หมายเหตุ:บทความ เรื่อง ผลกระทบ โควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทย: ข้อมูลเชิงประจักษ์ เขียนโดย ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ เเละเกศินี ธารีสังข์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”
ผลกระทบโควิด-19 ต่อตลาดแรงงาน ผลวิเคราะห์ month-on-month
จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาดในไทย “การมีงานทำ” ในประเทศไทยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพียงแต่มีความกังวลเรื่อง “การจ้างงานในภาคเกษตร” เนื่องจากภัยแล้งและความพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนจากการถูก “ป่วน” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานของผู้ที่มีการศึกษาสูงยังคงสูงอยู่อย่างต่อเนื่องประมาณ 1.86% คิดเป็นคนว่างประมาณ 1 แสนคน ในระดับ ปวส./ปวช. อัตราว่างงานค่อนข้างสูง 1.43% คิดเป็นผู้ว่างงานระดับ 5 หมื่นคน ซึ่งสรุปได้ว่าข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เป็นจุดเริ่มต้นในประเทศจีนช่วงปลายปีที่แล้วยังไม่มีผลใดๆ ต่อตลาดแรงงานไทย ทุกคนยังใช้ชีวิตตามปกติ
ช่วงการแพร่ระบาดจากประเทศจีน เริ่มระบาดเข้ามาในประเทศไทย
การสะท้อนภาพผลกระทบโควิด -19 ที่เป็นจุดเริ่มต้นในประเทศไทยตามระยะการระบาดภายในประเทศ น่าจะเริ่มจากคนจำนวนหนึ่งในสนามมวย และมีดาราดังอีกหลายคนตรวจพบว่ามีอาการเจ็บป่วย รวมถึงการสืบสวนโรคโดยทีมควบคุมโรคติดต่อก็ยืนยันการระบาดของโควิด -19 ในประเทศไทย
จนถึงวันนี้ผ่านมา 5-6 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2563 มีสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2563 ที่แสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อตลาดแรงงานและการมีงานทำในประเทศไทย ดังนี้
ตลาดแรงงานของไทยระดับมหภาคในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ยังไม่ถูกกระทบโดยการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เนื่องจากพบว่า การมีงานทำในภาพรวม เพิ่มขึ้น (1.2%) อัตราว่างงานเพิ่มเล็กน้อยอยู่ในระดับ 1% แต่การทำงาน 35 ชั่วโมงหรือต่ำกว่า (การทำงานต่ำระดับ) เริ่มปรากฏให้เห็นว่า เริ่มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.4% ถึงแม้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 ตลาดแรงงานมหภาคอาจจะไม่สะท้อนจุดเริ่มต้นให้เห็นเด่นชัดนัก จากข้อมูลการสำรวจการมีงานทำของประเทศไทย คงมีเพียงการทำงานต่ำระดับที่เห็นได้ชัดจากการที่เศรษฐกิจการจ้างงานเริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐที่มีแผนที่จะแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด -19 ในประเทศไทยจนสถานประกอบเริ่มลดเวลาทำงานของแรงงาน แต่เมื่อเปรียบเทียบลงลึกไปถึงสาขาการผลิต จะเห็นการเคลื่อนไหวในตลาดแรงงานชัดเจนขึ้นในช่วงเวลา 3 เดือน โดยสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงของสาขา (Sector) หลักแต่ละเดือน (month-on-month)
การดูการเคลื่อนไหวของตลาดแรงงานแต่ละสาขา ซึ่งมีอยู่ 21 สาขา รวมกลุ่มเป็นสาขาหลักคือ การเกษตรและไม่ใช่การเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานดังนี้
การเปลี่ยนแปลงการจ้างงานที่กระทบสาขาการผลิตหลักของประเทศในช่วงระหว่างเดือนมกราคมกับกุมภาพันธ์ มีสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น (10 สาขา) พอๆ กับสาขาที่เริ่มถูกกระทบจาก โควิด-19 ทำให้การจ้างงานลดลง (11 สาขา) ผลกระทบปรากฏเด่นชัดจากการเปรียบเทียบระหว่างเดือนกุมภาพันธ์กับมีนาคม ซึ่งเดือนนี้การแพร่ระบาดได้เริ่มกระจายจากจีนไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union: EU) และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับประเทศไทยโดย ศบค. ได้เริ่มวางแผนเพื่อสกัดการแพร่ระบาด โควิด-19 อย่างเข้มข้น จากจังหวัดหลักๆ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ที่จะกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วยแนวทางการใช้ Social Distancing และ Lock Down และมีหลายธุรกิจในสาขาบริการที่ถูกขอให้หยุดกิจการ เป็นต้น
แน่นอนเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานระหว่างเดือนกุมภาพันธ์กับมีนาคม คือ มีสาขาการผลิตและบริการที่จ้างงานเพิ่มขึ้นลดจาก 10 สาขา เหลือเพียง 4 สาขาเท่านั้น และสาขาที่สำคัญคือ สาขาการเกษตร การศึกษาศิลปะ นันทนาการ และบันเทิง ซึ่งยังไม่ปรากฏผลกระทบเด่นชัดในเดือนนี้ นอกเหนือจากบริการอื่นๆ (เช่น ที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce)
ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานลดลงจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้นมี 11 สาขา กลายเป็น 17 สาขา จาก 21 สาขา แสดงให้เห็นผลกระทบจากโควิค-19 ได้แผ่ขยายผลกระทบเกือบทุกภาคการผลิตที่เป็นสาขาที่ไม่ใช่การเกษตร ซึ่งจำนวนแรงงานที่ถูกกระทบเสนอไว้ในตารางที่ 4
จากตารางที่ 4 เห็นได้ชัดว่าผลจากการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม ทำให้เกือบทุกสาขาการผลิตนอกการเกษตรมีการจ้างงานลดลงมากกว่า 1 ล้านคน แรงงานเหล่านี้ไม่ได้ว่างงานแต่เป็นการพักหรือรองานจากกิจการที่ลดชั่วโมงทำงานและ/หรือปิดกิจการชั่วคราว จาก 21 สาขานอกการเกษตร มีเพียง 4 สาขาคือ การศึกษา, ศิลปะ บันเทิง นันทนาการ, กิจกรรมบริการอื่นๆ และกลุ่มที่ไม่ทราบ ที่จำนวนการจ้างงานยังเพิ่มขึ้น 206,630 คน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมมีแรงงานที่ถูกพัก/หยุดงานชั่วคราวเดินทางกลับไปอยู่ในภาคเกษตรมากกว่า 7 แสนคน ซึ่งภาคเกษตรยังเป็น “หลังพิง” ให้กับแรงงานที่ไม่สามารถใช้ชีวิตรอให้สถานที่ทำงานเปิด เมื่อทางการมีการผ่อนคลายมาตรการ Lock Down และ/หรือ Social Distancing และต้องมีภาระค่าครองชีพที่สูงถ้ายังอาศัยในเมือง ซึ่งการได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือนคงไม่เพียงพอให้ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ได้ คนจำนวนมากจึงต้องกลับไปอยู่กับครอบครัวในชนบท
ผลกระทบโควิด-19 ต่อตลาดแรงงาน ผล year-on-year
เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบ โควิด-19 ที่มีต่อตลาดแรงงาน เปรียบเทียบในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ปี 2563 กับเดือนเดียวกันของปี 2562 (year-on-year) เมื่อยังไม่มีเหตุการณ์ โควิด-19 ปรากฏผลวิเคราะห์ดังตารางที่ 5
พบว่าจำนวนผู้ว่างงานอยู่ระดับประมาณ 4 แสนคน โดยการเปลี่ยนแปลงแต่ละเดือนอาจจะผันผวนอยู่บ้าง แต่ยืนยันว่าจำนวนผู้ว่างงานในช่วง โควิด-19 ระบาดในปี 2563 สูงกว่าปี 2562 ทุกเดือน โดยเดือนกุมภาพันธ์เพิ่ม 39.85% มีนาคมเพิ่ม 13.0% มากกว่าเดือนมกราคมที่เพิ่มเพียง 4.0% ซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย
ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานทำงานต่ำระดับ หรือผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวนสูงขึ้นเนื่องจากสถานประกอบการลดจำนวนชั่วโมงทำงาน ซึ่งไม่ปรากฏในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ แต่ได้เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นในเดือนมีนาคมสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปี 2562 ถึง 23.6%
ส่วนผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร พบว่าจำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรเพิ่มเป็นบวกทุกเดือน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ยังไม่มีปัญหาโควิด-19 ระบาดในไทย พบว่าภาคเกษตรผู้มีงานทำลดลงทุกเดือนจากมกราคมถึงมีนาคม 0.16% ถึง 5.0% อาจจะเนื่องจากเกษตรกรบางส่วนรอฤดูฝน
สำหรับผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรอาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของ โควิด-19 ในแต่ละเดือนมากนักเมื่อเปรียบเทียบปีต่อปี จากสถิติจำนวนผู้มีงานทำลดลงของสถานประกอบการทั้ง 21 สาขาเทียบปีต่อปีแล้วมีการจ้างงานลดลงอยู่ระหว่าง 8-9 สาขาการผลิตในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมแต่ไม่มีแบบแผน (pattern)ที่ชัดเจน มีเพียง 3 สาขาที่เริ่มปรากฏผลกระทบต่อเนื่องกัน 2 เดือนหลังคือสาขาการผลิต สาขาก่อสร้าง และวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากมาตรการของภาครัฐที่มีนโยบายเยียวยาแรงงานนอกภาคเกษตรและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
อีกทั้งจากมาตรการของภาครัฐที่ต้องการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคบริการและภาคการผลิตที่แท้จริง (real sector) จึงต้องหยุดงานชั่วคราว หรือชะลอการจ้างงาน โดยสถานประกอบการยังไม่ลดหรือปลดคนงาน เพียงแต่ลดชั่วโมงทำงานลง ดังผลการศึกษาเชิงประจักษ์ที่ได้อธิบายมาแล้วแต่ต้น
ผลกระทบโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำและอัตราการการว่างงานสูงที่สุดในรอบ 20 ปี
เมื่อพิจารณาอัตราการจ้างงานกับอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศพบว่า การเคลื่อนไหวของทั้งสองตัวแปรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อ GDP ที่แท้จริงมีค่าสูง อัตราการจ้างงานมักมีค่าสูงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำต่อเนื่องมาแล้วมากกว่า 3 ปีและอัตราการจ้างงานก็เช่นเดียวกัน แต่มาฟื้นตัวในปี 2562 แต่เมื่อเศรษฐกิจถูกกระทบจาก ปัญหาโควิด-19 ก็ยิ่งกระทบการจ้างงานมากขึ้นไปอีก
ในทางตรงกันข้าม อัตราการว่างงานกับอัตราการเจริญของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมีการเคลื่อนไหวของทั้งสองตัวแปรเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อ GDP ที่แท้จริงมีค่าต่ำลง อัตราการว่างงานก็จะมีค่าสูงขึ้นดังปรากฏเมื่อเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2552 วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และวิกฤตอีกครั้งหนึ่งเริ่มในปี 2563 นี้ ดังกราฟที่ 2
จากการวิเคราะห์สมการถดถอยอย่างง่ายของการเปลี่ยนแปลง (Simple Regression) อัตราการขยายตัวของ GDP ที่แท้จริงที่มีต่ออัตราการว่างงานโดยใช้ข้อมูลเป็นรายไตรมาสตั้งแต่ปี 2545 ถึงไตรมาส 1 ปี 2563 ได้ผลดังภาพกราฟที่3 โดยสมมติให้ กรณีสูง มี GDP ที่แท้จริง ในปี 2563 หดตัวร้อยละ 5.3 โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 11 และในไตรมาสที่ 3 และ4 ในปี 2563 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.23 ส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.98 ในไตรมาสที่ 2 และการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.35 ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาส 4 ต่อเนื่องกัน
หมายความว่า จากกำลังแรงงานทั้งหมด 38.19 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 (ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย) จะมีผู้ว่างงานถึง 8.01 ล้านคนหรือร้อยละ 20.9 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และอาจจะลดลงในไตรมาสที่ 3 และ 4 เหลือ 3.53 ล้านคนหรือร้อยละ 10.3 หรือมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยในปี 2563 ประมาณ 4.6 ล้านคนหรือร้อยละ 12.0 ของกำลังแรงงาน (ดูรูปกราฟที่ 3 ประกอบ)
กรณีต่ำ หากการระบาดโควิด-19 ยังเป็นเช่นปัจจุบัน สมมติให้ GDP ที่แท้จริง ในปี 2563 หดตัวร้อยละ 3 ในไตรมาส 2 ไปจนถึงในไตรมาสที่ 3 และ 4 ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยปี 2563 อัตราเติบโต GDP ที่แท้จริงทั้งปีหดตัวร้อยละ 3.41 ส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.06 ในไตรมาส 2 ถึง 4
หมายความว่า จากกำลังแรงงานทั้งหมด 38.19 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 (ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย, 2563) จะมีผู้ว่างงานประมาณ 3.46 ล้านคน ในไตรมาสที่ 2 ถึง 4 ปี 2563 โดยเฉลี่ยในปี 2563 จะมีผู้ว่างงานประมาณ 3.22 ล้านคนหรือร้อยละ 8.4 ของกำลังแรงงาน
การคาดประมาณการว่างงาน ปี 2564 และปี 2565 พบว่าถ้าหากปัญหาการระบาดของโควิด-19 สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ไปจนสิ้นปี 2563 มีการผ่อนคลายให้เปิดได้ครบทุกประเภทกิจการ จะส่งผลดีต่อ GDP ที่แท้จริงในแต่ละไตรมาสของปี 2564 และปี 2565 หดตัวเพียงร้อยละ 2 และ 0.1 ตามลำดับ เป็นผลให้การว่างงานจะลดลงโดยเฉลี่ยเหลือเพียง 2.61 ล้านคน ในปี 2564 และ 1.47 ล้านคน ในปี 2565 คิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 6.9 และ 3.9 ตามลำดับ (ดูกราฟที่ 5 case 1 กรณีสูง และ case 2 กรณีต่ำ)
ข้อเสนอแนะเบื้องต้น
จากผลการศึกษาปัญหาการว่างงานในประเทศไทยเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า อัตราการว่างงานสูงกว่าปีก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 ถึง 8-12 เท่าของการว่างงานตามปกติ ในเบื้องต้นผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ดังนี้
1.ระบบข้อมูล online ในการตรวจสอบว่ามีคนว่างงานอยู่ที่ใดและประสงค์จะทำงานอาชีพหรือตำแหน่งงานอะไร โดยสามารถให้ผู้สมัครงานเข้าถึงได้จาก Smart Phone และ/หรือตัวแทนของภาครัฐในระดับท้องถิ่นได้ทั่วประเทศ
2.เมื่อสถานประกอบการเริ่มเปิดกิจการอาจจะมีแรงงานส่วนหนึ่งที่อาจจะถูกเลิกจ้างอย่างถาวร หน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ควรทำให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหางานใหม่ให้ทำได้โดยเร็วที่สุด โดยอาศัยความร่วมมือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาการท่องเที่ยว สภาเกษตรกร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในการสร้างงาน
3.รัฐควรจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูทางเศรษฐกิจให้ผู้ว่างงานได้มีแหล่งรายได้เพื่อดูแลตัวเองและครอบครัวตามอัตภาพทันทีหลังจากที่งบประมาณเยียวยาสิ้นสุดลงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างรองานหรือหางานใหม่
4.พัฒนาส่งเสริมให้ผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการทั้ง SMEs Microenterprises และอาชีพอิสระอื่นๆให้ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านความรู้และทักษะในการประกอบกิจการ (coaching and incubation) และการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนในการเสริมสร้างอาชีพที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย
5.เน้นการพัฒนาการเกษตรให้เป็นแหล่งจ้างงานและเป็นแหล่งอาหารสำหรับแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ และเน้นหาแหล่งน้ำให้ทั่วถึงทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคอีสาน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage