"...ล่าสุด ทางธนาคารโลก ได้มีการประเมินว่า แม้ว่าจะไม่มีความเสียหายที่มากกว่านี้ อัตราการเติบโตของประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่ไม่นับประเทศจีนนั้นจะอยู่ต่ำกว่า 1.8 เปอร์เซ็นต์ จากในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าในภูมิภาคนี้จะมีการยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆก็ตาม..."
.................
สืบเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส อย่างหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เวลานี้ ได้เริ่มมีกระแสการเรียกร้องให้ประชาคมโลกเร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำในระยะยาว ซึ่งจะมีผลต่อสภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกในภาพรวมได้
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าว นิกเกอิ เอเชีย ได้ออกมาประเมินว่า ภูมิภาคอาเซียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมโลก โดยยกตัวอย่างสถานการณ์ในประเทศอินเดียที่กำลังแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดเข้าไปในกลุ่มชุมชนที่มีความเปราะบาง
ในขณะที่การแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้ ณ เวลานี้ กำลังทำให้เกิดอัตราการสูญเสียชีวิต และทำให้หลายประเทศที่เคยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคจนดูเหมือนว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา
ต้องหลุดจากแผนการฟื้นฟูดังกล่าว
ซึ่งนี่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ ที่ประชาคมโลกจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
สำนักข่าว นิกเกอิ เอเชีย ระบุว่า ที่มาของปัญหาเกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์จากประเทศอินเดียและสายพันธุ์จากประเทศอังกฤษ จึงทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาโดยเร็ว และหวังว่าอาเซียนซึ่งมีประชากรจำนวนกว่า 675 ล้านคน จะสามารถป้องกันวิกฤตินี้ได้อีกครั้ง
เพราะแม้แต่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งการระบาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา ก็กำลังพยายามดิ้นรนทุกทางที่จะปกป้องตัวเองจากการระบาดครั้งใหม่ให้ได้
ข่าวการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศเวียดนาม (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวเอ็นบีซี)
สำหรับประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์ ได้ปรากฏตัวเลขให้เห็นเด่นชัดว่า อัตราการติดเชื้อใหม่และอัตราการเสียชีวิตในช่วงไม่กี่สัปดาห์นั้นพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างยิ่ง
ขณะที่ประเทศมาเลเซียเองก็ต้องกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้ง
ส่วนประเทศเวียดนามซึ่งเป็นหนึ่งในสามของประเทศอาเซียนที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดีเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะความมีวินัยในการจัดการกับโรคระบาด ณ เวลานี้ก็กำลังใช้ทุกอย่างเพื่อควบคุมการระบาดเล็กๆ แต่ยืดเยื้อในพื้นที่อุตสาหกรรม
ไม่ต่างจากประเทศอินโดนีเซีย ที่การระบาดเกิดขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากจากช่วงวันหยุด วันอีฎิ้ลฟิตริ (Idul Fitri) ซึ่งทำให้ทางการอินโดนีเซียนั้นมีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง
ด้านประเทศเมียนมา ก็กำลังเผลิญอวิกฤติซ้อนวิกฤติจากการเข้ายึดอำนาจของกองทัพทำให้เศรษฐกิจถดถอย ทำลายระบบสาธารณสุขและทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคระบาดมากกว่าเดิม
ดังนั้น การทดสอบเพื่อหาผู้ติดเชื้อ การติดตามตัวผู้ติดเชื้อ การเว้นระยะห่างทางสังคมและการควบคุมการเคลื่อนที่ก็จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ประเทศในอาเซียนนั้นจำเป็นต้องนำมาใช้เพื่อจะรับมือกับการระบาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอาเซียนยังคงไม่สามารถที่จะเข้าถึงจำนวนวัคซีนมากกว่านี้ได้นั้น ภูมิภาคนี้ก็จะไม่สามารถก้าวผ่านระยะเฉียบพลันของการแพร่ระบาดนี้ไปได้ และอาจจะต้องมีหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียตามมา
สำนักข่าว นิกเกอิ เอเชีย ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาเซียนยังคงต้องต่อสู้กับสงครามการฉีดวัคซีน โดยที่แขนข้างหนึ่งยังคงต้องถูกผูกมัดเอาไว้ข้างหลังด้วยปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร ความลังเลของประชากรในการฉีดวัคซีน ข้อจำกัดด้านกำลังการผลิต และหลายประเทศในอาเซียนก็ยังคงเป็นประเทศรายได้ต่ำและมีปัญหาความยากจน
ในขณะที่เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย กำลังหันไปพึ่งพาวัคซีนที่มีการพัฒนาด้วยตัวเอง แต่นี่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาอย่างมาก
ซึ่งถ้าหากไม่มีแหล่งการผลิตวัคซีนที่สูงในระดับโลกแห่งใหม่ และไม่มีผู้บริจาควัคซีนปรากฏขึ้นในทันที อาจจะทำให้เกิดปัญหาเลวร้ายตามมา
