‘ประวิตร’ นำทีมเปิดนโยบายสร้างเมกะโปรเจ็กต์รถไฟทางคู่พ่วงมอเตอร์เวย์สาย ‘บึงกาฬ - สนามบินอู่ตะเภา’ พร้อมผุดนิคมอุตสาหกรรม-ท่าเรือบกใกล้เส้นทางด้วย ยืนยันมีงบประมาณเพียงพอลงทุนจากการดึงเม็ดเงินลงทุนของต่างประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 เมษายน 2566 ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร กรรมการบริหารพรรค ร่วมแถลงเปิดนโยบาย “อีสานประชารัฐ” พัฒนาภาคอีสานด้วยรถไฟทางคู่ บึงกาฬ-อู่ตะเภา
@ผุดทางคู่สายใหม่ บึงกาฬ - สนามบินอู่ตะเภา
โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค กล่าวว่า พรรคมีแนวคิดที่จะพัฒนาภาคอีสานและภาคตะวันออกไปพร้อมกัน โดยอาศัยรูปแบบการพัฒนารถไฟทางคู่ จาก จ.บึงกาฬ - ท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือมาบตาพุด – สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่ได้ 24 จังหวัด ในภาคอีสาน และภาคตะวันออก สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก(EEC) โดยโครงการพัฒนาเส้นทางทางรถไฟ จะผ่าน 13 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และยังเชื่อมต่อ 11 จังหวัดได้แก่ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีษะเกษ หนองคาย และหนองบัวลำภู ระยะทางรวมประมาณ 480 กม. โดยเราจะดำเนินโครงการทันที เมื่อได้เป็นแกนนำร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราสำรวจเส้นทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการดำเนินโครงการใหญ่ในภาคอีสาน จะเป็นจุดแรกที่เราทำก่อน จากนั้นจะทำภาคเหนือและใต้ต่อไป ซึ่งเป็นแนวคิดที่คิดจะทำกันมาหลายปีแล้ว อย่าเพิ่งไปคิดว่าโครงการ จะทำแล้วเสร็จพรุ่งนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ชาวอีสาน มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งการทำงบประมาณ ไม่ต้องห่วง ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง แต่ตนไม่ห่วง สามารถดำเนินการได้แน่นอน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า พรรคเราทำเพื่อคนอีสานโดยเฉพาะ จะได้มีงาน สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนอีสาน น้ำเขาก็น้อย การเกษตรก็มีข้อขัดข้องเยอะ คนอีสานออกมาทำงานต่างจังหวัดทั้งนั้น เราทำโครงการนี้เพื่อชาวอีสานโดยเฉพาะ อย่าเพิ่งถามถึงภาคอื่น เอาให้ภาคอีสานเจริญ โดยภาคอีสานมีทั้งหมด 133 เขต คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ
@แซะบางพรรคขอแต่แลนด์สไลด์
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค กล่าวว่า จะพัฒนาภาคอีสานให้ทันต่อโลก เนื่องจากดูแต่ละพรรคการเมืองแล้ว มีแต่ที่จะขอให้ชาวภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด และภาคตะวันออก 5 จังหวัด ขอแต่แลนด์สไลด์ แต่ไม่เคยเห็นพรรคการเมืองใดเลยที่คิดว่าจะพัฒนาภาคอีสานให้พ้นความยากจน หรือนำเงินลงทุนมหาศาลไปพัฒนา ซึ่งไม่มีเลย มีแต่ พปชร. ที่ให้ความสำคัญกับชาวอีสาน ตลอดระยะเวลาเกิน 20 ปี ภาคอีสานไม่ได้รับการพัฒนาใดๆ เลย
“หลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวอีสานได้รับการพัฒนาอย่างเชื่องช้า มีแต่คนไปขอให้แลนด์สไลด์ แต่ยังไม่เคยได้ยินพรรคใดที่ตั้งใจที่จะไปพัฒนาภาคอีสานเพื่อลูกหลานอยู่ดีกินดี เราจึงขอแรงใจทั้ง 133 เขตให้กับ พปชร. เพื่อพปชร.จะได้มีอำนาจในการมาพัฒนาภาคอีสาน และเรามั่นใจว่าชาวอีสานจะต้องเลือก พปชร.ทั้ง 133 เขต เพื่อให้ พปชร. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และใน 133 เสียง ที่เลือกเราเข้าไปในสภาจะไปยกมือสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี ผมยืนยันว่าโครงการเหล่านี้ทำจริง ทำทันที แต่เราจะต้องมีนายกฯเป็นคนที่จะใช้อำนาจผลักดันโครงการดีๆ เหล่านี้ได้”นายสันติ กล่าว
ดั้งนั้น พปชร.จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะก่อสร้างโครงการทางรถไฟรางคู่ จาก จ.บึงกาฬ ที่อยู่บนสุด ของอีสานวิ่งตรงลงมาผ่านภาคอีสานทางตะวันออกทั้งภาค มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเปิดโลกให้ชาวอีสาน
@ทางคู่ร่วมมอเตอ์เวย์ และนิคมอุตสาหกรรม
นายสันติ กล่าวว่า สำหรับรถไฟทางคู่แบบใหม่ที่เราจะทำนั้น จะมีรางขนาด 1.435 ม. มาตรฐานเดียวกับรถไฟความเร็วสูง จะมีการสร้างทางหลวงพิเศษ 8 ช่องจราจร ตลอดแนวเส้นทางรถไฟ มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ขนาด 20,000 ไร่ 6 แห่ง กว่า 6,000 โรงงาน โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมนำสมัย นอกจากนี้ จะมีการสร้างวิทยาลัยอาชีวะใกล้นิคมอุตสาหกรรม นิคมฯละ 2 แห่ง รวม 12 แห่ง เพื่อเตรียมแรงงานที่มีทักษะและคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือบก ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการขนส่งไปยังท่าเรือน้ำลึกที่ภาคตะวันออก
@คาดใช้งบจากการลงทุนของต่างประเทศ 4.5 ล้านล้าน
สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาโครงการนี้ โดยเฉพาะการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยการดึงดูดนักลงทุนมาจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งเป้าหมายไว้ คาดว่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศไทย 4.5 ล้านล้านบาท โดยรัฐจะเป็นผู้เวนคืนที่ดินที่ต้องใช้ในการพัฒนานิคมแต่ละนิคมประมาณ 2 หมื่นไร่ เพื่อรองรับโรงงานประมาณ 1 พันโรงงาน โดยแต่ละโรงงานจะใช้เงินลงทุนประมาณ 750 ล้านบาท ทั้งนี้ มีหลายประเทศสนใจที่จะมาตั้งนิคมอุตสาหกรรมและดึงโรงงานเข้ามาประมาณ 1 แห่ง อาทิ จีน และประเทศในยุโรปที่สนใจเข้ามาตั้งโรงงาน
อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. ได้กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ได้ยื่นนโยบายดังกล่าวต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว