การเดิมพันของนายทักษิณต่อกรณีเมียนมานั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก ที่ผ่านมานายทักษิณเคยเดินหน้าในรูปแบบการแทรกแซงที่มีลักษณะคล้ายกันนี้มาแล้ว โดยจุดประสงค์ของการแทรกแซงเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเพื่อการยกระดับโปรไฟล์ของทักษิณภายในประเทศไทย เพื่อให้เขามีคุณสมบัติของรัฐบุรุษดังที่ควรจะเป็น
ข่าวการเมืองซึ่งเชื่อมโยงกิจการต่างประเทศ ที่สังคมไทยให้ความสนใจในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นข่าวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอาสาเป็นคนกลางเพื่อแก้วิกฤติของเมียนมา เพราะมีคำถามสำคัญว่านายทักษิณทำเรื่องนี้ทำไม ต้องการชิงพื้นที่สื่อใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตามสถาบันโลวี่ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการในประเทศออสเตรเลียได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ไว้ว่าแท้จริงแล้วนายทักษิณอาจจะมีแรงจูงใจทางด้านผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลัก ถึงได้เสนอตัวเข้ามาเป็นคนกลางในกรณีนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอาบทวิเคราะห์ดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นำเสนอตัวเองว่ามีศักยภาพในการเป็นคนกลางเพื่อยุติสงครามกลางเมืองเมียนมา อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์กันว่าอดีตนายกรัฐมนตรีไทยมีแรงจูงใจมาจากเรื่องผลประโยชน์ทางการเงินและการเมืองเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมานายทักษิณมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเหล่าบรรดาอดีตผู้นำทหารเมียนมา และความสัมพันธ์ในอดีตนี้เองก็จะเป็นสิ่งที่กระทบความน่าเชื่อถือของนายทักษิณว่าจะเป็นคนกลางที่ซื่อสัตย์ได้ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 พ.ค. สื่อเมียนมาชื่อว่าสาละวินเพรส (Salween Press) รายงานข่าวว่านายทักษิณได้ไปพบกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มและตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG)
สำนักข่าว Diplomat ของสหรัฐอเมริการายงานข่าวนายทักษิณพบกับกลุ่มชาติพันธุ์
การพบปะที่ว่ามานี้ได้รับการยืนยันจากนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนรัฐบาลไทยบอกว่าไม่เกี่ยวข้อง และจะไม่เข้าไปแทรกแซงกรณีนี้
การเดิมพันของนายทักษิณต่อกรณีเมียนมานั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก ที่ผ่านมานายทักษิณเคยเดินหน้าในรูปแบบการแทรกแซงที่มีลักษณะคล้ายกันนี้มาแล้ว โดยจุดประสงค์ของการแทรกแซงเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเพื่อการยกระดับโปรไฟล์ของทักษิณภายในประเทศไทย เพื่อให้เขามีคุณสมบัติของรัฐบุรุษดังที่ควรจะเป็น
ย้อนไปในอดีตจะเห็นว่านายทักษิณพยายามเข้าไปข้องเกี่ยวกับรัฐบาลต่างชาติ มีรายละเอียดดังนี้
-ในปี 2552 ในช่วงที่ศาลได้มีคำพิพากษานายทักษิณ จนเขาต้องเป็นนักโทษหนีคดี สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาตอนนั้นก็ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประเทศ
-ในปีเดียวกันนั้นเอง ครอบครัวของนายทักษิณได้ออกมาประกาศว่ารัฐบาลศรีลังกาได้วางแผนให้เขาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม กรุงโคลอมโบได้ออกมาปฏิเสธในเรื่องนี้
-พอมาถึงปี 2555 นายทักษิณได้ไปที่มาเลเซียเพื่อไปพบปะกับตัวแทนของกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งการพบปะในปีนั้นเกิดขึ้นก่อนที่ทีมบริหารของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรในตอนนั้นจะหารือกับกลุ่มแนวร่วมบีอาร์เอ็น
อย่างไรก็ตามการกระทำทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้สร้างผลผลิตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะกับอีกฝ่ายที่เขาอ้างว่ามีความร่วมมือด้วย โดยในปี 2553 ทางกรุงพนมเปญได้ออกมาประกาศว่านายทักษิณได้ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษกิจแล้วเนื่องจาก “ปัญหาส่วนตัวทำให้เขาประสบความลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์”