คำถามสำคัญ ก็คือ ความช่วยเหลือที่ว่านี้จะมาถึงหรือไม่ เพราะถ้าหากมองย้อนกลับไปดูในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความพยายามในระดับโลกในการที่จะช่วยเร่งโครงการฉีดวัคซีนให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลกเกิดขึ้นมาบ้างแล้ว
อาทิ ด้วยอัตราความสำเร็จในด้านการฉีดวัคซีนที่พุ่งสูงขึ้นในสหรัฐอเมริกา ทำให้ทีมบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้พยายามที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้งในเรื่องการรับมือกับการแพร่ระบาด โดยเริ่มต้นจากการบริจาควัคซีนกว่า 80 ล้านโดส และกำลังแสดงความมุ่งมั่นว่าจะซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 500 ล้านโดสให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยต่อเนื่องด้วย
ข่าวการสนับสนุนวัคซีนของสหรัฐอเมริกา (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวเอบีซี)
ขณะที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู ที่มีการประชุมสุดยอดด้านกลุ่มประเทศผู้นำสุขภาพระดับโลกเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการประกาศว่าจะมีการบริจาควัคซีนกว่า 100 ล้านโดสให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง รวมไปถึงบริจาคผ่านโครงการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมหรือที่เรียกว่าโคแวกซ์ ขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO
โดยผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายให้คำมั่นว่าจะไม่มีการหากำไรเพิ่มเติมและจะได้วัคซีนซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่า
ทั้งนี้ ในการประชุมโคแวกซ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการเพิ่มเงินอีกจำนวนกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (74,544,000,000 บาท) ซึ่งเพียงพอสำหรับโคแวกซ์ในการที่จะจัดหาวัคซีนฟรีจำนวนกว่า 1.8 พันล้านโดสให้กับประเทศรายได้ต่ำในช่วงปี 2564 และต้นปี 2565
นี่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ถึงกระนั้นแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนาเองก็ถือว่าตามหลังประเทศที่ร่ำรวยอยู่มาก และจะต้องดำเนินการหลายสิ่งเพิ่มเติม
อาทิ การจัดส่งวัคซีนส่วนเกินจากประเทศที่ร่ำรวยอย่างเร่งด่วน ที่ในบางประเทศควรจะต้องมีการจับคู่ประเทศกันเพื่อจะให้มีการส่งทรัพยากรวัคซีนเพื่อที่จะนำไปสู่การฉีดให้ได้มากกว่านี้
เพราะแม้ว่าจะมีคำมั่นสัญญาจากประเทศผู้บริจาครายใหม่เกิดขึ้น แต่ยังมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมสำหรับการรับมือโรคระบาดด้วยเช่นกัน
ซึ่งทางด้านของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ก็ได้มีการออกมาประกาศว่าจะต้องมีการใช้เงินเป็นอย่างน้อย 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,553,000,000,000 บาท) ในการสนับสนุนทางการเงิน การตรวจหาผู้ติดเชื้อ และการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเท่าเทียม
นอกจากนี้ วิกฤติสุขภาพที่เกิดขึ้นในอาเซียนช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน หลายประเทศอาเซียน ณ เวลานี้มีความต้องการวัคซีนอย่างยิ่งยวด และมีความต้องการที่มากกว่าประเทศในภูมิภาคที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดในปีที่ผ่านมาเสียอีก
ด้วยปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม การลงทุนที่หายไป การสูญเสียปัจจัยด้านมนุษย์ และการล่มสลายของภาคธุรกิจขนาดเล็ก
ปัจจัยทุกอย่างที่ว่ามานี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว
ล่าสุด ทางธนาคารโลก ได้มีการประเมินว่า แม้ว่าจะไม่มีความเสียหายที่มากกว่านี้ อัตราการเติบโตของประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่ไม่นับประเทศจีนนั้นจะอยู่ต่ำกว่า 1.8 เปอร์เซ็นต์ จากในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19
แม้ว่าในภูมิภาคนี้จะมีการยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆก็ตาม
แต่สิ่งที่น่าวิตกก็คือ สำหรับประเทศในอาเซียน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าจะสามารถช่วยเหลือต่อไปได้ แต่ประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคอย่างเช่น ติมอร์ตะวันออก ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ที่อยู่ในสภาวะหลังจากรัฐประหาร และเสี่ยงที่จะกลายเป็นรัฐที่ล่มสลายนั้น
มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องได้รับการบริจาคให้มากกว่านี้
เพราะถ้าหากไม่มีความช่วยเหลือเพิ่มเติมเข้ามา ภูมิภาคอาเซียนอาจเข้าสภาวะที่ทางไอเอ็มเอฟเรียกว่า “ความแตกต่างครั้งใหญ่” ซึ่งก็คือปัญหาเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ตกต่ำ
จนทำให้เกิดความทิ้งห่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จนยากที่จะบรรจบกันก็เป็นได้
เรียบเรียงจาก:https://asia.nikkei.com/Opinion/The-world-must-stand-by-Southeast-Asia-in-its-fight-against-COVID
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage