"...ไม่ว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมือง 6 พรรค คือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม รวมจำนวนเสียง ส.ส. 308 เสียง จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้าม คือ นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองทั้ง 6 พรรค เคยประกาศไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ว่ามีอะไรบ้าง? จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ..."
"ได้โทรศัพท์ติดต่อแกนนำ 5 พรรคการเมือง ซึ่งพรรคเพื่อไทย ผมเองได้โทรหา "แพทองธาร ชินวัตร" และยินดีกับแพทองธาร"
"นอกจากนี้ ได้เชิญชวนในการจัดตั้งรัฐบาลกับก้าวไกล ประกอบด้วย อีก 5 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย และเสรีรวมไทย รวม 308 เสียง กำลังติดต่อพรรคเป็นธรรมให้รวมได้ 309 เสียง ถือว่าเพียงพอตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก และปิดประตูการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย"
คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ที่แถลงต่อสาธารณชนเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา
หลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏชัดเจนว่า พรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ได้จำนวนตัวเลข ส.ส.แบ่งเขต 113 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง รวมได้ส.ส. 152 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทย ได้ตัวเลข ส.ส.แบ่งเขตอยู่ที่ 112 ที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อ 29 ที่นั่ง รวม 141 ที่นั่ง ส่วนพรรคที่ได้อันดับ 3 คือ พรรคภูมิใจไทย ส.ส.แบ่งเขตอยู่ที่ 67 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 ที่นั่ง รวม 70 ที่นั่ง เป็นต้น (ดูรายละเอียดในอินโฟกราฟิกประกอบ)
บทบาทหน้าที่ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคก้าวไกล จึงเป็นไปอย่างชอบธรรม ตามครรลองกระบวนการระบอบประชาธิปไตย
แต่ไม่ว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมือง 6 พรรค คือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม รวมจำนวนเสียง ส.ส. 308 เสียง จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?
แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้าม คือ นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองทั้ง 6 พรรค เคยประกาศไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ว่ามีอะไรบ้าง? จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวมรวมข้อมูล นโยบายหาเสียง ของ 6 พรรคการเมือง ที่แจ้งไว้ต่อ กกต. มานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง
@ พรรคก้าวไกล
ในช่วงการหาเสียงการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลนำเสนอนโยบายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยนโยบายที่ประชาชนให้ความสนใจ เช่น นโยบายรัฐสวัสดิการ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร นโยบายพรรคก้าวไกลที่จะทำภายใน 100 วัน จาก 300 นโยบายของพรรค เป็นต้น พร้อมแสดงจุดยืนมีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา โดยการหาเสียงของพรรคก้าวไกลมักจะมีสโลแกนติดหู ได้แก่ กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม
มี 5 นโยบายน่าสนใจ ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก ดังนี้
- ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช้งบประมาณ 3 พันล้าน/ปี นโยบายข้างต้นยังมีรายละเอียดแยกเป็นนโยบายต่าง ๆ เช่น แก้รัฐธรรมนูญรื้อกลไกสืบทอดอำนาจ ขยายสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นต้น
- ปฏิรูปกองทัพ ใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้าน/ปี นโยบายข้างต้นยังมีรายละเอียดแยกเป็นนโยบายต่าง ๆ เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ยุบกอ.รมน. เป็นต้น
- คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ไม่ต้องใช้งบประมาณ นโยบายข้างต้นยังมีรายละเอียดแยกเป็นนโยบายต่าง ๆ เช่น แก้ไขป.อ.มาตรา 112 นิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีทางการเมือง เป็นต้น
- สวัสดิการ เกิด-เติบโต-ทำงาน-สูงอายุ-ทุกช่วงวัย ใช้งบประมาณ 7.49 แสนล้านบาท/ปี (รวมจากทุกนโยบาย ‘สวัสดิการ’ ) นโยบายข้างต้นยังมีรายละเอียดแยกเป็นนโยบายต่าง ๆ เช่น บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง ทำงานไม่เกิน 40 ชม./สัปดาห์ หากเกินต้องได้ OT เป็นต้น
- เลือกตั้งผู้บริหารจังหวัด ใช้งบประมาณ 3 พันล้าน/ปี นโยบายข้างต้นยังมีรายละเอียดแยกเป็นนโยบายต่าง ๆ เช่น เลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด เลือกตั้งนายกเขต ทุกเขตในกทม. เป็นต้น
ทั้งนี้พรรคก้าวไกลมีทั้งหมด 52 นโยบาย สามารถดูนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20230503213035.pdf
@ พรรคเพื่อไทย
ตลอดช่วงการหาที่ผ่านมาตั้งพรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายต่าง ๆ มากมาย แต่นโยบายที่คุ้นหูและติดตาจากป้ายหาเสียงมากที่สุด ได้แก่ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เงินเดือนจบปริญญาตรี 25,000 บาท และยังมี 2 นโยบายที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนสำคัญของพรรค น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน นำเสนอ คือ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักญภาพ และนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยสโลแกนหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ติดหู คือ เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ประเทศไทยเปลี่ยนทันที พร้อมกับแคมเปญหาเสียง คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทย ทุกคน
มี 5 นโยบายน่าสนใจ ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก ดังนี้
- ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ไม่ใช้วงเงินงบประมาณ
- เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ใช้การบริหารงบประมาณภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ
- 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ ใช้การบริหารราชการแผ่นดินปกติ
- อัพเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค ใช้การบริหารราชการปกติของภาครัฐ
- ปรับโครงสร้างและลดราคาพลังงาน ไม่ใช้วงเงินงบประมาณแต่เข้าไปจัดการที่โครงสร้างราคา
ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยมีทั้งหมด 70 นโยบาย สามารถดูนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20230424180052.pdf
@ พรรคเป็นธรรม
พรรคการเมืองใหม่ที่มี ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ เป็นหัวหน้าพรรค นายกัณวีร์ สืบแสง เป็นรองหัวหน้าพรรคและประธานยุทธศาสตร์พรรค นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล เลขาธิการพรรค และ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว เป็นที่ปรึกษา โดยพรรคนำเสนอ 3ป ที่ให้เอา 3ป เก่าให้ 3ป ใหม่เข้ามาแทน ซึ่ง 3ป ของพรรคเป็นธรรม คือ 'ประเทศ' ต้องเป็นใหญ่ 'ประชาชน' ต้องเป็นไท 'ประชาธิปไตย' ต้องเป็นธรรม
พื้นที่ยุทธศาสตร์ของพรรคเป็นธรรม คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีทั้งนโยบายสร้างสันติภาพในปาตานี, ยกเลิกกฎหมายพิเศษทุกฉบับที่ใช้ในปาตานี, แก้ไขกฎหมายความมั่นคง, ถอนทหารออกจากพื้นที่ปาตานี รวมถึง ยุบ ศอ.บต.และกอ.รมน.
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเป็นธรรม ไม่ได้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แต่ส่ง ส.ส.เขต 11 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9 คน ซึ่งจากผลการเลือกตั้งที่นับคะแนนไปแล้ว 99% แม้พรรคเป็นธรรมจะไม่ได้ ส.ส.เขต แต่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง
พรรคเป็นธรรม มีทั้งหมด 6 นโยบาย ได้แก่
- เบี้ยพัฒนาคุณภาพชีวิตตั้งแต่ครรภ์- 7 ขวบ ใช้งบประมาณ 1.7 แสนล้านบาท/ปี
- เรียนฟรีถ้วนหน้าถึงปริญญาเอก ใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท/ปี
- ล้างหนี้กยศ. ใช้งบประมาณ 3 แสนล้านบาท
- เบี้ยบำนาญถ้วนหน้าทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ เดือนละ 3,000 บาท ใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท/ปี
- น้ำประปาฟรี 300 บาท/ครัวเรือน ใช้งบประมาณ 12,000 พันล้านบาท/ปี
- ค่าไฟฟรี 300 บาท/ครัวเรือน ใช้งบประมาณ 12,000 พันล้านบาท/ปี
สามารถดูรายละเอียดนโยบายเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20230503212031.pdf
@ พรรคเสรีรวมไทย
หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่ชูนโยบายปราบทุจริตและยาเสพติดในการหาเสียงเป็นหลัก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นหัวหน้าพรรค โดยใช้สโลแกน เสรีมีไว้ลุย
ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเสรีรวมไทยได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน
มี 5 นโยบายน่าสนใจ ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก ดังนี้
- น้ำมัน ไฟฟ้า ราคาถูกสำหรับประชาชน ไม่มีวงเงินที่ต้องใช้
- เบี้ยผู้พิการ 3,000 บาท/เดือน ใช้งบประมาณ 7.56 หมื่นล้าน/ปี
- บำนาญประชาชนอายุ 65 ปีขึ้นไป 3,000 บาท/เดือน ใช้งบประมาณ 2.98 แสนล้าน/ปี
- ข้าราชการเกษียณอายุ 65 ปี ไม่มีวงเงินที่ต้องใช้
- เก็บอาวุธปืนจากประชาชน ใช้งบประมาณ 1.24 แสนล้านบาท
ทั้งนี้พรรคเสรีรวมไทยมีทั้งหมด 14 นโยบาย สามารถดูนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20230419175914.pdf
@ พรรคประชาชาติ
อีกหนึ่งพรรคที่เน้นการหาเสียงในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำเสนอการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาการคอร์รัปชัน และปัญหาอื่นๆ ซึ่งการจะแก้ปัญหาเหล่านั้นต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตย กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีความยุติธรรม และต้องปฏิรูปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนที่ดีขึ้น
ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาชาติได้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 9 คน
มี 5 นโยบายน่าสนใจ ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก ดังนี้
- รัฐสวัสดิการตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเสียชีวิต ใช้งบประมาณ 9.94 แสนล้าน (นโยบายรัฐสวัสดิการตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเสียชีวิต ยังมีรายละเอียดแยกเป็นนโยบายต่าง ๆ เช่น สวัสดิการ 3,000 บาท/เดือน สำหรับเด็กอายุ 8-15 ปี บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน เป็นต้น)
- ล้างหนี้กยศ. ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท
- แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน เกษตรกร ครู และข้าราชการ ใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท
- การแก้ปัญหาประมง ใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
- ส่งเสริมธุรกิจฮาลาล ใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ประชาชาติมีทั้งหมด 15 นโยบาย สามารถดูนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20230503212503.pdf
@ พรรคไทยสร้างไทย
พรรคนี้ มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้า เป็นอีกหนึ่งพรรคที่ตลอดช่วงการหาเสียง ส่งสมาชิกพรรคร่วมเวทีดีเบตการเมืองเกือบทุกเวที โดยในช่วงสุดท้ายของการหาเสียงใช้ป้ายหาเสียงที่มีข้อความ 'ไม่เอาลุง ไม่เอาความขัดแย้ง'
การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคไทยสร้างไทยได้ ส.ส. เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 6 คน
พรรคไทยสร้างไทย มีทั้งหมด 3 นโยบาย ได้แก่
- นโยบายการทำให้คนไทยทุกคนได้รับการดูแลที่ดีตั้งแต่เกิดจนแก่ ใช้งบประมาณ ประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท ทั้งนี้นโยบายข้างต้นยังมีรายละเอียดแยกย่อยเป็นนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายหวยบำเหน็จ นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น 30 บาทพลัส เป็นต้น
- นโยบายสร้างรายได้ให้ประเทศ ใช้งบประมาณ ประมาณ 2.35 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้นโยบายข้างต้นยังมีรายละเอียดแยกย่อยเป็นนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายสร้างรายได้จากพื้นฐานความเข้มแข็งเดิมของประเทศ นโยบายสร้างรายได้จากวิกฤตโลก เป็นต้น
- นโยบายเกษตรสร้างไทย เกษตรกรหายจน หมดหนี้ มีรายได้ยั่งยืน ใช้งบประมาณ ประมาณ 1.09 แสนล้านบาท ทั้งนี้นโยบายข้างต้นยังมีรายละเอียดแยกย่อยเป็นนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายการตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ นโยบายพัฒนาแหล่งน้ำแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน เป็นต้น
สามารถดูรายละเอียดนโยบายเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20230503213050.pdf
เหล่านี้ คือ นโยบายหาเสียงของ 6 พรรคการเมือง ที่กำลังอยู่ระหว่างการหารือต่อรองจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นอยู่ในขณะนี้ เมื่อผ่านกระบวนการจัดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ลืมดำเนินนโยบายตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
สุดท้ายแล้ว ผลเป็นอย่างไร คำสัญญาทำได้จริงหรือไม่?
ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด