‘แกนนำเพื่อไทย’ นำโดย ‘เศรษฐา-ชัยเกษม-ชลน่าน’ แจงยิบนโยบายแจกหมื่นบาทผ่าน E-Wallet ทำได้จริง ไล่ ‘ประยุทธ์’ ไปอ่านและทำความเข้าใจใหม่ก่อนวิจารณ์ พร้อมเข้าชี้แจง กกต.ถึงแหล่งที่มาของเงิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 เมษายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ปราศรัยโจมตีนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตของพรรคพท.ว่าเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศพังว่า
“ท่าน (พล.อ.ประยุทธ์) ก็มีความเห็นของท่านไป แต่อย่างที่ตนเคยเรียนว่า 8 ปีที่ผ่านมาประชาชนบอบช้ำเยอะ ประชาชนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ การหยอดน้ำข้าวต้มทีละ 1,000 หรือ 2,000 บาท มันไม่เกิดการกระตุ้น พี่น้องประชาชนต้องการการช่วยเหลือเยอะ ดังนั้นเงิน 10,000 บาทไม่ใช่ว่าเราไม่มีที่มาที่ไป การที่เราออกนโยบายนี้ เรามั่นใจว่าจะมีเงินกลับเข้าคลังได้ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล การจัดการงบประมาณปีหน้าซึ่งยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ หากพรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจ ให้เข้ามาเป็นรัฐบาล เราเชื่อว่าจะสามารถจัดการงบประมาณได้ถ้าเราสามารถรีดงบได้ประมาณ2 แสนล้านบาท” นายเศรษฐากล่าว
ด้านนายชัยเกษม กล่าวเสริมว่า ตนว่า พล.อ.ประยุทธ์ห่วง เพราะตัวพล.อ.ประยุทธ์สร้างหนี้ไว้มากมายมากกว่า ก็เลยห่วงว่าไม่สามารถกู้ได้ แต่พรรคเพื่อไทยคิดว่าไม่มีปัญหา ถ้านายกฯไม่สร้างหนี้ไว้มากมาย พรรคเพื่อไทยคงไม่ต้องคิดนโยบายที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าหลายประเทศที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลเกิดการล่มสลายมาแล้ว นายเศรษฐา กล่าวว่า คิดว่า พล.องประยุทธ์น่าจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พรรคจะทำคืออะไร แนะนำให้ไปอ่านแล้วทำความเข้าใจให้ดี
เมื่อถามว่าหนี้สาธารณะที่รัฐบาลนี้สร้างไว้ จะไม่เป็นปัญหาต่อพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า จะบอกอย่างนั้นก็ไม่เชิง ก็เป็นปัญหา แต่พรรคเราแก้ไขได้ พรรคอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหา
เมื่อถามถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พรรคเพื่อไทยทำเรื่องชี้แจงแหล่งที่มาของเงินในนโยบายดังกล่าว นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นธรรมดาอยู่แล้ว คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรครวมถึงฝ่ายกฎหมายกำลังเตรียมเอกสารอยู่ และยินดีที่จะไปชี้แจง
ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้ เสนอไปตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 ซึ่งการที่ประกาศนโยบายผ่านกรรมการบริหารและได้ยื่นต่อ กกต. ซึ่งเป็นเพียงรายละเอียดที่ กกต.ขอเพิ่มเติมว่าที่มาของแหล่งเงินระบุให้ชัดไปว่าจะมาจากที่ไหนอย่างไร ตรงนี้เป็นไปตามกฎหมาย ยินดีปฏิบัติตามนั้นอยู่แล้ว ไม่เป็นปัญหาอะไร ทั้งนี้ เขาไม่มีอำนาจอนุญาตหรืออนุมัติในเรื่องของนโยบาย เพียงแต่ กกต.ทำตามข้อกฎหมายว่าให้แจ้งให้เขาทราบเรื่องที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งกรอบใหญ่เราแจ้งไปแล้ว
ที่มา: ไทยโพสต์
ภาพ: พรรคเพื่อไทย