‘ชัชชาติ-ผู้ว่าหมูป่า’ พบปะชื่นมื่น ชี้เล็งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเดือน ต.ค.นี้อีกครั้ง หลังพบปริมาณฝนตกมากกว่าเดิม ชี้ กทม. ตกหนักจ่อทะลุค่าเฉลี่ยฝน 30 ปี ด้าน ‘ณรงค์ศักดิ์’ ระบุพายุใหญ่ยังไม่เข้าไทย ทำให้เดือน ต.ค.นี้ต้องเฝ้าระวังหนัก มอง พ.ย.นี้ฝนจะหายตก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 กันยายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการหารือร่วมกันถึงสถานการณ์น้ำในช่วงนี้
นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องแรกที่คุยกันคือ ภาพรวมของสถานการณ์ ซึ่งความตั้งใจนั้น อยากเชิญผู้ว่าอีก 5 จังหวัดคือ นนทบุรี, ฉะเชิงเทรา, นครปฐม และสมุทรปราการ เป็นต้น โดยครั้งนี้ เป็นการคุยระหว่าง กทม. กับ ปทุมธานี ไปก่อน และได้คุยกันถึงปัญหาน้ำ ซึ่งปทุมธานี อยู่กับน้ำอยู่แล้ว เชื่อว่า หากคุยกันให้ดี และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วม โดยเฉพาะกรมชลประทาน จะทำให้การทำงานสะดวกขึ้น และไร้รอยต่อ
“ปัจจุบัน กรมชลฯ เป็นโอเปอเรเตอร์ แต่จริงๆ ยังมีหน่วยงานที่เป็นเรตกูเรเตอร์อีก คือ คณะกรรมการลุ่มน้ำฯ หรือ คณะกรรมการน้ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งก็ต้องมาหารือกันอีก ในการปล่อยน้ำต่างๆ ซึ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา การจะปล่อยน้ำอะไรต้องขอไปยังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ดังนั้น รูปแบบการบริหารจัดการคือ กรมชลฯ เป็นโอเปอเรเตอร์, จังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการและควบคุมกฎระเบียบ ถ้าคุยกันและบริหารจัดการกันละเอียดขึ้น เชื่อว่าจะลดปัญหาทั้งในแง่การเตือนภัย และประชาชน” นายชัชชาติกล่าว
ดังนั้น อาจจะคุยกันละเอียดในระดับปฏิบัติการ ส่วนการเจอกันในระดับผู้ว่าฯ คงนัดกันเดือนละครั้ง ซึ่งตอนนี้ก็กังวลกันว่า จะมาหนักอีกในเดือน ต.ค. 2565 นี้ ก็ต้องเตรียมแผนรับมือต่างๆไว้ เช่น การพร่องน้ำ, เตรียมความพร้อมของประตูระบายน้ำ เป็นต้น
ส่วนเรื่อง PM2.5 ซึ่งนายณรงค์ศักดิ์ มีประสบการณ์มาก่อนในจ.ลำปาง และเชียงราย โดยเฉพาะการเผาชีวมวล เพราะ กทม. ในเขตหนองจอกและมีนบุรี ยังพบว่ามีเกษตรกรทำการผลิต จึงมีแผนที่จะให้ความรู้กับประชาชนที่เป็นเกษตรกร เอาไปเข้าโรงไฟฟ้าทั้งหมด และอาจจะใช้ไม้แข็งในการส่งศาลจับปรับผู้ฝ่าฝืน นอกจากนั้น ในจ.ปทุมธานี ก็มีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่คือ นวนครและบางกระดี่
ปัญหาที่ 3 เรื่องจราจรติดขัด มี 2 จุดที่เป็นรอยต่อจังหวัดและหารือกัน ได้แก่ 1. อนุสรณ์สถาน และ 2. นิมิตใหม่-ลำลูกกา
และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีบางส่วนอยู่ จ.ปทุมธานี นอกจากนั้น ยังได้คุยกันถึงผังเมืองของทั้ง 2 จังหวัดที่ควรมีผังเมืองสีเดียวกันในช่วงรอยต่อ เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นกันในการพัฒนาและความเป็นอยู่ของประชาชนต่อไป
ตั้งรับพายุถึงเดือน พ.ย.65/รับปาก กทม. เร่งรัดก่อสร้าง แก้จราจร
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า หารือกันหลายเรื่อง แต่ประเด็นหลักคือ การไร้รอยต่อ เพราะทุกเรื่อง เช่น โควิด, น้ำท่วม นั้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้คุยกัน อย่างเรื่องสถานการณ์น้ำ ตกลงกันว่า ในเดือน ต.ค.นี้ น้ำทะเลจะหนุนสูงสุด และขณะนี้ยังไม่มีพายุเข้าประเทศ ทั้งๆที่โดยเฉลี่ยแล้ว พายุจะพัดเข้าไทย 2 ครั้ง/ปี จึงต้องเฝ้าระวังในเดือน ต.ค. นี้ให้เข้มข้นที่สุด
ส่วนกรณีผังเมือง มีปัญหาบริเวณรอยต่อจังหวัด ซึ่งปทุมธานีกับ กทม. มีบางส่วนที่แตกต่างกัน ประกอบกับปทุมธานี ก็กำลังมีแผนปรับผังเมืองใหม่ จึงต้องรับฟังความเห็นจาก กทม. เพื่อมารองรับนโยบายที่ประสานกัน จะได้มีผังเมืองที่ต่อกัน ไม่โดดไปโดดมา ทั้งนี้ รวมถึงรอยต่อในจังหวัดอื่น ทั้งกทม.-สมุทรปราการ, กทม.-ฉะเชิงเทรา, กทม.-นครปฐม เป็นต้น
ขณะที่เรื่องอื่นๆที่คุยกัน ยอมรับว่าอาจจะแก้ไขยาก เช่น เรื่องจราจร จ.ปทุมธานี รับปากไว้ว่า จะเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็ว แต่หลายหน่วยงานก็เป็นเจ้าของโครงการหลายอย่าง แต่ก็จะเร่งรัดให้ เพราะช่วงฤดูฝนอาจจะลากยาวไปถึง พ.ย. 2565 หากรถติดขัดจะยาวไปดินแดงก็ได้ เป็นต้น
มี่นใจ ต.ค. เอาอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเคลียร์ใจกรณีที่เกิดเหตุการณ์ผันน้ำเข้าจังหวัดปทุมธานีหรือไม่ นายชัชชาติตอบว่า ไม่เห็นดราม่านี้ ฝ่ายปฏิบัติทำดีตลอด เอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่มีประเด็นอะไร อาจมีคนเข้าใจผิด
เมื่อถามต่อว่า ปัญหาของกทม. ขณะนี้มีประเด็นอะไรหรือไม่ นายชัชชาติตอบว่า บริเวณคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จะมีปัญหาหากฝนตกหนัก และมีน้ำที่ไหลมาจาก จ.นครนายก อีก และคลองดังกล่าวจะตัดลงแม่น้ำเจ้าพระยา หากตัดได้เยอะ ก็จะบรรเทาทั้ง 2 จังหวัด ซึ่งจะต้องหารือกับกรมชลประทานต่อไป
ขณะที่นายณรงค์ศักดิ์ เสริมว่า คงต้องถอดบทเรียนกันจาก 2-3 สัปดาห์ก่อน ที่เกิดฝนตกหนักในบริเวณนี้ถึง 130 มิลลิเมตรใน 24 ชม. และตกเสริมมาอีก 50 มิลลิเมตรอีก ซึ่งมีปริมาณมากกว่าน้ำในกว๊านพะเยา 1 กว๊าน ประกอบกับเครื่องสูบน้ำใช้งานได้แค่ 11 เครื่องจาก 20 เครื่อง แถมถูกน้ำพัดมาจาก จ.นครนายกอีก แต่ตอนนี้ ได้เคลียร์พื้นที่และเตรียมการพร่องน้ำไว้แล้ว และประสานกรมชลประทาน และ กทม. อย่างใกล้ชิดต่อไป เชื่อว่า ในเดือน ต.ค.นี้จะเอาอยู่
ด้านนายชัชชาติ กล่าวต่อว่า กทม. มีปริมาณฝนตกไม่ต่างกัน โดยวัดได้ที่ 1,642 มิลิเมตร เฉพาะ 30 ปี ตกประมาณ 1,690 มิลลิเมตร ซึ่งขณะนี้ ใกล้จะเกินค่าเฉลี่ยฝนตกทั้งปีในรอบ 30 ปีแล้ว ซึ่งตนไม่ได้แก้ตัว แต่เป็นบทเรียน ฝนมันตกเปลี่ยนไปแล้ว สภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ทำให้ฝนตกหนักขึ้น ก็ต้องถอดบทเรียนและเตรียมตัวกันต่อไป
เมื่อถามว่า จะเป็นต้นแบบในการทำงานของผู้ว่าแต่ละจังหวัดหรือไม่ นายชัชชาติตอบว่า รูปแบบผู้ว่าจังหวัดกับผู้ว่า กทม. ต่างกัน ราเป็นองค์กรปกครองแบบพิเศษ ก็ต้องมาหารือกับผู้ว่าฯ ปทุมธานีให้บ่อยขึ้น ของ กทม. จะเหมือนกับ เมืองพัทยา ก็ต้องมาคุยมาหาท่านบ่อยๆ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็จะไปที่ จ.นนทบุรี, ฉะชิงเทรา, สมุทรปราการ และนครปฐมต่อไป จะเชิญแบบไม่เป็นทางการ จะได้คุยกันสบายๆหน่อย