"...ในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ส.ว.ควรโหวตให้พรรคก้าวไกลด้วยหลักการเดียวกันที่เคยทำมาเมื่อปี 2562 แต่ถ้าไม่โหวตให้เพราะข้อหาความไม่จงรักภักดีของพรรคก้าวไกล ทาง ส.ว.ก็ควรเอาหลักฐานออกมาแสดงให้ชัดเจนว่า มีใครที่ทำพฤติกรรมอย่างนั้น อาจจะขออภิปรายก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีก็ได้ว่า พรรคก้าวไกลมีหลักฐานอะไรถึงไปกล่าวหากันแบบนั้น การไปเที่ยวบอกพรรคนั้นพรรคนี้เป็นกบฎ มันไม่ได้ ทั้งนี้ ส.ว.ก็มีสิทธิ์ที่จะงดออกเสียงก็ได้ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ..."
"นับเวลา พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาแล้ว 9 ปี คือ 5 ปีแรก คสช. รวมกับ 4 ปีในยุครัฐพรรคพลังประชารัฐ แล้วยังจะไปต่อ จึงน่าจะไม่เกี่ยวกับกรณีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม"
"แต่เป็นกระแส ‘เบื่อลุง’ เบื่อ คสช.สืบทอดอำนาจ"
"ทีนี้ เมื่อประชาชนส่วนมาก ‘เบื่อลุง’ แล้วจะหันไปเลือกใคร?"
"ต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลมีความสามารถในการใช้สื่อออนไลน์และอัลกอริทึ่มของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ สอดคล้องกับพฤติกรรมปัจจุบันของผู้บริโภคที่นิยมเฉพาะคอนเทนต์ที่ตัวเองชอบจนกลายเป็น Echo Chamber ด้วย ประกอบกับบรรดาเซเลบ เน็ตไอดอล และดารา ที่ต้องตอบโจทย์กระแสสังคม"
คือ มุมมองของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาคววิชาปกครอง เกี่ยวกับชัยชนะของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566
ที่เริ่มต้นเปิดประเด็นไว้กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในตอนที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว 5 วัน สำหรับการเลือกตั้งใหญ่วันที่ 14 พ.ค. 2566
ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 คว้าเก้าอี้ ส.ส.รวม 152 ที่นั่ง ได้รับคะแนนนิยมจาก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 14,233,895 คะแนน กำลังรวบรวมเสียงข้างมาก เพื่อจัดตั้งรัฐบาล
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 66 พรรคก้าวไกลรวบรวมคะแนนเสียงในสภาได้แล้ว 313 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 152 ที่นั่ง, พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง, พรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง, พรรคไทยสร้างไทย 6 ที่นั่ง, พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง, พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง, พรรคเป็นธรรม 1 ที่นั่ง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง
หากเปิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 การจัดตั้งนายกรัฐมนตรี ตามวรรคที่หนึ่งระบุว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีใหดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และ มติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา
ซึ่งรัฐสภาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน รวมทั้งสองสภา 750 คน ซึ่งคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งครึ่งก็คือ 375 คน
ดังนั้น การจะเสนอนายกรัฐมนตรีได้ พรรคก้าวไกล นอกจากจะต้องรวมเสียงให้ได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส. หรือ 250 คนแล้ว ยังจะต้องรวมเสียงให้ได้กึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภารวมกันด้วย
แม้จะรวมคะแนนจนมั่นคงได้ระดับหนึ่ง สำทับด้วย ส.ว.ที่เริ่มเปิดหน้าโหวตให้บ้างแล้ว
แต่กว่าจะไปถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามไทม์ไลน์คาดว่ากว่า กกต.จะรับรองผล กว่าจะเปิดสภาเลือกประธานและรองประธานสภา จนนำไปสู่การโหวตนายกรัฐมนตรี ก็ล่วงไปถึง ส.ค. 2566
ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนนี้
อีกบทหนึ่งในการสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประเมินความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
ให้ สำนักข่าวอิศรา ฟังแบบชัดๆ ดังนี้
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
@ ยึดหลักการปี 62 ส.ว.ควรโหวตให้
อ.ไชยันต์ เริ่มต้นว่า หากว่ากันตามหลักการที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี จากการรวบรวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลได้ 251 เสียง มากกว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้รับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีแข่งขัน แต่รวมเสียงได้แค่ 244 เสียง จนทำให้สมาชิก ส.ว. 250 เสียงเทโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์
ดังนั้น ในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ส.ว.ควรโหวตให้พรรคก้าวไกลด้วยหลักการเดียวกันที่เคยทำมาเมื่อปี 2562
แต่ถ้าไม่โหวตให้เพราะข้อหาความไม่จงรักภักดีของพรรคก้าวไกล ทาง ส.ว.ก็ควรเอาหลักฐานออกมาแสดงให้ชัดเจนว่า มีใครที่ทำพฤติกรรมอย่างนั้น อาจจะขออภิปรายก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีก็ได้ว่า พรรคก้าวไกลมีหลักฐานอะไรถึงไปกล่าวหากันแบบนั้น การไปเที่ยวบอกพรรคนั้นพรรคนี้เป็นกบฎ มันไม่ได้ ทั้งนี้ ส.ว.ก็มีสิทธิ์ที่จะงดออกเสียงก็ได้ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ
@แนะอย่าสร้างกระแสบีบ ส.ว./ ผ่อนคันเร่งแก้ ม.112
เมื่อถามว่า กระแสสังคมกำลังบีบให้ ส.ว.โหวตให้ เพราะจากคำมั่นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศชัดว่าจะไม่ขอเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมนั้น ศ.ดร.ไชยันต์มองว่า พรรคก้าวไกลมี 152 เสียง ส่วนการอ้างว่ารวบรวมเสียงจากพรรคร่วมมาได้ 313 เสียงนั้น ให้รอดูวันที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีดีกว่า เพราะพรรคอื่นก็ยังไม่ได้แสดงจุดยืนหรือพูดอะไรมาก แต่การสร้างกระแสป้ายสีให้คนอื่นเป็นผู้ร้ายไปแล้ว และการที่บอกว่ารวมมาได้ 313 เสียง ก็ยังไม่เห็นว่าพรรคร่วมเหล่านี้ออกมาบอกอะไรชัดเจน
ส่วนความเป็นไปได้ที่ ส.ว.จะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องดูก่อนว่าพรรคที่ไปรวบรวมมา 313 เสียงนั้น ก็ขาดแค่ 61 เสียง เท่านั้นที่จะไปถึงตัวเลข 376 เสียง แต่หากพรรคร่วมต่างๆที่จับมือกันขณะนี้ จับมือกันไม่แน่นพอจนบางส่วนหลุดมือไป และต้องพึ่ง ส.ว.มากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งยากมากขึ้นเท่านั้น
ส่วนการกำหนดเงื่อนไขว่า จะมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องยอมทำ MOU ร่วมกันนั้น ศ.ดร.ไชยันต์กล่าวว่า ก็เป็นการส่งสัญญาณถึงบรรดาฐานเสียงว่า ฉันไม่ได้ให้ร่วมมั่วๆนะ อย่างน้อยกระทรวงต่างๆ ฉันต้องเอากระทรววงอะไรบ้าง และมีวาระเร่งด่วนอะไรบ้าง เช่น การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 การยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นต้น ซึ่งประเด็นสำคัญคือ หากพรรคก้าวไกลยอมผ่อนปรนตรงนี้ว่า การแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่เร่งรีบ หลายๆพรรคก็คงเข้ามาร่วมได้ง่าย แต่อีกด้านหนึ่ง พรรคก้าวไกลก็ต้องระวังด้วยว่า การไม่แก้มาตรา 112 อาจจะส่งผลเสียในระยะยาวด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณืพลิกว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล จะกลายเป็นคุณประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งหน้ามากขึ้น ชนิดว่าอาจจะแลนด์สไลด์เลยก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ต้องรอดู กกต.ด้วยว่า จะรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เพราะอาจจะมีการให้ใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม จนจำนวน ส.ส.ที่ประเมินกันตอนนี้อาจมีการขยับขึ้นลงก็ได้
@ยกอังกฤษเคยขอโหวตข้ามขั้วอุดมการณ์ แต่ในไทยน่าจะยาก
เมื่อถามถึงข้อเสนอที่ให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้โหวตนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีคะแนนเสียงปิดสวิตซ์ส.ว.นั้น ศ.ดร.ไชยันต์กล่าวว่า ในประเทศอังกฤษ เคยมีกรณีใกล้เคียงกันเกิดขึ้น หากหลังการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดได้ ส.ส. เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องไปรวมเสียงจากพรรคที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน
หากคะแนนเสียงยังไม่พอครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรอีก ก็อาจจะขอให้ ส.ส.จากอีกขั้วอุดมการณ์ช่วยโหวตเพิ่มคะแนนเสียงให้เกินครึ่งหนึ่ง เพื่อรักษาสภาผู้แทนราษฎรไว้ แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ตาม แม้กรณีของประเทศอังกฤษไม่มี ส.ว.ร่วมโหวตแบบประเทศเรา แต่น่าจะเทียบเคียงกันได้
หากตัดกลับมาในประเทศไทย อ.ไชยันต์มองว่า ก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ที่ ส.ส.อีกขั้วอุดมการณ์จะโหวตให้ เพราะในการเมืองไทยไม่เคยมีการโหวตให้ฟรีๆ แม้จะอ้างว่าเป็นการแสดงสปิริตก็ตาม
“สิ่งที่ก้าวไกลขอตอนนี้ เป็นการทำให้ ส.ส.เป็นอิสระจาก ส.ว. ก็ขอครั้งหนึ่งว่า แม้จะเห็นต่างในนโยบาย แต่เราคือ ส.ส.ที่มาจากประชาชน ถามว่า 376 จากส.ส.ตามหลักการสวยงามอยู่แล้ว แต่คิดว่า ถ้าพรรคก้าวไกลไม่เอ็กซ์ตรีมสุดขั้วทางนโยบายแบบวันนี้ จะขอกันง่ายกว่านี้ เพราะคุณเป็นแกะขาวในหมู่แกะดำหรือเป็นแกะดำในหมู่แกะขาว แล้วแต่มุมมอง เขา (พรรคร่วมรัฐบาลเดิม) ก็ไม่ให้ ไม่โหวตให้ใครฟรีๆ แต่คราวนี้แม้จะอ้างว่ามีศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังมีพรรคการเมืองที่กลืนไม่ลงถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล พรรคก้าวไกลจึงต้องมีอะไรไปแลกด้วย” ศ.ดร.ไชยันต์กล่าว
@จับตาเดตล็อก ปมโหวตนายกฯในบัญชีไม่ได้ รธน.60ไม่มีบอกต้องทำยังไง
อ.ไชยันต์ชวนมองภาพวันโหวตนายกรัฐมนตรีว่า แม้ตอนนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมจะดัน นายพิธาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในการโหวต แต่ก็อาจจะมีสมาชิก ส.ส. บางคนจากขั้วใดก็ตามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทยก็ได้เหมือนกรณีการโหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2551 ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ พล.ต.อ.ประชา พรมนอก ซึ่งตอนนั้นอยู่พรรคเพื่อแผ่นดินแข่งขันเลย และเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันเดียว ส่วน ส.ว.ก็น่าจะได้รับสัญญาณบางอย่างมาบ้างแล้ว
ส่วนการใช้ช่องตามมาตรา 272 วรรคสอง เพื่อไขกุญแจโหวตนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ต้องอยู่บนสมมติฐานว่า โหวตนายกรัฐมนตรีไม่ถึง 376 เสียงสักที ก็อาจจะรวบรวมรายชื่อ ส.ส. 250 คน ยื่นไปที่ ส.ว. เพื่อเปิดประชุม 2 สภา การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกจะต้องรวบรวมรายชื่อ ส.ส.และส.ว.ให้ได้ 2 ใน 3 หรือประมาณ 500 คน เปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ แต่ก็ต้องมาลงคะแนนเสียงให้ได้ 376 เสียงอยู่ดี
แต่หากรวมชื่อไม่ได้ 500 เสียงก็ยังเลือกคนนอกไม่ได้ ถ้ากลับมาเลือกในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อ ถ้าได้ก็จบ แต่ถ้าไม่ได้จะมีปัญหาตามมา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้ระบุว่า หากหานายกรัฐมนตรีไม่ได้ต้องทำอย่างไร แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ระบุว่า ภายใน 30 วันต้องเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ แต่หากพ้น 30 วันยังไม่ได้ ในระยะเวลาอีก 15 วันต่อมา ประธานรัฐสภาจะต้องเอาชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
โดยในรัฐธรรมนญ 2560 ระบุถึงกรณีไม่มีมาตราใดใช้บังคับ ตามมาตรา 5 วรรคสองเพียงว่า ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อย่างไรก็ตาม อ.ไชยันต์ทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้และทั้งนั้น ต้องรอดูการรับรองผลการเลือกตั้งจาก กกต.และสถานการณ์ ณ วันที่เปิดสภา โหวตนายกฯในอีก 3 เดือนข้างหน้า
เพราะ 'การเมือง' อะไรก็เกิดขึ้นได้!