“...คาดว่า ฝ่ายพลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสูงและจะเป็นยาวด้วย ส่วนอายุรัฐบาลจะสั้นหรือไม่ คาดว่าอย่างน้อยจะอยู่ได้เท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ คือ ประมาณปี 2568 หลังจากนั้น คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เพียงแค่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่ง ณ ตอนนั้นจะเป็นใครก็ได้…”
กงล้อแห่งเวลากำลังจะเคลื่อนปี 2565 เข้าสู่ปี 2566
สิ่งหนึ่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญในปี 2566 คือ วาระของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งหากยึดตามประกาศที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมไว้ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 102 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ
เบื้องต้น หากไม่มีการยุบสภาก่อน วันหย่อนบัตรกำหนดไว้ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 และวันเปิดรับสมัครในวันที่ 3-7 เมษายน 2566
แม้สัญญาณการยุบสภายังไม่ปรากฎ แต่ปี่กลองทางการเมืองเริ่มลั่นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความเคลื่อนไหวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ในที่สุดก็เปิดตัวลงชิงชัยเก้าอี้นายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา
จากความชัดเจนของพลเอกประยุทธ์ ส่งแรงกระเพื่อมตีเป็นระลอกคลื่นถึงบรรดาพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านที่มีพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ยืนจังก้า เผชิญหน้าในศึกการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เพื่อให้โฟกัสทางการเมืองชัดเจนยิ่งขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สนทนากับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ถึงฉากทัศน์ทางการเมืองและประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญในปีเถาะนี้
พลเอกประยุทธ์ พร้อมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ภาพจาก: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
@จับตายุบสภา เลือกตั้งเมื่อไหร่?
ดร.สติธร เริ่มต้นว่า สิ่งที่ต้องโฟกัสเป็นอันดับแรกคือ ‘การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่?’ซึ่งส่วนตัวประเมินว่า พลเอกประยุทธ์ จะยังไม่ยุบสภาเร็วๆนี้ ต้องรออีกอย่างน้อย 1 เดือนหลังผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 เพราะต้องรอดูการฟอร์มพรรครวมไทยสร้างชาติ อันเป็นพรรคใหม่ที่พลเอกประยุทธ์ จะเข้าไปสังกัดว่า จะมี ส.ส. หรือนักการเมืองใดบ้างที่จะตบเท้าเข้าพรรค เพื่อช่วยให้พลเอกประยุทธ์หวนคืนสู่ตึกไทยคู่ฟ้าได้
ดังนั้น ในเดือน ม.ค. 2566 ยังไม่เกิดการยุบสภาอย่างแน่นอน จะต้องไปจับตาดูอีกทีในเดือน ก.พ. 2566 เพราะน่าจะเป็นช่วงที่ ส.ส. ลาออกเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจจะได้รับสัญญาณการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีด้วยว่า จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะต้องไม่ลืมว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2561 (พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.) มาตรา 97 ระบุว่าการสมัคร ส.ส.จะต้องเป็นสมาชิกพรรค โดยกำหนดไว้ 2 กรณีคือ กรณีครบวาระส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง กับกรณียุบสภา ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ความชัดเจนดังกล่าว จะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.นี้
และโดยธรรมชาติของคนเป็นรัฐบาลย่อมต้องอยากอยู่สถานะรัฐบาลให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ อย่างรัฐบาลนี้หมดวาระในวันที่ 23 มี.ค. 2566 ก็สามารถไปยุบสภาเอาวันที่ 21-22 มี.ค. 2566 ก็ได้ หลังจากนั้นก็รักษาการไปอีก 45-60 วัน ซึ่งเท่ากับพลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯได้ยาวนานถึงครึ่งปี 2566
ส่วนอุปสรรคของกฎหมายลูก 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ…และร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.(ฉบับที่…) พ.ศ…น่าจะไม่มีอะไรที่ต้องกังวลแล้ว เพราะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็บอกไปแล้วว่า พลเอกประยุทธ์ได้นำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนี้จะอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน ตั้งแต่วันที่ทูลเกล้าฯไป ระหว่างนี้นักการเมืองยังต้องปฏิบัติตามกฎเหล็ก 180 วันของกกต. อยู่
ทั้งนี้ คาดว่าในระหว่างนี้ พลเอกประยุทธ์คงไม่ยุบสภา เพราะหากยุบสภาตอนที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังไม่ประกาศใช้ จะเกิดความยุ่งยากตามมา โดยหากยุบสภาในระหว่างที่รอโปรดเกล้าฯ จะต้องมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกำหนดกฎกติกาการเลือกตั้งไว้ก่อน และภายหลังจากได้รัฐบาลจะต้องนำ พ.ร.ก.นี้เสนอให้สภาเห็นชอบเป็น พระราชบัญญัติต่อไป แล้วถ้าหากมีการโปรดเกล้าฯ กฎหมายที่เสนอขึ้นไปลงมา จะทำให้มีปัญหายุ่งยากตามมาได้
และเมื่อกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ก็เป็นเหตุผลในการยุบสภาก็ได้ เหมือนช่วงที่รัฐธรรมนูญปี 2540 บังคับใช้ครั้งแรก รัฐบาลนายชวน หลีกภัยตอนนั้น ก็ยุบสภาโดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
@ประยุทธ์ชัด ทุกฝ่ายขยับ
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองตลอดปี 2565 ต้องยอมรับว่า บุคคลที่กลายเป็นจุดสนใจเดียวของข่าวคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เพราะช่วงครึ่งปีแรกก็วนเวียนอยู่กับประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีหรือยัง? เมื่อผ่านเรื่องดังกล่าวแล้ว ก็มาจับตากันอีกว่า พลเอกประยุทธ์จะแยกทางกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พี่ใหญ่ 3 ป.หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดพลเอกประยุทธ์ก็เลือกเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคตามคาดของสื่อหลายสำนัก
ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า การประกาศเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติของพลเอกประยุทธ์ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยในปีนี้ เพราะถ้ามองในมุมฝ่ายค้าน ก็จะสามารถแบ่งได้ชัดเจนว่า พลเอกประยุทธ์คือ ศัตรูหลักในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่วนพลเอกประวิตร เมื่อไม่มีพลเอกประยุทธ์แล้ว พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ก็มองว่าเป็นพันธมิตรกันได้ในอนาคต เพราะตัดเงื่อนไพลเอกประยุทธ์ไปแล้ว ส่วนพรรคก้าวไกล ก็ชัดเจนมานานแล้วว่า ไม่เอาทั้งพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร
ส่วนมุมมองพรรคร่วมรัฐบาล ก็ชัดเจนเหมือนกัน แต่ต้องประเมินให้ดีว่า เมื่อทั้งพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรแยกกันแล้ว การกลับมานั่งตึกไทยคู่ฟ้าของพลเอกประยุทธ์จะเป็นไปได้มากแค่ไหน แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของพลเอกประยุทธ์คือ ตลอด 4 ปีที่เป็นรัฐบาลเลือกตั้งไม่เคยล้วงลูกพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นใดนัก และทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยก็พอใจในจุดนี้ของพลเอกประยุทธ์พอสมควร อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ก็ต้องไว้ไมตรีกับทั้งสองคนไปก่อน
และมุมมองของแผงอำนาจ 2 ป. เมื่อชัดเจนว่าจะแยกกันแล้ว นักการเมืองรอบข้างของทั้งคู่ก็จะได้สังกัดได้ถูกว่าจะไปพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่การแตกกันครั้งนี้ไม่ใช่ความแตกแยก แต่เป็นการประเมินโอกาสในการเป็นรัฐบาลมากกว่า
ท้ายที่สุด ประเทศไทยในปีหน้า การเมืองจะแบ่งได้เป็น 2 ขั้วเหมือนปี 2562 อยู่ดี คือ ขั้วเอาพลเอกประยุทธ์ กับขั้วไม่เอาพลเอกประยุทธ์
@ประยุทธ์ ยังขายได้?
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่การเลือกทางเดินชีวิตให้พลเอกประยุทธ์อีกรอบ คำถามคือ แล้วพลเอกประยุทธ์เองยังไปได้อีกหรือไม่์ ดร.สติธร กล่าวว่า แม้ผลโพลในระยะหลังของหลายสำนัก คะแนนพลเอกประยุทธ์จะลดลงมาก แต่ถ้าสังเกตดีๆ พลเอกประยุทธ์ยังเป็นที่นิยมในภาคใต้และเขตกรุงเทพฯ ส่วนคะแนนที่ลดลงในภาคอื่นๆ เมือดูในรายละเอียดก็ยังประคองตัวเองในอันดับ 2-3 ไปได้ แสดงว่าคะแนนของพลเอกประยุทธ์ยังกระจายและไปได้อีก
และหากเทียบกับแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีในฝ่ายเดียวกัน เช่น พลเอกประวิตร, นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พลเอกประยุทธ์ก็ยังมีคะแนนนิยมเหนือกว่าทุกคน และยังไม่มีตัวแข่งใดด้วยในฝั่งนี้ ประชาชนเอาพลเอกประยุทธ์ไปชนกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยแล้วด้วยซ้ำ
หากมองในรายละเอียด กลุ่มคนที่ยังเลือกพลเอกประยุทธ์ส่วนใหญ่คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมไทย ซึ่งมีเงื่อนไขชัดเจนคือ ไม่เอาพรรคเพื่อไทย เพราะนายทักษิณ ชินวัตร และไม่เอาพรรคก้าวไกล ด้วยข้อหาที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอย่าได้ดูแคลนคนกลุ่มนี้ เพราะก็มีจำนวนไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม กระแสพลเอกประยุทธ์จะไม่ขึ้นสูงเหมือนปี 2562 โดยพลเอกประยุทธ์ ณ ปี 2562 นำพาพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงถึง 8 ล้านเสียง ซึ่งมาจากฐานของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยโหวตในปี 2554 กับการดูดนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นส.ส.พื้นที่บางส่วน
ภาพจาก: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
@รวมไทยสร้างชาติ ต้องชนะ พลังประชารัฐ เป็นอย่างน้อย
ขณะที่การเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ดร.สติธรมองว่า การลอยมาเป็นแคนดิเดทนายกฯ อย่างเดียวทำได้ยากแล้ว เพราะพรรคเป็นพรรคใหม่ ยังไม่แข็งแรงมาก พลเอกประยุทธ์ต้องเอาชื่อเสียงและหน้าตาตัวเองลงมาแบกพรรคด้วยการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อสร้างความมั่นใจให้นายทุนพรรคและท่อน้ำเลี้ยงต่างๆด้วย
ส่วนการที่จะมาเป็นประธานซูเปอร์บอร์ด ถือเป็นตำแหน่งที่กำหนดเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งก็เหมือนกับพรรคเพื่อไทยที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตรเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือพรรคภูมิใจไทยที่มีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นครูใหญ่ เพราะกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันโทษแรง และการไปเป็นกรรมการบริหารพรรคเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง
ส่วนการกำหนดเป้าหมายแค่ขอให้รับการเลือกตั้ง 25 เสียงเพื่อเสนอแคนดิเดทนายกฯนั้น มองว่า ไม่พอ เพราะจะซ้ำรอบรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่สุดท้ายก็ไม่สามารถบริหารอะไรได้ ต้องยุบสภาไป หากพรรครวมไทยสร้างชาติ จะแข็งแกร่งจริง อย่างน้อยต้องชนะพรรคพลังประชารัฐให้ได้ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง การใช้ ส.ว.ก็ไม่แน่นอน เพราะ ส.ว.ก็แบ่งฝักฝ่ายเป็นขั้วประยุทธ์ และขั้วประวิตรไปแล้ว
นอกจากปัจจัยพรรคการเมือง แล้ว อีกหนึ่งข้อที่เป็นระเบิดเวลาคือ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เริ่มนับวันที่ 6 เม.ย. 2560 ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นผลดีก็ได้ เพราะอาจจะใช้ต่อรองกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล เช่น กับพรรคภูมิใจไทยที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นแคนดิเดทนายกฯ หรือแม้แต่พลเอกประวิตร ในฐานะแคนดิเดทนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เองก็มีลุ้นเป็นนายกฯ
เมื่อถามว่า การลากไปอีก 4 ปีของพลเอกประยุทธ์ เป็นไปได้หรือไม่ ดร.สติธรมองว่า เป็นไปได้ แต่ในช่วงแรกก็ต้องทำทุกทางให้เป็นรัฐบาลก่อน แล้วค่อยไปหาทางทีหลัง แต่หากทำไม่ได้จริงๆ ก็ลงสวยๆได้
ภาพจาก: พรรคพลังประชารัฐ
@ประวิตร: จับมือ ‘ธรรมนัส’ ขับเคลื่อนการเมืองบ้านใหญ่
แม้ตัวแคนดิเดทนายกฯ อย่างพลเอกประยุทธ์ จะมีจุดเด่นมากกว่าใครเพื่อน แต่เมื่อหันมาดูพี่ใหญ่อย่างพลเอกประวิตร ก็ถือว่าไม่ธรรมดาและดูเบาไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่า เมื่อพลเอกประยุทธ์แยกไปแล้ว ก็จะทำให้ดึงตัว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับมาได้ไม่ยาก และต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในปี 2563 พลเอกประวิตรก็ใช้กลไกของพรรคพลังประชารัฐสนับสนุนผู้สมัครนายกอบจ.จนได้ไปหลายพื้นที่เหมือนกัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องให้เครดิตกับ ร.อ.ธรรมนัส ในการดึงบรรดาบ้านใหญ่ในพื้นที่ต่างๆมาอยู่ใต้ร่วมของพลเอกประวิตร ดังนั้น ในปี 2566 พลเอกประวิตรอาจจะใช้กลไกนักการเมืองบ้านใหญ่ในการดึงคะแนนเสียงได้ โดยไม่สนทั้งกระแสเอาประยุทธ์ หรือกระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย
เมื่อถามว่า พลังประชารัฐจะได้คะแนนน้อยลงหรือไม่ ดร.สติธรระบุว่า ยังประเมินไม่ได้ เพราะต้องดูว่า เมื่อพลเอกประวิตรดึง ร.อ.ธรรมนัสกลับมาแล้ว จะทำให้การขับเคลื่อนงานทา่งการเมืองทำได้ง่ายขึ้น และด้านหนึ่งเมื่อสลัดพลเอกประยุทธ์ออกไปแล้ว ความเป็นขั้วข้างก็น้อยลง นักการเมืองในพื้นที่จะถูกมองถูกเลือกมากขึ้น จากเดิมที่คนจะติดภาพพลเอกประยุทธ์มาก่อน และสามารถจับมือหลวมๆกับพรรคเพื่อไทยได้
นอกจากนั้น อีกมุมหนึ่ง พรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ตัดขาดกับพรรครวมไทยสร้างชาติที่พลเอกประยุทธ์ไปอยู่ด้วย โดย มองว่า อาจจะใช้โมเดลเดียวกันกับพรรคภูมิใจไทย คือเป็นพรรคตัวแปรในการจับขั้วรัฐบาลแทน ซึ่งประเมินกันว่า น่าจะได้คะแนนเสียงประมาณ 40-50 เสียง
ภาพจาก: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
@ภูมิใจไทย: ตัวนำสลายขั้ว นำสู่รัฐบาลแห่งชาติ?
อีก 1 พรรคที่ไม่พูดถึงก็ไม่ได้คือ พรรคภูมิใจไทยที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในฐานะครูใหญ่ ดร.สติธรมองว่า การให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดของนายเนวินกับ ThaiPBS ประเด็นสำคัญไม่ใชการตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการพยายาม ‘สลายขั้วทางการเมือง’
มีทฤษฎีที่เป็นไปได้คือ ขณะนี้มีฝ่ายสุดโต่ง 2 ฝ่าย ฝ่ายขวาจัด เอาพลเอกประยุทธ์คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ อีกฝั่ง ซ้ายจัด ปฏิรูปโครงสร้างประเทศคือ พรรคก้าวไกล ก็ผลักทั้งสองพรรคไปเป็นพรรคค้าน แล้วบรรดาพรรคที่ไม่ได้มีอุดมการณ์ชัดเจนที่เหลือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ก็มาจับขั้วเป็นรัฐบาลกัน ซึ่งไม่ต้องพึงส.ว. 250 คน
สมมติว่า เพื่อไทยได้ 200 เสียง, ภูมิใจไทย 100 เสียง, พลังประชารัฐ 40 เสียง และประชาธิปัตย์อีก 40 เสียง รวมกัน 380 เสียง ก็สามารถคว่ำเสียง ส.ว. 250 เสียงได้ ส่วนใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เจรจากันได้อยู่แล้ว
ส่วนท่าทีตอนนี้ก็ทำดีกับทั้งสองฝ่าย ด้านหนึ่งก็ดีกับพลเอกประยุทธ์ อีกมุมหนึ่งก็ไม่ตอบโต้พรรคเพื่อไทยมากนัก เมื่อถูกโจมตีในประเด็นต่างๆ ซึ่งปลายทางก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในอนาคต และในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็น่าจะได้คณะเสียงประมาณ 70-80 เสียง โดยคะแนนเสียงก็มาจาก ส.ส.เขตมากที่สุด ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้หวังมาก
@พรรคเล็ก ‘สมคิด-หญิงหน่อย’ มาแน่ แต่ไม่เกิน 5 เสียง/พรรค
ขณะที่บรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยที่แตกตัวออกไปจากทั้งสองขั้ว ที่เด่นๆอย่าง พรรคสร้างอนาคตไทย ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธู์ และพรรคชาติพัฒนากล้าของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายกรณ์ จาติกวนิชนั้น ประเมินว่าจะได้ 5 เสียง/พรรค
ส่วนพรรคท้องถิ่นอย่างพรรคชาติไทยพัฒนาของตระกูลศิลปอาชา ครั้งหน้าคงไม่ได้คะแนนเพิ่ม แต่ต้องสู้เพื่อรักษาฐานเดิมคือ จ.สุพรรณบุรี เพราะพื้นที่รอบๆก็ถูกพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และเพื่อไทย แย่งชิงไปมากแล้ว
@เพื่อไทย: ด้านหินแลนด์สไลด์
หลังจากวิเคราะห์พรรคร่วมรัฐบาลมานาน ก็ถึงเวลาต้องวิเคราะห์ฉากทัศน์ของฝ่ายค้านบ้าง เริ่มต้นที่พรรคเพื่อไทย ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยเคยแลนด์สไลด์มาแล้วในปี 2554 ซึ่งขอไม่นับการเลือกตั้งปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทยตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรก เพราะตอนนั้นกระแสความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่สูงมากเหมือนปัจจุบัน
โดยได้คะแนนเสียงไป 15 เสียงในแบบบัญชีรายชื่อ และอีกประมาณ 14 ล้านเสียงในการเลือกตั้งแบบเขต รวมได้ 265 ที่นั่ง จากแบ่งเขต 204 เขต และอีก 61 ที่นั่งจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ คำถามคือ จะแลนด์สไลด์แบบปี 2554 ได้หรือไม่?
