิดตามมาตรา 112 ใส่ไว้ในการ ‘นิรโทษกรรม’ หรือไม่ เบื้องต้น ‘รังสิมันต์ โรม’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.ชุดดังกล่าว เตรียมผลักดันเสนอให้มีการหารือกันเรื่องนี้อีกครั้ง โดยย้ำจุดยืนของพรรคก้าวไกลว่า ไม่ควรตั้งต้นที่ประเภทของคดี แต่ควรพิจารณาจากแรงจูงใจทางการเมืองที่เป็นต้นเหตุสำคัญ หาก กมธ.ตั้งต้นที่ประเภทคดีแล้ว ควรพิจารณาให้ครบคดี ไม่ควรมีคดีใดที่ตกหล่นจากการได้รับการนิรโทษกรรม เพราะในบางกรณีพบว่าการแจ้งข้อหานั้นกระบวนการกล่าวโทษมีปัญหาและใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง
@ นิกร จำนง
แต่ก่อนหน้านี้ ‘นิกร จำนง’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะประธาน กมธ.ชุดดังกล่าว เคยออกมาบอกว่า เรื่องความผิดตามมาตรา 112 เป็น ‘ประเด็นอ่อนไหว’ และเกี่ยวกับ ‘ความมั่นคงของรัฐ’
นั่นจึงทำให้ท่าทีของ กมธ.นิรโทษกรรมฯ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ควรหมายรวมมาตรา 112 พ่วงในการนิรโทษกรรมด้วยไหม?
แต่ที่น่าสนใจ หลายครั้งที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ หรือเกิด ‘ความดราม่า’ ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 บรรดา ‘นักเลือกตั้ง-นักวิชาการ’ ต่างออกมาแชร์ความเห็น โชว์จุดยืน รวมถึงมีกระแสเรียกร้องจากสังคมมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีใครเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างเป็นจริงเป็นจัง
เพราะฉะนั้นต้องรอดูกรณี ‘บุ้ง’ ว่า จะเหมือน ‘พลุ’ ที่จุดมาเสียงดัง แล้วเงียบหายไปอีกเหมือนเดิมหรือไม่