“..การเรียกร้องให้ “กองทัพ”เป็นผู้นำทำรัฐประหาร และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการประเทศจึงเกิดขึ้นเสมอ และต้องยอมรับว่าการรัฐประหารหลายครั้งในประวัติศาสตร์ เป็นทางออกที่ประชาชนจำนวนไม่น้อย เห็นว่าส่งผลดีต่อประเทศอย่างยุคสมัยของสมัย “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 มีนาคม 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ มีรายละเอียดดังนี้
ผมพูดไม่เก่ง แต่ใครที่ใกล้ชิดจะรับรู้ว่าผมรับฟังมากมาตลอด
ยิ่งในช่วงหลังซึ่งเป็นผลจากการระดมคนมีความรู้ความสามารถมากมายมาช่วยสร้าง “พรรคพลังประชารัฐ” ให้เป็นสถาบันการเมืองที่จะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงให้กับประเทศเรา ผมยิ่งตั้งใจรับฟังทุกคนทุกฝ่ายที่เข้ามาทำงานร่วมกัน
และการรับฟังนั้นเองที่ทำให้มองเห็นว่ามีหนทางเดียวเท่านั้นที่ประเทศเราจะก้าวพ้น “กับดัก”อันเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศนำพาประชาชนสู่ชีวิตที่ดีงาม
ผมขอเริ่มด้วยการเล่าให้ฟังว่า ผมเกิดในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นนายทหารระดับสูง เติบโตมาในสังคมคนในกองทัพ วัยเด็กผมเรียนและจบจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อย จปร.
เข้ารับราชการทหารและเติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 1 โดยเฉพาะในสังกัดกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือคนส่วนใหญ่รู้จักในนาม "ทหารเสือราชินี"
ลองคิดดูว่าคนๆหนึ่งที่ถูกหล่อหลอม และปลูกฝังมาด้วยสังคมแวดล้อม ระบบการศึกษา และหน้าที่การงานแบบผมนี้ จะมี “จิตวิญญาณ”แบบไหน
ความจงรักภักดีที่มีต่อ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นสภาวะที่ฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณของผม จนเป็นกระแสจิตที่ส่งให้ทุกคนสัมผัสถึงและรับรู้ได้โดยไม่ต้องเอ่ยอ้าง ชีวิตผมดำเนินอยู่ด้วยจิตวิญญาณนี้ตลอดมา และแน่นอนว่าจะตลอดไป
และเพราะผมถูกหล่อหลอมชีวิตขึ้นมาด้วยความเป็น “ทหารอาชีพ” จาก “ทหารชั้นผู้น้อย” ค่อย ๆ เติบโตมาจนเป็น “ผู้บัญชาการกองทัพ”
ผมจะเล่าถึงการเฝ้ามอง รับรู้ และครุ่นคิดถึงความเป็นไปของประเทศชาติ โดยเฉพาะในมุมของการเมือง
เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา นิสัยอย่างหนึ่งของผมคือชอบอยู่ท่ามกลางญาติมิตร เพื่อนพ้องน้องพี่ ใครที่รู้จัก หรือใกล้ชิดกับผมจะรู้ว่า บ้านผมเป็นแหล่งรวมการใช้ชีวิตร่วมกันของพี่ของน้อง ของเพื่อนฝูงมาตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือตลอดมาจนกระทั่งทำงานรับใช้ราชการ ตั้งแต่เป็น “นายทหารชั้นผู้น้อย”จนเป็น “ผู้บัญชาการกองทัพ”ก็เป็นเช่นนั้นเสมอมา
เป็นที่พบปะ หารือ ช่วยเหลือเกื้อกูล มีอะไรก็แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดกัน ยิ่งเติบโตในตำแหน่งหน้าที่เครือข่ายแวดวงก็ขยายกว้างขึ้น ยิ่งมีบทบาทเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของประเทศยิ่งพบปะ สังสรรค์ เกี่ยวข้องกับผู้คนมากขึ้น
ชีวิตที่ดำเนินไปเช่นนี้ของผมทำให้ได้รับรู้ว่า ประเทศไทยของเรานั้นมีผู้ที่มีคุณค่าอยู่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จในการสร้างชีวิต ทั้งผู้มีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ผู้ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ ทั้งที่เป็นข้าราชการ และภาคเอกชนจากบริษัทห้างร้านต่างๆ
การใช้ชีวิตร่วมกัน เรียนรู้กันและกันทำให้ผมรับรู้ว่า ผู้มีความรู้ ความสามารถเหล่านี้ มีไม่น้อยเลยที่มีเจตนาดี และมีจิตใจที่พร้อมจะเสียสละมาทำงานเพื่อประเทศชาติ
หากรัฐสภาและรัฐบาลได้คนมีความรู้ความสามารถเหล่านี้เข้ามาร่วมงาน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำพาประเทศพัฒนาสู่ความเจริญรุ่งเรือง
แต่ที่เกิดขึ้นกับความเป็นไปของประเทศคือ โอกาสที่คนเหล่านี้จะได้เข้ามาร่วมทำงานให้กับประเทศนั้นมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีหนทางเลย
ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ปิดกั้นพวกเขา การแข่งขันทางการเมืองที่มุ่งเอาชนะคะคานสูงยิ่ง ทำให้ทุกคนที่คิดจะเข้ามาเสี่ยงกับการเป็นเป้าถูกโจมตี ทำลายล้าง
ความคิดที่จะเสียสละมาทำงานเพื่อชาติกลายเป็นเปิดทางให้ตัวเองถูกทำลาย
คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วเหล่านี้ ทำใจยอมรับความเสี่ยงจากการร่วมทำงานการเมืองกับนักการเมืองในวัฒนธรรมมุ่งทำลายเช่นนี้ไม่ได้
และแม้จะมีบางคนที่กล้าพอจะเข้ามา ทว่าวัฒนธรรมการเลือกตั้งของบ้านเรา ไม่เอื้อให้คนมีความสามารถเหล่านี้ได้รับชัยชนะ เนื่องจากไม่มีความสามารถในการหาคะแนนเท่ากับ “ผู้มีอาชีพนักการเมือง”ที่มีความเชี่ยวชาญในการหาวิธีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่า
คนมีความรู้ ความสามารถ และมีเจตนาดีต่อการพัฒนาประเทศเหล่านี้ แทบไม่เหลือโอกาสที่จะเข้ามาทำงานให้ประเทศในระบบที่อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้ง ตามที่ฝ่าย “ประชาธิปไตยเสรีนิยม”มุ่งมั่น กำหนด
จึงมีคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่าย “อนุรักษ์นิยม”ที่มองไม่เห็นหนทางอื่นที่จะนำผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมกันทำงานให้กับประเทศชาติ นอกจากการทำ “รัฐประหาร” ยึดอำนาจและเปิดโอกาสให้คนมีความรู้ ความสามารถ ด้วยการแต่งตั้งคนเหล่านี้เข้ามา
การเรียกร้องให้ “กองทัพ”เป็นผู้นำทำรัฐประหาร และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการประเทศจึงเกิดขึ้นเสมอ
และต้องยอมรับว่าการรัฐประหารหลายครั้งในประวัติศาสตร์ เป็นทางออกที่ประชาชนจำนวนไม่น้อย เห็นว่าส่งผลดีต่อประเทศอย่างยุคสมัยของสมัย “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”
นี่เป็นประสบการณ์ และมุมมองที่ทำให้ผมเข้าใจ เห็นใจ และพร้อมจะยืนอยู่ข้างความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ ของคนกลุ่มที่มีอิทธิพลและส่วนได้ส่วนเสียสูงกับความเป็นไปของประเทศ ของผู้มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีโอกาสแสดงบทบาท เพราะผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนได้ยากลำบาก จนเป็นที่น่าเสียดายเหล่านี้
แต่ก็นั่นแหละ นั่นเป็นประสบการณ์ช่วงรับราชการทหาร แต่หลังจากเข้ามาทำงานการเมือง ในฐานะรัฐมนตรี และจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ และเห็นความเป็นจริงครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะ นักการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามาเป็นคนอีกพวกหนึ่ง
ตลอดเกือบ 10 ปีของการทำงานในฐานะนักการเมือง จากร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนถึงมาร่วมสร้าง และเป็น “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ”
แม้ “จิตวิญญาณ” ผมยังมั่นคงกับ “สำนึกอนุรักษ์นิยม” แต่ความเข้าใจต่อความจำเป็นที่ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วย “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ได้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไปถึงความเข้าใจต่อความจำเป็นดังกล่าว
และบอกเล่าถึงความเชื่อมั่นของผมว่าจะประสาน “จิตวิญญาณอนุรักษ์นิยม”อันหนักแน่นของผม ให้เดินหน้าอย่างเข้าใจความจำเป็นของประเทศที่ต้องขับเคลื่อนด้วย “ประชาธิปไตย”ได้อย่างไร จะบอกต่อไป ให้ทุกคนมั่นใจว่า “ผมทำได้ และจะทำอย่างเต็มที่ หากได้รับโอกาส”
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี / หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