เปิดข้อพึงระวังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.14 พ.ค.นี้ กกต.ย้ำ 'ห้ามขายเหล้า-เล่นพนัน-จัดรถขนคน-ขัดขวางเลือกตั้ง-ซื้อสิทธิขายเสียง-ถ่ายรูปบัตร้ลือกตั้ง-ฉีกบัตร' โทษสูงสุดคุก 1-10 ปี ตั้งรางวัลจับโกง 1 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้เผยแพร่เอกสารแจ้งเตือนเกี่ยวกับข้อพึงระวังของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งมีการระบุโทษความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หลายกรณี กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ปรากฎรายรายละเอียดดังนี้
1. ห้ามผู้ใดขาย จำหน่าย แจกจ่าย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยบทบัญญัตินี้ใช้บังคับกับวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย
2. ห้ามผู้ใดเล่นหรือจัดให้เล่นการพนันขันต่อเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้เล่น 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้จัดให้มีการเล่น
3. ห้ามผู้ใดเปิดเผย หรือเผยแพร่ผลสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนการเลือกตั้งในระหว่าง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการลงคะแนนการเลือกตั้ง (ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เวลา 17.00 น.) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ
ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
5. ห้ามผู้ใดดำเนินการหรือยินยอมให้มีการย้ายบุคคลใดเข้ามาในทะเบียนบ้านของตนเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
สำหรับข้อห้ามที่จะเป็นความผิดเกี่ยวกับการลงคะแนน ได้แก่
1. ห้ามผู้ใดกระทำการเพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้ หรือขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ หน่วยเลือกตั้ง หรือไม่ให้ไปถึง ณ ที่เลือกตั้งภายในเวลาที่จะออกเสียงลงคะแนน มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
2. ห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้งถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งไว้แล้ว หรือแสดงบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนไว้แล้วให้ผู้อื่นทราบ ว่าได้ลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีโทษจำคุกไม่เกิน1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนน มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ข้อห้ามที่จะเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ได้แก่
1. ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้วนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง หรือจงใจการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตไว้ที่บัตรเลือกตั้ง มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
2. ผู้ใดจงใจทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
กกต. ยังระบุถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องพึงระมัดระวังในการใส่เสื้อ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีสัญลักษณ์ โลโก้พรรคการเมือง หรือมีสีและหมายเลขพรรคการ เมือง ตลอดทั้งการโพสต์ข้อความ อับโหลดภาพหรือคลิปที่มีเนื้อหาเสียงให้พรรคการเมืองลงบนโซเชียลมีเดีย และการแจกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงบริเวณใกล้หน่วยเลือกตั้ง หรือที่อื่นๆ
ส่วนรางวัลแจ้งเหตุทุจริตเลือกตั้ง ที่กกต.ตั้งไว้รางวัลสูงสุดสูงถึง 1,000,000 บาท คือ
-ต้องชี้เบาะแสด้วยตนเอง
-ต้องชี้เบาะแสต่อพนักงานสืบสวนไต่สวน
-ต้องชี้เบาะแสที่ สนง.กกด. หรือ สนง.กกต.จว.
-ต้องแจ้งความประสงค์ขอรับเงินรางวัล
โดยข้อมูลต้องมีสาระสำคัญ และใช้ความสามารถในการแสวงหาข้อเท็จจริง
ขณะเดียวกันยังตั้งรางวัลแจ้งเหตุทุจริตเลือกตั้ง เป็นค่าข่าว 500 - 5,000 บาท เพื่อเป็นข้อมูลนำไปสู่การสอบสวนหรือไต่สวน โดยมีเงื่อนไขคือ
-ข่าวมีความสำคัญ
-ข่าวมีความชัดเจน
-ชี้เบาะแสด้วยตนเอง
-ใช้ความสามารถในการหาข่าว
-ไม่เป็นข้อมูลที่ทราบโดยทั่วไป
ทั้งนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป (ส.ส.) ในวันที่ 14 พ.ค.2566 นี้ กกต. ยังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยสำนักบริหารการทะเบียน ได้เปิดให้ประชาชนเข้า ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งหน่วยเลือกตั้งที่ไปลงคะแนน ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก แล้วกดปุ่มตรวจสอบ
คลิกที่นี่ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/