‘ศักดิ์สยาม’ ออกหนังสือกระทรวงคมนาคมถึงทุกหน่วยงาน ต้องรายงานโครงการที่ใช้งบปี 66 ทุกโครงการ ลงลึกถึงการออก TOR - จัดซื้อจัดจ้าง ต้องรายงานทุกกระบวนการภายใน 7 วันทุกโครงการ ชี้เป็นการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่จากปี 62 ที่จะขอดูเฉพาะโครงการมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทเท่านั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 ตุลาคม 2565 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามในหนังสือกระทรวงคมนาคม เลขที่ คค.0100/3300 เรื่อง การบริหารงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2566 ของหน่วยงานในสังกักกระทรวงคมนาคม มีสาระสำคัญ ดังนี้
เพื่อให้การบริหารงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกรณีโครงการที่ไม่ได้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับปีงบประมาณ 2566 เป็นไปตามกฎหมาย และแผนงาน อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใส สามารถสนับสนุนการนำนโยบายของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
จึงอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 11 และพ.ร.ก.การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย 2558 มาตรา 42 รวมทั้ง พ.ร.บ. และพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม, ข้อบังคับว่าด้วยการจัดตั้งบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัดที่รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ถือหุ้น จึงให้ปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรม ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทุกแห่งถือปฏิบัติ ดังนี้
1. จัดส่งบัญชีรายการงบลงทุนทุกประเภท ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และกรณีโครงการที่ไม่ได้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับปีงบประมาณ 2566 ที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยแยกแหล่งที่มางบประมาณตามบัญชีรายการงบลงทุนทุกประเภท ที่ส่งมาพร้อมนี้ ถึงสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2565
2. ก่อนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ให้กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจทุกแห่งรายงานสถานะของโครงการ พร้อมจัดส่งร่างขอบเขตของงาน หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุหรือ
แบบรูปรายการงานก่อสร้าง (TOR) และขั้นตอนแผนการดำเนินการ (Timeline) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทราบ ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทราบแล้ว จึงดำเนินการต่อไปได้
3. เมื่อได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยงบประมาณของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ ตลอดจนระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จนได้ทราบผลการประกวดราคา หรือการคัดเลือกผู้ขายหรือผู้รับจ้างแล้ว ให้รายงานสถานะของโครงการ พร้อมผลการประกวดราคาหรือการคัดเลือก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทราบ ภายใน 7 วันทำการ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทราบแล้ว จึงพิจารณาลงนามในสัญญาและดำเนินการต่อไปได้
4. ให้กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากมิได้ดำเนินการตามข้อสั่งการข้างต้น ให้ถือว่ากระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ นั้น มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการของรัฐมนตรี รวมทั้งยังมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และหลักธรรมาภิบาลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
5.นอกเหนือจากความใน 4 ข้อข้างต้น ให้กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ทุกแห่ง ยังคงถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค.0100/1421 ลงวันที่ 27 ส.ค. 2562, หนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค.0100/645 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2563 และหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค.0100/ว2680 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2563 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหนังสือฉบับนี้
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตาม พ.ร.บ. และบริษัทมหาชนจำกัด เห็นควรให้แจ้งบริษัท ฯ ถือปฏิบัติด้วย
เปลี่ยนเกณฑ์จากปี 62 ที่สแกนเฉพาะโครงการเกิน 100 ล.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยามเคยออกหนังสือที่มีลักษณะขอตรวจสอบรายการลงทุนของหน่วยงานต่างๆมาแล้วครั้งหนึ่ง คือ เมื่อปี 2562 ซึ่งได้มีหนังสือกระทรวงคมนาคม ที่ คค. 0100/1421 ลงวันที่ 27 ส.ค. 2562 ถึงปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีทุกกรม ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและบริษัทในสังกัดกระทรวงคมนาคม กำชับถึงการเสนอเรื่องต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนโยบายเร่งด่วน การแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงการใช้งบประมาณในรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป และวาระการประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือบริษัท ให้นายศักดิ์สยามทราบก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน
ทั้งนี้ ในปี 2566 กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบลงทุนตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่วงเงินทั้งสิ้น 311,483.56 ล้านบาท โดยกรมทางหลวง (ทล.) มีงบลงทุนสูงสุด 121,154.41 ล้านบาท รองลงมาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 52,549.92 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 45,583.25 ล้านบาท