เพราะจากที่ ส.ส.เขตจากผู้ลงคะแนนเสียง 14 ล้านคน ในปี 2562 มีผู้ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยรวม 7 ล้านคนเท่านั้น หายไปถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งคะแนนเสียงก็กระจายไปพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ รวมถึงบ้านใหญ่ที่ตามไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐด้วยจำนวนหนึ่ง
ส่วนกลยุทธ์การตั้ง ‘ครอบครัวเพื่อไทย’ จะดึงคะแนนเสียงจากไหนกลับมา? เพราะอย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งถัดไป บัตรเลือกตั้งกลับมามี 2 ใบแล้ว คาดว่าหมายเลขผู้สมัครเขตกับบัญชีรายชื่อ น่าจะไปในทางคนละเบอร์ ดังนัั้น หากเล่นกระแสแลนด์สไลด์มากๆ อาจจะทำให้คนในพื้นที่ที่มีเบอร์พรรคการเมือง คนละเบอร์กับเบอร์บัญชีรายชื่อสับสนและเลือกผิดได้
นอกจากนั้นแล้วในปี 2554 ยังมีกระแสของการเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่เพิ่งมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 บวกกับกระแสชู ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงร่วมด้วย แถมมือดีจับฉลากได้เบอร์ 1 คนจำง่ายอีก
แต่ในปี 2566 การชูนางสาวแพทองธาร ขึ้นมา ไม่ใหม่แล้ว เพราะประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเพศหญิงไปแล้ว ส่วนจะขายความเป็นครอบครัวชินวัตร ก็ไม่พีกเหมือนนางสาวยิ่งลักษณ์แล้ว ขณะที่นโยบายประชานิยมชนิด ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ ก็ขยับลำบาก เพราะมีกฎหมายห้ามคนนอกครอบงำพรรคแล้ว แถมไม่น่าสนใจ หรือน่าตื่นเต้นอีกแล้ว ปัจจัยด้านมวลชนที่เป็นคนเสื้อแดงก็กระจัดกระจายไปหมดแล้ว
ขณะที่ปัจจัยการเปิดตัวแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ตอนนี้น่าจะชัดเจนที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แต่หากไม่นำนางสาวแพทองธารมาลงแคนดิเดทนายกฯ จะทำให้กระแสพรรคลดลง ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน ยังขายไม่ออกในต่างจังหวัด จึงไม่เหมาะจะเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งรอบนี้ บทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร หรือโทนี่ น่าจะพอดึงกระแสของพรรคให้กลับมาได้บ้าง หลังจากปี 2562 ไปเดินเกมเสี่ยงเสนอชื่อแคนดิเดทนายกฯต้องห้าม จนทำให้พรรคซบเซาไป แต่ในรอบนี้ จะได้เห็นการออกมามีบทบาทอีกครั้งของนายทักษิณเหมือนการเลือกตั้งปี 2554
โดยรวมประเมินแล้ว พรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนมากสุด 180-190 ที่นั่ง
@ก้าวไกล: ลุ้นคะแนนเขต โกย New Voter
อีกพรรคฝ่ายค้านมาแรงอย่าง พรรคก้าวไกล ดร.สติธรมองว่า ในสนามกรุงเทพฯ ได้แน่ แต่จะเท่าไหร่อีกเรื่องหนึ่ง ตอนปี 2562 อาจจะเป็นเพราะพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ แต่ในการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในปี 2565 พิสูจน์แล้วว่า พรรคก้าวไกลทำงานการเมืองเชิงอุดมการณ์ได้ผลแล้ว เพราะมีคนเลือกด้วยตัวพรรค และชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลมีฐานในกรุงเทพฯแล้ว ซึ่งแยกกับฐานของพรรคเพื่อไทยด้วย ทั้งสองพรรคคะแนนจะตัดกันแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่วนใครจะชนะต้องไปดูกระแสของแต่พรรค ณ เวลานั้นว่า ใครมาแรงกว่ากัน
ซึ่งคะแนนเสียงของพรรค จะมาจากกลุ่มที่เป็น New Voter (เยาวชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกอายุต่ำกว่า 25 ปีลงมา) ประมาณ 70% ซึ่งในปี 2566 จะมีเยาวชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกรวม 3 ล้านคน พรรคก้าวไกล น่าจะได้อย่างน้อย 1.3-1.4 ล้านเสียงในกลุ่มนี้ ยังไม่รวมกับการเลือกตั้งรอบปี 2562 ที่มีกลุ่ม New Voter รวม 7 ล้านคนรอกาเลือกอีก
ส่วนในต่างจังหวัด พรรคก้าวไกล น่าจะเหนื่อย เพราะไม่มีฐานเสียง และการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ได้เฉพาะนายกระดับ อบต. และสมาชิกสภาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งเท่านั้น ซึ่งโอกาสลุ้นยังน้อยกว่ากรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มี ‘บ้านใหญ่’ ในพื้นที่ แต่ต้องจับตาบรรดา ‘บ้านรอง’ ในพื้นที่ที่อาจจะวิ่งเข้าพรรคก้าวไกล เพื่อใช้กระแสพรรคในการได้รับเลือกตั้งก็ได้ ซึ่งยังดูเบาพรรคก้าวไกลไม่ได้
กับกระแสข่าวที่ว่าพรรคจะลดเพดานการปฏิรูปโครงสร้างประเทศลง จะกระทบฐานเสียงพรรคหรือไม่นั้น ดร.สติธรมองว่า อาจจะเสียฐานไปบ้างในกลุ่มที่สุดโต่งทางการเมือง แต่จะได้กลุ่มที่ไม่เคลื่อนไหวในการทะลุเพดานสังคมกลับมาก็ได้ ทั้งนี้ คาดว่าพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงน้อยลงจากเดิม เพราะต้องไปลุ้นคะแนนเสียงระดับเขตว่า จะได้เท่าไหร่ จังหวัดที่มีบ้านใหญ่เข้มแข็งและพื้นที่ภาคใต้ที่เชียร์พลเอกประยุทธ์น่าจะยาก แต่บัญชีรายชื่อน่าจะได้ประมาณ 25 เสียง
@ประยุทธ์ มีโอกาสกลับมาสูง
ปิดท้าย ดร.สติธรขีดเส้นใต้ว่า หากมองข้ามช็อตการเลือกตั้งไปเลย ส่วนตัวคาดว่า ฝ่ายพลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสูงและจะเป็นยาวด้วย ส่วนอายุรัฐบาลจะสั้นหรือไม่ คาดว่าอย่างน้อยจะอยู่ได้เท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ คือ ประมาณปี 2568 หลังจากนั้น คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เพียงแค่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่ง ณ ตอนนั้นจะเป็นใครก็ได้
ส่วนฝ่ายค้าน ถ้าอยากจะเป็นรัฐบาลมีทางเลือกเดียวคือ ต้องข้ามมาจับตามือฝ่ายรัฐบาลในวันนี้ ด้วยสูตรสลายขั้วตามที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าไม่ทำก็เป็นฝ่ายค้านไป ถ้าอยากเป็นต้องยอมสลายขั้ว ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็ต้องยื่นเงื่อนไขไม่เอาพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ถึงเวลานั้นพรรคเพื่อไทยจะยอมหรือไม่?
…แต่ซีเนริโอนี้ ต้องดูคะแนนเสียงเลือกตั้งก่อนว่า แต่ละฝ่ายได้คะแนนเสียงเท่าไหร่ แล้วจึงไปวัดกันที่การจัดตั้งรัฐบาล