‘ก้าวไกล’ดันต่อ ‘ปฏิรูปกองทัพ-ศาล’ ชูยุบ กอ.รมน. - ควบรวม ‘กลาโหม-บก.กองทัพไทย’ ส่วนศาล ชี้ต้องมาจากการตัดเลือกของสภา และต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองนับย้อนปี 57
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 ตุลาคม 2565 พรรคก้าวไกล จัดงาน ‘ต้องก้าวไกล ให้การเมืองไทยก้าวหน้า’ เปิดตัวนโยบาย ‘9 ไทยก้าวหน้า’ โดยพรรคนำเสนอนโยบายทางการเมืองก่อน
เดินหน้า ปฏิรูปกองทัพ
นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะที่รับผิดชอบนโยบายปฏิรูปกองทัพ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว เพราะตั้งแต่พรรคอนาคตเปิดตัวในปี 2562 ก็ชูนโยบายปฏิรูปกองทัพมาโดยตลอด แต่น่าเสียดายที่เราเป็นพรรคฝ่ายค้าน ไม่สามารถผลักดันนโยบายให้ประชาชนได้ แต่พรรคได้สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว ทั้ง พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร ที่ถูกรัฐบาลปัดตก แต่สังคมก็เห็นความสำคัญแล้ว และปัจจุบันกองทัพบกก็เปิดสมัครทหารเกณฑ์ผ่านออนไลน์ มีการเพิ่มแรงจูงใจต่างๆ เพื่อลดกำลังการเกณฑ์ทหารแต่ละปีลง หรืองบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่สัญญาไว้ว่าจะลดให้ได้ 50,000 ล้านบาท แม้จะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็ทำให้รัฐบาลปรับลดงบลงมาต่อเนื่อง จากปี 2562 ที่ได้รับจัดสรร 227,000 ล้านบาท ในปี 2566 เหลือ 179,000 ล้านบาท หรือลดลงมา 33,000 ล้านบาท ใกล้เคียงเป้าหมายที่หาเสียงไว้
ยุบกอ.รมน. - ควบรวมบก.ทท.กับกระทรวงกลาโหม
พรรคก้าวไกล วางนโยบายการปฏิรูปกองทัพไว้ว่า เป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการอำนาจ คน และเงินหรือทรัพยากรให้เหมาะสม นำไปสู่การสร้างกองทัพที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายการปฏิรูร 5 ด้านประกอบด้วย
1. ทำให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ และกองทัพต้องหยุดแทรกแซงทางการเมืองโดยสิ้นเชิง และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นชอบของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยจะมีนโยบายรูปธรรม ประกอบด้วย
- แจกใบแดงให้กับนายพลห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างน้อย 7 ปีหลังจากออกจากราชการ เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงทางการเมือง โดยใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ในกองทัพ
- เปลี่ยนระบบบริหารจากการบังคับบัญชาเป็นแบบเสนาธิการร่วม กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาเพื่อการตัดสินใจต่างๆของทุกเหล่าทัพยึดโยงกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
- ตัดอำนาจที่อยู่สูงกว่าอำนาจของประชาชน คือ ยกเลิกสภากลาโหม
2. เอากิจการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรบ หรือการป้องกันชายแดนออกจากกิจการกองทัพ นโยบายดังกล่าวประกอบด้วย
- การยกเลิก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
- ยกเลิกการประกาศกฎอัยการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
- ปรับแก้ประกาศกฎอัยการศึก ให้ใช้ได้เฉพาะสถานการณ์ศึกสงครามเท่านั้น
3. ลดขนาดและกำลังพลของกองทัพ 30-40% และลดทหารเกณฑ์ให้สอดรับกับการทหารในรูปแบบใหม่ที่จะต้องทันสมัยมากขึ้น รวมถึงยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบสมัครใจ
- ปรับโครงสร้างกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) โดยให้มีการควบรวมกัน
4. เพิ่มความคุ้มครองทหารชั้นผู้น้อย 3 ด้าน สิทธิมนุษยชน สวัสดิการ และความก้าวหน้าทางอาชีพ นโยบายประกอบด้วย
- แก้ พ.ร.บ.วินัยทหาร
- รายได้โอนตรง ไม่หักไม่ทอน
- มีประกันชีวิต มีทุนให้ครอบครับในการประกอบอาชีพ และทุนการศึกษาให้ทายาทไปจนกว่าจะมีรายได้จุนเจือครอบครัว และพลทหารต้องมีประกันสังคม
- ทลายระบบเส้นสาย พิจารณาตามผลงาน ทหารชั้นประทวนเติบโตในชั้นสัญญาบัตร
- ยุติสิทธิพิเศษต่างๆ ของนายทหารระดับนายพล
5. คืนที่ดินกองทัพให้ประชาชน คืนธุรกิจให้รัฐบาล นโยบายประกอบด้วย
- โอนการถือครองที่ราชพัสดุคืนกรมธนารักษ์ นำไปจัดสรรประโยชน์ใหเประชาชน เน้นที่ดินใจกลางเมือง
- สิทธิและธุรกิจต่างๆที่กองทัพดำเนินการ เช่น สนามบิน สนามกอล์ฟ สนามมวย สนามม้า จะโอนกลับมาให้กระทรวงการคลังดูแล
- ไม่ตัดสวัสดิการต่างๆที่กองทัพเคยมี แต่ให้ทำเรื่องของตามระบบงบประมาณประจำปี
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ปฏิรูปศาล-ชูนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองนับแต่ปี 57
ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายสิทธิเสรีภาพ 4 เรื่อง ได้แก่
1. การเสนอชุดกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการลงพระปรมาภิไธย
2. การเสนอแก้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550, การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 116
3. แก้รัฐธรรมนูญ กำหนดที่มาของตุลาการศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมาจากการเห็นชอบแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร มีคณะกรรมการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ และมีกลไกให้ประชาชนทบทวนและถอดถอนผู้พิพากษาและตุลาการได้ รวมถึงต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วย และประเทศไทยจะต้องลงนามในธรรมนูญกรุงโรมสำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of. International Criminal Court) เพื่อป้องกันการเกิดอาชญกรรมกับประชาชน
และ 4. นิรโทษกรรมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง นับจากวันที่ 20 พ.ค. 2557 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประกาศใช้กฎอัยการศึก ไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ส่วนการพิจารณาผู้เข้าเกณฑ์จะมีคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากประชาชนและนักวิชาการ ซึ่งประชาชนมีสิทธิรับหรือไม่รับการนิรโทษกรรมได้ รวมถึงอาจจะไปเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ก็ได้แล้วแต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวเห็นสมควร
รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล