"...นับเวลาพล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาแล้ว 9 ปี คือ 5 ปีแรก คสช. รวมกับ 4 ปีในยุครัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ แล้วยังจะไปต่อ จึงน่าจะไม่เกี่ยวกับกรณีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม...แต่เป็นกระแส ‘เบื่อลุง’ เบื่อ คสช.สืบทอดอำนาจ..."
ประเทศไทยผ่านพ้นการเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 มาแล้ว
ณ ตอนนี้ แม้ยังอยู่ระหว่างรอการประกาศผลการเลือกตั้งจาก กกต. อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีกรอบเวลา 60 วัน โดยเทียบเป็นวันเวลา คือ 13 ก.ค. 2566 นี้
แต่ที่รับรู้กันทั่วไป คือ พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 โกยเก้าอี้ ส.ส. 152 ที่นั่ง ได้อาญาสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล
สร้างความประหลาดใจให้กับหลาย ๆ คน เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีใครคาดคิดว่า พรรคน้องใหม่ไฟแรงสูงจะโกยคะแนน ส.ส. นำลิ่วมาเป็นอันดับ 1 ขนาดนี้ ชนิดที่ล้มบ้านใหญ่ในหลายจังหวัด
สร้างปรากฎการณ์ฟีเวอร์ในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคที่เรียกตัวเองว่า ‘ด้อมส้ม’
สำทับปรากฏการณ์นี้ด้วยการวิเคราะห์หลังเกมจากนักวิชาการสายรัฐศาสตร์มากมายที่มองว่า การที่พรรคก้าวไกลมาวินขนาดนี้ กำลังจะเป็นอวสานของฝั่งอนุรักษ์นิยมหรือไม่?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พาไปหาคำตอบนี้ ถึงคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยกับ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาคววิชาปกครอง
@เบื่อลุง เป็นเหตุเทคะแนน ก้าวไกล
อ.ไชยันต์ เริ่มต้นว่า การได้รับคะแนนเสียงของพรรคก้าวไกล ยังมองไม่ชัดเจนว่า สะท้อนถึงอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมของประเทศนี้จะแผ่วลงไป แต่ด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนานตั้งแต่ปี 2557 ครั้งแรกเป็นมาแล้ว 5 ปีในนามนายกฯ จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้วตัดสินใจเล่นการเมืองต่อ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่มีผู้ทำรัฐประหารคนใดทอดเวลาขนาดนี้
ในอดีตผู้ทำรัฐประหารที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดคือ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร 2 ครั้ง ในปี 2500 ครั้งหนึ่ง และปี 2501 อีกครั้งหนึ่ง และทำการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2502 และสุดท้ายจอมพลสฤษดิ์มาเสียชีวิตในปี 2506 นับเวลาแล้วครองอำนาจมา 5 ปี หลังจากนั้นก็ต่อมากับยุคจอมพลถนอม กิตติขจรอีก 6 ปี รวมๆคณะรัฐประหารตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์มาถึงจอมพลถนอมครองอำนาจถึง 11 ปี
แต่ตอนนั้นประชาชนยังไม่ตื่นตัวเทียบกับยุคพล.อ.ประยุทธ์
ดังนั้น ภายใต้บริบทปัจจุบันที่ผู้คนตื่นตัวทางการเมือง การที่พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจรอบแรกถึง 5 ปี โดยไม่มีการเลือกตั้งจึงถือว่ายาวนานมาก
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
ตัดมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อจบ 5 ปีแรกในยุค คสช.แล้วตัดสินใจไปต่อในปี 2562 แถมไปดึงเอานักการเมืองที่เคยปรามาสว่า มีการทุจริต ไม่มีอุดมการณ์ มาฟอร์มตั้งพรรคพลังประชารัฐ ก็เริ่มทำให้ผู้คนกังขา
ประกอบกับกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีข้อครหาเรื่องนาฬิกาเพื่อน โดยพล.อ.ประยุทธ์ไปแบกรับข้อครหานี้ไว้ และในช่วงปลายสมัย มีประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีด้วย ซึ่งสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ ไปต่อได้
แต่นับเวลาพล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาแล้ว 9 ปี คือ 5 ปีแรก คสช. รวมกับ 4 ปีในยุครัฐพรรคพลังประชารัฐ แล้วยังจะไปต่อ จึงน่าจะไม่เกี่ยวกับกรณีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม
แต่เป็นกระแส ‘เบื่อลุง’ เบื่อ คสช.สืบทอดอำนาจ
ทีนี้ เมื่อประชาชนส่วนมาก ‘เบื่อลุง’ แล้วจะหันไปเลือกใคร? พรรคเพื่อไทย ก็มีกระแสข่าวจับมือกับพล.อ.ประวิตร แถมพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ไม่ได้ออกมาประกาศว่าจะไม่เอา มันมีความไม่ชัดเจน พอพรรคก้าวไกลประกาศชัดเจน จริงๆ ก็สั่งสมมาตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่ก็ชัดเจนมาก่อนแล้ว
ทั้งนี้ อ.ไชยันต์มีหมายเหตุระหว่างบรรทัดว่า นอกจากการที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเทมาหาก้าวไกลแล้ว จะต้องดูคะแนนจำพวกโหวตโน หรือไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครด้วยว่า มีมากน้อยแค่ไหน เพราะก็สามารถสะท้อนได้อีกเช่นกันว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม อาจไม่เลือกใครเลยก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม รวมๆแล้วก็ลองคิดดูว่ากระแสเบื่อลุงสั่งสมมานานแค่ไหน ต่อให้ทำงานดี คนก็ไม่เอา ยิ่งมีบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตนายกรัฐมนตรีได้ ก็ยิ่งเห็นภาพ ดังนั้น ถ้าพูดว่าเป็นการปฏิเสธ ‘อำนาจนิยม’ พอพูดได้ แต่ไม่ใช่การปฏิเสธ ‘อนุรักษ์นิยม’
“เปรียบเทียบกับการเมืองอังกฤษ พรรคอนุรักษ์นิยมของมาร์กาเรต แทตเชอร์ (อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ) ขึ้นมา 2 สมัย ต่อด้วยเซอร์ จอห์น เมเจอร์ (อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ) ก็เป็นคอนเซอร์เวทีฟ รวมๆ 2 คนอยู่มา 17-18 ปีนะ คือต่อให้มีผลงานยังไง ถ้าอยู่มานาน ถึงวันหนึ่งคนก็เบื่อ” ศ.ดร.ไชยันต์กล่าว
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ร่วมกิจกรรมรวมพลังพิทักษ์ราชัน เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 63
ที่มาภาพ: แนวหน้าออนไลน์
@ มีความสามารถในการใช้สื่อออนไลน์-อัลกอริทึ่ม
ศ.ดร.ไชยันต์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลมีความสามารถในการใช้สื่อออนไลน์และอัลกอริทึ่มของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ สอดคล้องกับพฤติกรรมปัจจุบันของผู้บริโภคที่นิยมเฉพาะคอนเทนต์ที่ตัวเองชอบจนกลายเป็น Echo Chamber ด้วย ประกอบกับบรรดาเซเลบ เน็ตไอดอล และดารา ที่ต้องตอบโจทย์กระแสสังคม
ดังนั้น เมื่อกระแสของพรรคก้าวไกลมา จึงต้องปรับตัวตาม เห็นได้จากการที่เซเลเบอร์ตี้หลายท่านโพสต์ภาพที่มีการใส่เครื่องแต่งกายสีส้ม ส่วนกลุ่มที่ไม่เอาพรรคก้าวไกลก็ต้องอยู่เงียบๆ ไม่เช่นนั้น อาจจะกระแสตกได้
บทสนทนา "อิศรา" ถาม "อาจารย์ไชยันต์" ตอบ ยังไม่จบ ยังมีแง่มุมเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลของ พรรคก้าวไกล ด้วย
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป