"...ปัญหาเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจและอำนาจเหนือตลาดในไทย เป็นอำนาจที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยิ่งทำให้การผูกขาดและอำนาจเหนือตลาดมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะปล่อยปะละเลยให้มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจมากขึ้น..."
.............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกันสถาบันอิศรา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN.) จัดเวทีอภิปายสาธารณะเรื่อง “หยุดเศรษฐกิจผูกขาดและอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจการค้าไทย” โดยเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันแก้ไขเพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำอันดับหนึ่งของโลก
นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงปัญหาเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจและอำนาจเหนือตลาดในไทยว่า เป็นอำนาจที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยิ่งทำให้การผูกขาดและอำนาจเหนือตลาดมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะปล่อยปะละเลยให้มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจมากขึ้น และในบางกรณีมีข้อสงสัยว่าอาจจะมีส่วนร่วมในการผูกขาดทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการตลาด ที่ทำให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจน การที่รัฐบาลไทยได้นำบุคคลในธุรกิจยักษ์ใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในกลไกลอำนาจรัฐ ในหลายกระบวนการ ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ
"ซึ่งการที่กลุ่มนายทุนมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นทางการ ชี้ให้เห็นว่า การที่จะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีนั้นมีโอกาสน้อยลง สิ่งที่ตามมาคือการผูกขาดจะมีการกระชับแน่น และมีการขยายอำนาจเหนือตลาดไปอย่างขว้างขวาง จะเห็นได้ว่า รายได้ของธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในขณะที่รายได้ครัวเรือนของประชาชนกลับไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นก็ไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาของการผูกขาดและการมีผลประโยชน์ทับซ้อน"
"การใช้นักธุรกิจมาร่วมทำงานกับรัฐบาล โดยที่คิดว่านักธุรกิจจะมาร่วมทำประโยชน์ อาศัยทักษะของนักธุรกิจเพื่อไปกระตุ้นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางให้เติบโต ถือเป็นความคิดที่ผิด เมื่อนักธุรกิจได้มีโอกาสเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการดำเนินงาน เรียกว่ายุทธศาสตร์เชิงช้อน อาศัยตำแหน่งในการขับเคลื่อนกฎหมายให้เกิดการผูกขาด เพื่ออ้างอำนาจรัฐเป็นฐานในการทำธุรกิจของตนเอง"
นายพิชาย ยังย้ำว่า "การผูกขาดและอำนาจเหนือตลาดเป็นเรื่องประชาชนไม่ค่อยรับรู้เท่าไหร่นักว่าเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่อย่างไร แต่สิ่งที่แฝงขึ้นมาจากการผูกขาดตลาดเหล่านั้น มันจะกระทบเป็นลูกโซ่ บรรดาผู้ผลิตที่เป็นซัพพลายเออร์สินค้า จะนำสินค้าเข้ามายาก ค่าวางสินค้าจะสูง ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ ต้นทุนจะเพิ่มมากขึ้น ราคาก็จะแพงขึ้น ถ้าในอนาคตยังมีการผูกขาดแบบนี้ต่อไป จะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น สินค้าหลายรายการจะค่อยๆขยับราคาขึ้นที่ละนิดอย่างที่เราเองไม่รู้ตัว ถือเป็นประเด็นสำคัญที่อยากให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งจะทำให้เกิดการกดดันไม่ให้เกิดพฤติกรรมการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และผลักดันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเหนือตลาดรังแกบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางอีกต่อไป"
“ถ้าชีวิตความเป็นอยู่ของเราขึ้นอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่จะเป็นอย่างไร ก็คงมีความเสี่ยงสูงน่าดู” นายพิชายระบุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage