"...หากเทียบเคียงกับกรณี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ คดีถือหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 23 พ.ค. 2562 แต่กว่าศาลจะวินิจฉัยคือ 20 พ.ย. 2562 กินเวลาอย่างน้อยเกือบ 6 เดือน ในช่วงเวลาศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องก่อนจะวินิจฉัยดังกล่าว ‘ก้าวไกล’ จะเสนอชื่อ ‘พิธา’ นั่งเก้าอี้นายกฯตลอดเวลา อาศัยกลไกบรรจุวาระประชุมโดยประธานสภาฯ เพื่อกดดันการทำหน้าที่ของ ส.ว. เรื่อย ๆ..."
เป็นอันว่าการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง 2566 เริ่มนับ 1 อย่างเป็นทางการ
พลันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.รวม 500 คน ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา เร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ถึง 2 วัน (เดิมว่ากันว่า กกต.จะเคาะรับรองผลในวันที่ 21 มิ.ย.)
อย่างไรก็ดี หากเจาะใส้ในการรับรอง ส.ส.ครั้งนี้ พบว่า มี ส.ส.ที่ไม่โดนเรื่องร้องเรียน 318 คน ส่วน ส.ส.ที่มี ‘ชนักปักหลัง’ อย่างน้อย 82 คน ยังสุ่มเสี่ยงพ้นเก้าอี้ได้ตลอดเวลา เนื่องจากตามกฎหมาย กกต.มีสิทธิตั้งกรรมการสืบสวนและไต่สวนย้อนหลังได้ภายใน 1 ปีหลังการเลือกตั้ง
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองกำลังระอุได้ที่ โดยเฉพาะศึกชิงบัลลังก์ ‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’ ระหว่าง ‘เพื่อไทย’ และ ‘ก้าวไกล’ ที่มีการปล่อยข่าวแทบจะรายวัน
บางวันว่า ‘เพื่อไทย’ ยอมถอยให้ ‘ก้าวไกล’ แล้ว อีกวันว่า ‘เพื่อไทย’ ยังไม่ยอม ขอส่งคนชิงเก้าอี้นี้ด้วย สร้างความปั่นป่วนให้กับคนในแวดวงการเมืองอย่างมาก
แต่ที่รู้กันดีคือ การขยับทางการเมืองของ ‘พรรคสีแดง’ หนีไม่พ้นการเคาะโต๊ะจาก ‘คนแดนไกล’ ว่าจะสั่งการอย่างไร
ที่ผ่านมาว่ากันว่า ‘นักรบห้องแอร์’ บางคน รับสัญญาณจาก ‘คนแดนไกล’ แต่สื่อสาร ‘ผิดพลาด’ ทำให้เกิด ‘คลื่นใต้น้ำ’ โดยเฉพาะกลุ่ม ‘ส.ส.ภูธร’ ในพรรค วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะประเด็นเก้าอี้ ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ ที่พรรคต้องกอดเอาไว้ให้แน่น ป้องกัน ‘อุบัติเหตุทางการเมือง’ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ทำให้ช่วงสัปดาห์นี้ การเจรจาวงลับระหว่างบิ๊กเนม ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ จะจริงจังมากขึ้น เพื่อชิงเก้าอี้ ‘ประธานสภาล่าง’
ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ยังคงยืนกรานเก้าอี้ประธานสภาฯ เพื่อคุมเกมโหวต และสร้างแรงต่อรองทางการเมือง หากเกิดเหตุการณ์ ‘ส้มหล่น’ ขึ้นมา
เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ที่ต้องการเก้าอี้ตัวนี้ โดยอ้างโควตาความเป็น ‘พรรคลำดับ 1’ มีจำนวน ส.ส.ในมือมากสุด 151 คน และในงานสัมมนาติวเข้ม ส.ส.ป้ายแดง ที่สนามกอล์ฟพัฒนาสปอร์ต รีสอร์ท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ของตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ สายสีส้ม ว่ากันว่าจะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรค เพื่อชิงเก้าอี้ตัวนี้ด้วย
โดยรายชื่อตัวเต็งจะชิงเก้าอี้ประธานสภาฯของพรรคก้าวไกล มีอย่างน้อย 4 คน ได้แก่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรค ฝ่ายกฎหมาย ปดิพัทธิ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม. และพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรค
แต่ในจำนวน 4 คนนี้ คนมีสิทธิลุ้นตั๋วเข้าชิงมากที่สุดหนีไม่พ้น ‘ณัฐวุฒิ บัวประทุม’ เนื่องจากเหมาะสมด้วย ‘วัยวุฒิ-คุณวุฒิ’
ณัฐวุฒิ บัวประทุม /ภาพจาก https://election66.moveforwardparty.org/
ประเด็นสำคัญที่ ‘พลพรรคสีส้ม’ จำเป็นต้องเกาะเก้าอี้ประธานสภาฯเอาไว้อย่างเหนียวแน่น นอกเหนือจากการเสนอร่างกฎหมาย 45 ฉบับ (หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) และการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปโดยง่ายแล้ว
หน้าที่ของประธานสภาฯ คือการคุมเกมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย แน่นอนว่า ‘ก้าวไกล’ มีเพียงตัวเลือกเดียวคือ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรค
แต่ด้วยมรสุมการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อาจทำให้ ‘พิธา’ ถึงฝั่งฝันได้ยาก โดยเฉพาะการฝ่าด่าน ส.ว. ที่เป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็กฝ่าย ‘อนุรักษ์นิยม’ ซึ่งยังแพ็คกันค่อนข้างแน่นหนา
แม้ ‘เดอะ ไหม’ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล จะออกปากว่า การเจรจากับ ส.ว.เป็นไปได้สวย และมีเสียงเพิ่มมากขึ้น แต่จำเป็นต้องเจรจาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันบางคนเปลี่ยนใจในภายหลัง
ดังนั้นกลหมากที่ ‘ก้าวไกล’ วางไว้สเต็ปต่อไป หากได้ครองเก้าอี้ประธานสภาฯแล้ว นั่นคือ ส.ส.ก้าวไกล เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความชี้ขาดกรณีการถือครองหุ้นไอทีวีของ ‘พิธา’ ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอคนอื่น
เนื่องจาก ‘ก้าวไกล’ เชื่อมั่น 100% ว่า ‘พิธา’ จะต้องรอดคดีหุ้นสื่ออยู่แล้ว จึงกล้าที่จะเดินหมากเกมนี้
นอกจากนี้หากเทียบเคียงกับกรณี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ คดีถือหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 23 พ.ค. 2562 แต่กว่าศาลจะวินิจฉัยคือ 20 พ.ย. 2562 กินเวลาอย่างน้อยเกือบ 6 เดือน
ในช่วงเวลาศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องก่อนจะวินิจฉัยดังกล่าว ‘ก้าวไกล’ จะเสนอชื่อ ‘พิธา’ นั่งเก้าอี้นายกฯตลอดเวลา อาศัยกลไกบรรจุวาระประชุมโดยประธานสภาฯ เพื่อกดดันการทำหน้าที่ของ ส.ว. เรื่อย ๆ
หาก ส.ว.ยังดึงดันไม่ยอมโหวตเลือก ‘พิธา’ อาจมีกลุ่ม ‘มวลชน’ เดินเกมการเมืองบนท้องถนนกดดัน ส.ว.เพิ่มเติมนอกสภาฯด้วย
นี่คือหมากต่อไปของ ‘ก้าวไกล’ ที่เตรียมเอาไว้รับมือบรรดา ส.ว.-ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ไม่ยอมรับมติมหาชนกว่า 14 ล้านเสียง
แต่สเตปแรกตอนนี้ ‘ก้าวไกล’ จำเป็นต้องชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ มาเป็นของตัวเองให้ได้ก่อน แน่นอนว่า ‘เพื่อไทย’ ก็รู้หมากเกมนี้เช่นกัน จึงต้องพยายามกีดกันทุกฝีก้าว หากต้องการสถานการณ์ ‘ส้มหล่น’ เพื่อให้พรรคตัวเองได้จัดตั้งรัฐบาล
ส่วนใครจะเป็นผู้ชนะ ต้องรอดูต่อไปแบบห้ามกระพริบตาเด็ดขาด!