"...พรรคที่น่าเป็นห่วงในการเลือกตั้งครั้งถัดไป หนีไม่พ้น ‘ค่ายสะตอ’ ที่ตอนนี้ต้านทาน ‘พลังดูด’ จากพรรคอื่นไม่ไหว แกนนำระดับ ‘บิ๊กเนม’ ย้ายไปจำนวนมาก ที่สำคัญตัวลงสมัคร ส.ส.ครั้งหน้า ต่างเป็นเกรดบี-เกรดซี ทำให้อาจพ่ายแพ้ได้ นอกจากนี้ยังมีแรงกระเพื่อมภายใน คลื่นใต้น้ำจากแกนนำพรรคบางส่วน ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางบริหารงานของ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์’ หัวหน้าพรรค และ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เลขาธิการพรรค ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าอาจเกิดเหตุการณ์ ‘สูญพันธุ์’ หนักกว่าการเลือกตั้งปี 2562..."
สถานการณ์การเมืองกำลังร้อนแรงอย่างมาก ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่
แต่ละพรรคเตรียมตัวพุ่งรบในสมรภูมิครั้งหน้าอย่างเต็มที่ ใช้ทั้ง ‘กระสุน-กระแส’ ทยอยเปิดตัวนโยบาย-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เกือบครบทุกจังหวัด หมายมั่นปั้นมือชนะ จัดตั้งรัฐบาลหน้าเพื่อบริหารประเทศ
ท่ามกลางกระแสข่าวบางพรรค ‘แจกกล้วย’ ซื้อตัว ส.ส.กวาดต้อนเข้าเป็นขุมกำลังสู้ศึกเลือกตั้ง โดยไม่สนใจการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงโค้งสุดท้ายรัฐบาล ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ แล้ว
ข้อเท็จจริงเหล่านี้เห็นได้จากบรรดา ส.ส.สารพัดพรรค ทยอยไขก๊อก โยกย้ายไปสังกัดพรรคใหม่กันเต็มไปหมด เขย่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่คงเหลือจำนวนสมาชิกผู้ทรงเกียรติเพียงแค่ 439 รายเท่านั้น
โดย 3 ส.ส.ล่าสุดที่ลาออกจากตำแหน่ง คือ นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี 2 ส.ส.สังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เตรียมไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.)
ขณะที่นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เตรียมโยกย้ายไปพรรคชาติไทยพัฒนา
ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธ.ค. 2565 พบว่า มีจำนวน ส.ส.ลาออกไปแล้วจำนวน 39 ราย พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.จากคำพิพากษาของศาล จำนวน 14 ราย และถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 8 ราย คงเหลือจำนวน ส.ส. 439 ราย แบ่งได้ดังนี้
พรรคร่วมรัฐบาล 248 ราย ได้แก่
พรรคพลังประชารัฐ 83 ราย พรรคภูมิใจไทย 62 ราย พรรคประชาธิปัตย์ 51 ราย พรรคเศรษฐกิจไทย 14 ราย พรรคชาติไทยพัฒนา 12 ราย พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ราย พรรคพลังท้องถิ่นไทย 5 ราย พรรครวมพลัง 4 ราย พรรคชาติพัฒนา 3 ราย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ราย ที่เหลือเป็นพรรคเล็ก ส.ส. 6 ราย แบ่งเป็นพรรคละ 1 ราย ได้แก่ พรรครวมแผ่นดิน, พรรคเพื่อชาติไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่
พรรคฝ่ายค้าน รวม 192 ราย ได้แก่
พรรคเพื่อไทย 123 ราย พรรคก้าวไกล 45 ราย พรรคเสรีรวมไทย 10 ราย พรรคประชาชาติ 6 ราย พรรคเพื่อชาติ 6 ราย ที่เหลือเป็นพรรคเล็ก ส.ส. 2 ราย แบ่งเป็นพรรคละ 1 ราย ได้แก่ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์
จำนวน ส.ส.ที่ลาออก-พ้นสภาพ-ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ในสภาสมัยเดียวกันนี้ อาจจะติดโผมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ด้วยซ้ำ
ร้อนถึง ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องออกมาเปรยว่า “ความจริงแล้วปล่อยไปตามยถากรรมก็ทำได้ แต่ผมอยากให้พวกเราร่วมรับผิดชอบและช่วยกัน ผมจะเชิญประธานคณะกรรมาธิการแต่ละคณะมาขอความร่วมมือให้ช่วยกันพิจารณาและให้เวลาที่เหมาะสม ในที่สุดปัญหาที่เรากังวลก็จะจบ ดังนั้นขออย่ากังวลสถานการณ์ภายนอก ถ้าเรารักศักดิ์ศรีสภาเราต้องทำหน้าที่”
ส.ส.ส่วนใหญ่ที่มีการโยกย้ายตัวกันนั้น ส่วนใหญ่เป็น ‘อดีตคนกันเอง-คนเคยรัก’ กันมาเก่าก่อน บางคนเป็น ‘งูเห่า’ จากพรรคการเมืองหน้าใหม่ เพื่อหวังเติบโตบนเส้นทางการเมืองไทย
ใครเป็นใครกันบ้าง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปมาให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ เปิดชื่อ 34 ส.ส.โผซบพรรคภูมิใจไทย
ความเคลื่อนไหว ‘พลังดูด’ มากสุดหนีไม่พ้น ‘พรรคภูมิใจไทย’ นำโดย ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่ตอนนี้กำลัง ‘ขึ้นหม้อ’ มีบรรดา ส.ส.ต่อสายดีลขอเข้าร่วมพรรคจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นระดับ ‘บิ๊กเนม-บ้านใหญ่’ แทบทั้งสิ้น เช่น ในพื้นที่ กทม. นำโดย ‘จักรพันธ์ พรนิมิตร’ แกนนำมุ้ง กทม. พรรคพลังประชารัฐ จะร่วมกับ ‘บี’ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ พปชร.ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง นำทีมสู้ศึกเมืองหลวงในการเลือกตั้งครั้งหน้า นอกจากนี้ยังดูดซุ้ม ‘เมืองกาญจน์’ นำโดยตระกูล ‘โพธิพิพิธ’ จาก พปชร.มาอีก
ส่วนบรรดา ส.ส.อีสานตอนล่างใน จ.ศรีสะเกษ บ้านใหญ่ ‘ไตรสรณกุล’ ยังโยกย้ายจากพรรคเพื่อไทยมาล่มหัวจมท้ายกับ ‘ค่ายน้ำเงิน’ หลายราย รวมถึง ‘จักรพรรดิ ไชยศาสน์’ ลูกชาย ‘ประจวบ ไชย์ศาสน์’ แห่ง จ.อุดรธานี ด้วย ขณะที่ ส.ส. ‘งูเห่า’ จากพรรคก้าวไกล จำนวน 5 ราย พาเหรดมารายงานตัวอยู่กับพรรคภุมิใจไทยกันครบครัน หลังมานั่งทำงานในเก้าอี้สีน้ำเงินมานานแล้วตั้งแต่ในสภา
บรรดา ส.ส.ที่ย้ายซบพรรคภูมิใจไทย ตามที่มีรายงานจากสื่ออย่างน้อย 37 ราย ดังนี้
พรรคพลังประชารัฐ 13 ราย ได้แก่ 1.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร อดีตส.ส.กทม. 2.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ อดีตส.ส.กทม. 3.น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ อดีตส.ส.กทม. 4.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีตส.ส.ชัยนาท 5.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ อดีตส.ส.ชัยภูมิ 6.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ อดีตส.ส.นครปฐม 7.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ อดีตส.ส.เพชรบุรี 8.นายอนุชา น้อยวงศ์ อดีตส.ส.พิษณุโลก 9.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช อดีตส.ส.ลพบุรี 10.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ อดีตส.ส.กาญจนบุรี 11.นายอัฎฐพล โพธิพิพิธ อดีตส.ส.กาญจนบุรี 12.นายสุชาติ อุสาหะ อดีตส.ส.เพชรบุรี 13.พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ อดีตส.ส.กาญจนบุรี
พรรคเพื่อไทย จำนวน 8 ราย ได้แก่ 1.นายธีระ ไตรสรณกุล อดีตส.ส.ศรีสะเกษ 2.นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ อดีตส.ส.กทม. 3.นายนิยม ช่างพินิจ อดีตส.ส.พิษณุโลก 4.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น อดีตส.ส.อุดรธานี 5.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีตส.ส.นครนายก 6.นายสุชาติ ภิญโญ อดัตส.ส.นครราชสีมา 7.นายนพ ชีวานันท์ อดีตส.ส.พระนครศรีอยุธยา และ 8.นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ อดีตส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 2.นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย 3.นายพีรเดช คําสมุทร ส.ส.เชียงราย 4.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 2.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี 3.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จำนวน 1 ราย ได้แก่ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี
พรรคเพื่อชาติ จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคประชาภิวัฒน์ จำนวน 1 ราย ได้แก่ น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคชาติพัฒนา จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร
พรรครวมพลัง จำนวน 1 ราย ได้แก่ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
@ ลุ้น 40 ส.ส.ย้ายจาก พปชร.-ปชป.ซบ ‘รวมไทยสร้างชาติ’
ส่วนความเคลื่อนไหวจากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พรรคใหม่หมุดหมายปลายทางของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เริ่มมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ เดินเกมสลับตัวเอา ‘ดิสทัต โหตระกิตย์’ กุนซือกฎหมาย พ้นเก้าอี้เลขาธิการนายกฯ ไปนั่งที่ปรึกษาแทน ท่ามกลางกระแสเตรียมดึงตัว ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ จากที่ปรึกษานายกฯ มาเป็นเลขาธิการนายกฯ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมวงกินข้าว หารือทางการเมืองกับ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 40 ราย จากพรรค พปชร. และ ปช. โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในวงดังกล่าว ‘บิ๊กตู่’ เปรยสั้น ๆ ว่า “มาขนาดนี้แล้ว ชัดเจนแล้วหรือยัง”
สำหรับ ส.ส.ส่วนใหญ่ที่เตรียมย้ายซบพรรค รทสช. ล้วนมีพื้นเพมาจาก พปชร. และบรรดา ‘ส.ส.นกแล’ ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเข้าสภาเมื่อปี 2562 มาด้วยเพราะกระแส พล.อ.ประยุทธ์ เช่น สายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นต้น
อย่างไรก็ดียังคงไม่มีการเปิดตัว ส.ส.ที่ย้ายไปซบ รทสช.อย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 40 รายที่พร้อมจะเข้าร่วมกับพรรค ส่วนใหญ่มาจาก พปชร. และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
@ 34 ส.ส.ยังปักหลักอยู่ พปชร.
ส่วนสถานการณ์ใน พปชร.แม้จะระส่ำระส่ายอย่างหนัก ทั้งกรณี ‘บิ๊กตู่’ เปิดเกมกับ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แยกกันสร้างดาวคนละดวง ยังถูก ‘ภูมิใจไทย’ ดูด ส.ส.ระดับ ‘บิ๊กเนม-บ้านใหญ่’ ไปอีกกว่า 20 ราย แต่ยังคงมี ส.ส.เกรดเอหลายราย ยอมล่มหัวจมท้ายกับพรรคสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าต่อไป
ทั้ง ‘กลุ่มปากน้ำ’ นำโดยตระกูล ‘อัศวเหม’ มีนายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ คอยดูแลในสภา ส่วนนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม หัวหน้าซุ้มปากน้ำ คอยบัญชาการหลังม่าน อย่างไรก็ดีกลุ่มนี้ยังคงเดินเกม ‘2 หน้า’ เพราะส่ง ‘เพลง ชนม์ทิดา อัศวเหม’ บุตรสาวหัวแก้วหัวแหวน ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์’ ไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย
รวมถึง ‘กลุ่มเพชรบูรณ์’ ยังอยู่กับ พปชร. นำโดย ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ รมช.คลัง และ ‘กลุ่มกำแพงเพชร’ นำโดย ‘วราเทพ รัตนากร’ คอยบัญชาการหลังฉาก รวมถึง ‘กลุ่มโคราช’ โดยตระกูล ‘รัตนเศรษฐ’ ยังคงอยู่กับ พปชร.เช่นกัน
ส่วนบรรดา ส.ส.นกแลในพื้นที่ภาคใต้ มีอย่างน้อย 8 ราย ใน 5 จังหวัด ยังคงยืนยันปักหลักอยู่กับ ‘บิ๊กป้อม’ สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย
สำหรับ ส.ส.ที่ยังคงปักหลักอยู่กับ พปชร. มีอย่างน้อย 34 ราย ดังนี้
ส.ส.กลุ่มปากน้ำ 7 ราย ได้แก่ นายอัครวัฒน์ อัศวเหม นายยงยุทธ สุวรรณบุตร นางสาวภริม พูลเจริญ นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ และนายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส.ส. กลุ่มเพชรบูรณ์ 6 ราย ได้แก่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รมช.คลัง นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ นายจักรัตน์ พั้วช่วย นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ (ภริยานายสันติ) นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ นายเอี่ยม ทองใจสด
ส.ส. กลุ่มโคราช 5 ราย ได้แก่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่) นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม นางทัศนียา รัตนเศรษฐ (ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่) นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ (ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่)