ส่วนการพบปะของนายทักษิณกับกลุ่มก่อความไม่สงบนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ การเจรจาสันติภาพนั้นเป็นสิ่งที่เกิดมานานหลายปีแล้ว ทว่าไม่ได้ลดความรุนแรงลงแต่อย่างใด
โดยข้อมูลจากองค์กร Deep South Watch ระบุว่าแท้จริงแล้วเหตุการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มลดลงหลังการรัฐประหารปี 2557
@การแทรกแซงของนายทักษิณอาจเบี่ยงเบนความสนใจที่มีต่อความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาเมียนมา
มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา และฝ่ายตรงข้ามเผด็จการทหารเมียนมาอย่างรัฐบาล NUG จะมองนายทักษิณด้วยสายตาที่หม่นหมอง เพราะพวกเขารู้ดีว่าทักษิณนั้นเป็นมิตรกับหัวหน้าเผด็จการทหารที่เป็นศัตรูตัวฉกาจอย่าง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำระดับสูงของรัฐบาลทหารคนอื่นๆ
โดยย้อนในปี 2554 นายทักษิณเคยไปพบกันประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ในตอนนั้น และไปพบกับอดีตประธานาธิบดีตาน ฉ่วย ของเมียนมา
ฝ่ายค้านเมียนมารู้ดีว่านายทักษิณเคยมีการติดต่อทำข้อตกลงการเงินกับกองทัพเมียนมา อาทิในปี 2557 เขากดดันให้กระทรวงการต่างประเทศไทยอนุมัติเงินกู้ 4 พันล้านบาท ให้กับเมียนมา ซึ่งนี่เกี่ยวข้องกับกรณีที่บริษัทของนายทักษิณให้เช่าบริการดาวเทียมกับเอกชนซึ่งมีเจ้าของได้แก่ลูกชายของอดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าหน่วยข่าวกรองเมียนมาอย่างนายพลขิ่น ยุนต์ และมีรายงานด้วยว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้เคยมอบที่ดินในเมืองย่างกุ้งให้กับนายทักษิณด้วยเช่นกัน (อ้างอิงข่าวส่วนนี้กับบางกอกโพสต์)
นายทักษิณยังได้เดินหน้าโครงการท่าเรือทวาย (ถูกยกเลิกไปแล้ว) ในเมียนมา เพื่อจะเชื่อมโยงกับท่าเรือในประเทศไทย โดยบริษัทไทยที่ดำเนินการเรื่องก็ได้แก่บริษัทอิตัลไทย ซึ่งมีเจ้าของเป็นคนสนิทนายทักษิณ ซึ่งส่วนหนึ่งของโครงการนี้จะเป็นการสร้างถนนผ่านอาณาเขตกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เมียนมา ซึ่งก็คือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และถ้าหากโครงการนี้มีการเดินหน้าก็จะมีการผลักดันที่มั่นของกลุ่ม KNU จำนวนหลายแห่งออกไป
ทางบริษัทอิตัลไทยเองยังได้มีการว่าจ้างนายพลจัตวาแห่งหน่วยข่าวกรองทางทหารของเมียนมาให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการในโครงการพิเศษแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวอิรวดีรายงานทักษิณพบกับ มิน อ่อง หล่าย เมื่อปี 2556
ที่ผ่านมานายทักษิณเคยอ้างว่าจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างที่ว่านี้ก็มีจุดประสงค์ทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย
ในช่วงปี 2552 ตอนที่มีการประท้วงใหญ่ของผู้สนับสนุนนายทักษิณ เขาได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อฝรั่งเศสไว้ตอนหนึ่งว่าเป้าหมายของเขานั้นคือประชาธิปไตย การมีเสรีภาพ และภราดรภาพเช่นเดียวกับชาวฝรั่งเศส แต่เขาก็กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าตัวเขาจำเป็นต้องกู้คืนทรัพย์สินของเขาที่ถูกยึดเอาไว้ด้วย
นี่อาจจะคล้ายที่เมียนมา ที่นายทักษิณมีผลประโยชน์ทางธุรกิจอยู่ที่นั่น ตามรายงานของสำนักข่าวอิรวดีของเมียนมาระบุว่านายทักษิณนั้นมีทรัพย์สินในเมืองทวายและเมียนโม ตลอดจนผลประโยชน์ด้านน้ำมันและก๊าซในประเทศ
ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้เลยที่การเดิมพันของนายทักษิณจะให้ผลกำไรเป็นสันติภาพแก่เมียนมา อันที่จริงด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวของเขากับผู้นํารัฐประหารของเมียนมาและผลประโยชน์ทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น
นี่จึงเป็นข้อเน้นย้ำว่าการแทรกแซงของนายทักษิณอาจจะเป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนความพยายามของไทยในการแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมาก็เป็นได้
เรียบเรียงจาก:https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/thaksin-shinawatra-s-myanmar-talks-likely-driven-politics-money