เปิดใจ ‘คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์’ ผ่านหนังสือ Thanksin Shinawatra Theory & Thought เล่าจุดเริ่มต้นการเมือง ‘ทักษิณ’ ด้วยความปิติ ก่อนจบชีวิตการเมืองปี 49 จากการรัฐประหาร ชี้ใช้ ‘ความนิ่ง’ สยบปัญหา ไม่ห่วง ‘อุ๊งอิ๊ง’ ลงสนามการเมือง หวังปลายทางชีวิตได้อยู่พร้อมหน้า ตายาย-ครอบครัว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2565 ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 จัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการเปิดตัวหนังสือ ‘Thaksin Shinnawatra Theory and Thought: ทักษิณ ชินวัตร หลักการและความคิด’ จัดพิมพ์โดย บริษัท เวิร์คส ครีเอทีฟ จำกัด วางขายในบูธพรรคเพื่อไทย (I39)
ไฮไลท์สำคัญในหนังสือเล่มดังกล่าว คือส่วนของการสัมภาษณ์พิเศษบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว ได้แก่ นายพานทองแท้ ชินวัตร, นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์, นางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวทั้ง 3 และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา โดยเฉพาะคุณหญิงพจมานที่ไม่ปรากฎในการให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งมากนัก
รับมือด้วยความนิ่ง
คุณหญิงพจมานเริ่มต้นบทสัมภาษณ์ในหัวข้อ ‘Thanksin’s Reflection’’ว่า การที่นายทักษิณเข้าสู่วงการการเมืองและได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ครอบครัวก็มีความดีใจ และคิดกันว่าคงทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ดี เพราะชีวิตของนายทักษิณก้ผ่านอะไรมาเยอะกว่าจะประสบความสำเร็จ ตอนนั้นก็คาดว่านายทักษิณน่าจะอยากใช้ความสามารถที่มี ทำประโยชน์ให้ประเทศ
ส่วนความท้าทายที่ตามมาเมื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ ส่วนตัวมองเห็นแต่ความกังวล เพราะแม่ของนายทักษิณ (ยินดี ชินวัตร) เคยเตือนไว้ว่า การมาทำงานการเมืองมีแต่จะเหน็ดเหนื่อย ถูกใส่ร้ายป้ายสี และอื่นอีกมากมาย แต่ที่เป็นห่วงกันมากคือ ปัญหาสุขภาพที่อาจจะตามมา เพราะนายทักษิณเป็นคนที่ทำอะไรจริงจัง ทำงานหนัก ความเครียดและความกดดันก็มีมาก
เมื่อถามถึงเรื่องที่ผูกพันมากที่สุดกับนายทักษิณ คุณหญิงพจมานตอบว่า ตนและนายทักษิณโตมาด้วยกัน เจอกันตั้งแต่ยังอายุ 15 ปี ส่วนนายทักษิณตอนนั้นอายุ 21 ปี ไปเรียนต่างประเทศด้วยกัน มาสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยกัน คิดและทำทุกอย่างด้วยกันหมด จึงผูกพันกันยาวนาน
ทักษิณ ชินวัตร (ขวา) และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (ซ้าย) เมื่อปี 2517 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภาพจาก Facebook: Ing Shinawatra
คุณหญิงพจมาน กล่าวต่อว่า ช่วงที่นายทักษิณถูกรัฐประหารในปี 2549 ตกใจที่สุด เพราะเป็นห่วงลูกๆ ว่าจะปลอดภัยอย่างไร และไม่รู้ด้วยว่า ความน่ากลัวของการรัฐประหารจะมาถึงครอบครัวหรือไม่ และจะเป็นอยู่กันอย่างไรต่อไป
“รับมือ (การรัฐประหาร 2549) ด้วยความนิ่ง และดูความปลอดภัยของลูกเป็นหลักในตอนนั้น ตอนที่ท่าน (ทักษิณ ชินวัตร) ตัดสินใจลี้ภัยก็เห็นด้วยที่จะให้ท่านอยู่เมืองนอกก่อน และให้ลูกๆช่วยคุยกับท่านว่า อย่าให้พ่อกลับมาไทย เพราะตอนนั้นท่านอยากกลับประเทศไทยอยากกลับมาสู้คดีเพราะคิดว่าท่านบริสุทธิ์” คุณหญิงพจมานกล่าวตอนหนึ่ง
หวังกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา
ส่วนอุปนิสัยทีชอบคิดอะไรในใจอยู่คนเดียวของนายทักษิณนั้น คุณหญิงพจมานขยายความว่า เพราะท่านไม่อยากให้ครอบครัวเครียด ท่านจะไตร่ตรองก่อนจนตกผลึก แล้วจะใช้เวลาขับรถไปไหนไกลๆ ด้วยกัน ค่อยๆเล่าและรับฟังความคิดต่าง หรือความคิดเดียวกัน ซึ่งเราสองคนทำแบบนี้มาตั้งแตเริ่มทำธุรกิจร่วมกัน
เมื่อถามว่า วันที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวประกาศลงสู่สนามการเมืองในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้คุยอะไรกันบ้าง คุณหญิงพจมานตอบว่า เห็นความตั้งใจของลูกแล้ว ก็คงแล้วแต่ลูก ลูกโตแล้ว เราต้องเคารพการตัดสินใจและไม่อยากให้ลูกกดดัน ก็คอยสนับสนุน ให้กำลังใจห่างๆ
กับคำถามว่า นายทักษิณเคยให้สัมภาษณ์ว่า เวลามองกระจกแล้วเห็นคุณหญิง รู้สึกสงสารคุณหญิงนั้น คุณหญิงพจมานระบุว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมนายทักษิณถึงรู้สึกแบบนั้น อาจเป็นเพราะคำพูดที่เคยเตือน ท่านคงจะจำได้ดีและตอนนี้คงเข้าใจแล้ว และคงเศร้าด้วย ตอนนี้ท่านอยากกลับมาเลี้ยงหลาน เป็นตายาย ปู่ย่า เหมือนครอบครัวปกติ ตอนนี้แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็ขอให้นายทักษิณมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
สุดท้าย เมื่อถามว่า ตั้งความหวังอะไรกับหลานๆในวันที่ประเทศมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ริบหรี่ คุณหญิงตอบว่า
“ไม่ได้คาดหวังอะไรอยากให้เขาโตมาร่าเริงสดใสพ่อแม่เขาก็ดูแลกันดีเต็มที่ก็คิดว่าเลี้ยงลูกมาอย่างดีแล้วนะลูกก็คงเลี้ยงลูกของตัวเองได้ดีกว่าแน่ อยากเห็นหลานๆเติบโตอย่างมีความสุขร่าเริงสดใสตามวัยกับสุขภาพที่แข็งแรงได้รักกันอย่างอื่นก็ให้เป็นไปตามวันเวลา แต่คุณตาจะได้กลับมาเห็นความเติบโตของหลานไหม ก็แอบคิดว่า คงมีสักวันแน่นอนที่หลานๆ ทุกคนจะได้อยู่พร้อมหน้ากับคุณตาอันเป็นที่รัก”
ภาพจากหนังสือ Thanksin Shinawatra Theory & Thought
ที่มาภาพปก: หนังสือ Thanksin Shinawatra Theory & Thought
อ่านประกอบ