ส.ส. กลุ่มกำแพงเพชร 3 ราย ได้แก่ นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ นายอนันต์ ผลอำนวย นายปริญญา ฤกษ์หร่าย
ส.ส. กลุ่มสระแก้ว 3 ราย ได้แก่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ นายฐานิสร์ เทียนทอง นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์
ส.ส.กลุ่มสิงห์บุรี 2 ราย ได้แก่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
กลุ่ม ส.ส.ใต้ 8 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช 3 ราย คือนายรงค์ บุญสวยขวัญ นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง และนายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จ.ภูเก็ต 2 รายคือ นายสุทา ประทีป ณ ถลาง และนายนัทธี ถิ่นสาคู จ.ตรัง 1 ราย คือนายนิพันธ์ ศิริธร จ.นราธิวาส 1 ราย คือ นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ จ.ยะลา 1 ราย คือนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
@ เพื่อไทย-ก้าวไกล
ข้ามฟากมาที่ขั้วฝ่ายค้าน นำโดย ‘พรรคเพื่อไทย’ ไม่หวั่นไหวเท่าไหร่นัก แม้จะมี ‘เลือดไหล’ ออกจากพรรรจำนวนหนึ่ง เพราะเตรียมตัว ส.ส.มาลงพื้นที่แทนไว้แล้ว นอกจากนี้ยังเชื่อกระแส ‘ชินวัตร’ จะนำพา ‘แลนด์สไลด์’ ได้ โดยเฉพาะสูตรเลือกตั้งหาร 100 และใช้บัตร 2 ใบ โดยเชื่อว่าจะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 ที่นั่ง
เช่นเดียวกับ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ตอนนี้แม้อ่อนกำลังลงไปมาก เนื่องจากขาด ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นตัวชูโรงเหมือนปี 2562 ทว่ากระแส ‘พ่อของฟ้า’ ยังคงพอขายได้ในพื้นที่ กทม.-เขตเมืองปริมณฑล ภาคกลาง ภาคอีสานบางจังหวัด โดยแกนนำพรรคบวกลบคูณหารคณิตศาสตร์การเมืองแล้วเชื่อว่าคงได้ไม่ต่ำกว่า 40-50 ที่นั่ง
@ ปชป.-สร้างอนาคตไทย ระส่ำระส่ายมากสุด
พรรคที่น่าเป็นห่วงในการเลือกตั้งครั้งถัดไป หนีไม่พ้น ‘ค่ายสะตอ’ ที่ตอนนี้ต้านทาน ‘พลังดูด’ จากพรรคอื่นไม่ไหว แกนนำระดับ ‘บิ๊กเนม’ ย้ายไปจำนวนมาก ที่สำคัญตัวลงสมัคร ส.ส.ครั้งหน้า ต่างเป็นเกรดบี-เกรดซี ทำให้อาจพ่ายแพ้ได้ นอกจากนี้ยังมีแรงกระเพื่อมภายใน คลื่นใต้น้ำจากแกนนำพรรคบางส่วน ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางบริหารงานของ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์’ หัวหน้าพรรค และ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เลขาธิการพรรค ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าอาจเกิดเหตุการณ์ ‘สูญพันธุ์’ หนักกว่าการเลือกตั้งปี 2562
ขณะที่พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) นำโดย ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ประธานพรรค และ 2 กุมาร ‘อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะสูตรหาร 100-บัตร 2 ใบ ไม่เอื้อประโยชน์กับพรรค นอกจากนี้ยังมีปัญหาภายในจากแกนนำพรรคบางรายแย่งชิงตำแหน่งแห่งที่กันในการบริหาร ส่วน ส.ส.บิ๊กเนม-เกรดเอ ไม่มาตามนัด ทำให้เหลือแค่ ส.ส.เกรดบี-เกรดซี เท่านั้น
ไม่ต่างกับพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) นำโดยเจ้าแม่เมืองหลวง ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ หัวหน้าพรค แม้จะมีตัวดีอยู่บ้าง แต่คาดว่าคงสู้กระแส ‘ชินวัตร’ ของเพื่อไทยยาก ความเป็นไปได้คงมีแค่ภาคอีสานบางจังหวัด และในพื้นที่ กทม.เท่านั้น
ทั้งหมดคือภาพรวมการโยกย้าย ส.ส.ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง ก่อนสภาครบวาระ 23 มี.ค. 2566 แต่นี่เป็นแค่การโหมโรงเบื้องต้นเท่านั้น คงต้องรอดูทีเด็ดทีขาดอีกหลายช็อต
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์