“...Hometown Tax หรือ Furusato Nozei (ふるさと納税)” เป็นระบบการชำระภาษีให้บ้านเกิดของประเทศญี่ปุ่นที่ได้มีการประกาศใช้เมื่อปี 2551 ในสมัยนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองมีส่วนร่วมช่วยฟื้นฟู และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นในเขตเมืองกับเขตชนบท ผ่านการบริจาคเงินให้แก่ท้องถิ่นโดยตรง ผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ขณะเดียวกันก็ได้รับสินค้าประจำท้องถิ่นเป็นของขวัญแทนคำขอบคุณ.."
....................................
“คงจะดีไม่น้อย หากภาษีที่เราจ่าย จะมีส่วนช่วยพัฒนาท้องถิ่น นอกจากจะได้รับของสมนาคุณแล้วยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้”
ประชาชนญี่ปุ่นได้ย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงานที่ดีขึ้น ส่งผลให้ประชากรในชนบทของญี่ปุ่นลดลง การเก็บภาษีท้องถิ่นจากคนในพื้นที่จึงไม่เพียงพอที่จะนำไปจัดทำบริการสาธารณะ รัฐบาลกลางจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้ระบบชำระภาษีให้บ้านเกิด (Hometown Tax: HTT) เพื่อเปิดโอกาสให้คนย้ายถิ่นมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิด ช่วยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองใหญ่กับชนบท ความสำเร็จนี้มีหลายมิติที่ไทยอาจนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอง และช่วยให้การจัดทำบริการสาธารณะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้อย่างตรงจุด
Hometown Tax เป็นอย่างไรและเหตุใดต้องลงเอยด้วยนโยบายนี้
“Hometown Tax หรือ Furusato Nozei (ふるさと納税)” เป็นระบบการชำระภาษีให้บ้านเกิดของประเทศญี่ปุ่นที่ได้มีการประกาศใช้เมื่อปี 2551 ในสมัยนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองมีส่วนร่วมช่วยฟื้นฟู และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นในเขตเมืองกับเขตชนบท ผ่านการบริจาคเงินให้แก่ท้องถิ่นโดยตรง ผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ขณะเดียวกันก็ได้รับสินค้าประจำท้องถิ่นเป็นของขวัญแทนคำขอบคุณ
โดย Hometown tax นั้นได้ออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นฐานความต้องการ และวัฒนธรรมของญี่ปุ่น คือ
1) ประเทศญี่ปุ่นเคยเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ โครงสร้างระบบภาษีญี่ปุ่นจึงออกแบบให้คนมีส่วนร่วมในการเสียภาษีให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น
2) โครงสร้างระบบภาษีญี่ปุ่นออกแบบให้คนมีส่วนร่วมในการเสียภาษีให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น การให้เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือปีต่อปี ทำให้ท้องถิ่นขาดการพัฒนาในระยะยาว และกรณีมีเหตุฉุกเฉินไม่สามารถช่วยได้ทันกาล
3) ประกาศใช้ Hometown Tax เป็นตัวช่วยพัฒนาท้องถิ่น ประชาชนเลือกบริจาคโดยตรง เพื่อสนับสนุนท้องถิ่นใดก็ได้ และนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้
4) ผู้บริจาคจะได้รับของขวัญแทนคำขอบคุณ ท้องถิ่นที่ได้รับเงินบริจาค จะส่งสินค้าในพื้นที่เป็นของสมนาคุณให้แก่ผู้บริจาค
ที่มา: จาตุรนต์ เทพเดชา (2562) “สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการบริจาคเงินและทรัพย์สินให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายภาษี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เคล็ดลับความสำเร็จและสาเหตุที่ Hometown Tax ได้รับความสนใจ
“รัฐบาลญี่ปุ่นออกแบบนโยบายให้ทุกคนเข้าใจและใช้งานง่าย” นอกจากนั้นยังกระตุ้นให้ประชาชนอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดมากขึ้น ในขณะที่ท้องถิ่นเองก็เกิดการแข่งขันเพื่อดึงดูดเงินบริจาค
• สร้างทางเลือกให้แก่ผู้เสียภาษี โดยแบ่งภาษีเงินได้ส่วนหนึ่งให้แก่ท้องถิ่นอื่นได้ เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือตอบแทนบ้านเกิดได้โดยตรง
• ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมกับการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น
• กระตุ้นการแข่งขัน ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำและพัฒนาบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ
ที่มา: 1) กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร ประเทศญี่ปุ่น, รายงานการศึกษาระบบภาษีบ้านเกิด ふるさと納税研究会報告書 (平成19年10月) 2) Kay Hasegawa (2017). Japan’s “Furusato Nouzei” (Hometown Tax): Which Areas Get How Much, and Is it Really Working? 3) Motohiro Sato, Good and Bad Fiscal Decentralization 4) Nippon.com
• ปี 2551 เริ่มใช้นโยบาย มียอดผู้สนใจบริจาคเพียง 5.4 หมื่นครั้ง และมียอดเงินบริจาค 2.4 พันล้านบาท
• ปี 2558 รัฐบาลจึงได้ปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อดึงดูดให้คนอยากบริจาคเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการแข่งขันการให้ของสมนาคุณแก่ผู้บริจาค
1) ลด ละ เลิก แบบฟอร์มบริจาค และสนับสนุนการยื่นขอคืนภาษี แบบ One-Stop Service
2) เพิ่มเพดานลดหย่อนภาษี จาก 10% เป็น 20%
3) ท้องถิ่นแข่งขันพัฒนาสินค้าดึงดูดเงินบริจาค
• ปี 2561 ท้องถิ่นแข่งขันดึงดูดเงินบริจาคด้วยของสมนาคุณมูลค่าสูงจน เกิดปัญหาขาดทุน รัฐบาลจึงกำหนดมูลค่าของสมนาคุณไม่เกิน 30% ของเงินบริจาค ทำให้ยอดเงินบริจาคของแต่ละผู้บริจาคลดลง แต่จำนวนครั้งบริจาค Hometown Tax ยังคงเพิ่มขึ้น
• ปี 2562 มียอดบริจาคถึง 14.6 หมื่นล้านบาท และมีจำนวนบริจาคมากกว่า 23 ล้านครั้ง
Hometown Tax มีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาหลากหลายปัญหาในญี่ปุ่น
เงินบริจาคจาก Hometown Tax สามารถนำไปสนองความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างตรงจุดและทันกาล ดังตัวอย่างเมืองที่ได้รับประโยชน์จาก Hometown Tax
1. ฟื้นฟู “เมืองผู้สูงอายุ” ได้อย่างตรงจุด
• เมือง Tara-chō จังหวัด Saga เป็นเมืองที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ประกอบกับอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง
• คนในเมืองส่วนใหญ่ทำอาชีพการเกษตร ทำงานด้านอุตสาหกรรมลดลง เพราะขาดแคลนแรงงาน
• ได้รับเงินจาก Hometown Tax 742 ล้านเยน มาปรับปรุงพื้นที่เกษตร จากพื้นที่ที่ลาดชันให้เป็นพื้นที่ราบ เพื่อให้ผู้สูงอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างสะดวก
• นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการดูแลและทุนการศึกษาเด็กในท้องถิ่น
ที่มา: https://www.furusato-tax.jp/feature/a/katsuryoku_column-vol11
2. ช่วยเกษตรกรที่ได้รับ “ผลกระทบจาก COVID-19” อย่างทันท่วงที
• เมือง Kasaoka จังหวัด Okayama ได้มีการใช้มาตรการปิดร้านอาหารเพื่อสกัดการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้เกษตรกรไม่สามารถส่งขายหัวหอมให้แก่ร้านอาหารได้ เกษตรกรต้องทิ้งหัวหอมจำนวนมากถึง 180 ตัน
• ท้องถิ่นตัดสินใจเพิ่มช่องทางการจำหน่ายหัวหอม โดยเสนอเป็นของสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงินผ่าน Hometown Tax มีผู้สนใจถึง 10,000 คน
ที่มา: https://rakuten.today/blog/japans-hometown-tax-program.html
3. บรรเทาภัยพิบัติจาก “แผ่นดินไหว” ได้ทันกาล
• เมือง Kumamoto จังหวัด Kumamotoเกิดอุทกภัยและดินถล่มฉับพลันหลังเกิดแผ่นดินไหว ปี 2562
• ท้องถิ่นจึงระดมเงินทุนช่วยเหลือเพิ่มเติมผ่าน Hometown tax จากเดิมที่ระดมเงินผ่านหน่วยงานราชการ เช่น สภากาชาติ ซึ่งเมื่อได้รับเงินมาแล้ว กว่าเมืองที่ประสบภัยจะได้รับเงิน ต้องใช้ระยะเวลานาน เนื่องด้วยต้องผ่านการพิจารณาและอนุมัติการใช้เงินหลายขั้นตอน
• ได้รับเงินจาก Hometown Tax มากกว่า 570 ล้านเยน มาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้ทันกาล
• ผู้ที่บริจาคได้รับเครื่องปั้นดินเผาเซรามิกส์ที่แตกสลายจากแผ่นดินไหวเป็นของสมนาคุณ โดยใช้ทองคำมาเชื่อมต่อ ด้วยเทคนิควาจิมะ
ที่มา: https://www.furusato-tax.jp/feature/a/katsuryoku_column-vol3
4. ช่วยสนับสนุน “ค่าใช้จ่ายแข่งโอลิมปิกส์”แก่นักกีฬาฟันดาบ
• สมาคมฟันดาบ ในเขต Shibuya มหานคร Tokyo มีรายได้จากการโฆษณา และค่าเข้าชมการแข่งขันของสมาคมฟันดาบ ลดลงจากผลกกระทบ COVID-19 ทำให้นักกีฬาไม่มีเงินเพียงพอ สำหรับใช้ฝึกซ้อมและเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์
• การระดมเงินผ่าน Hometown Tax เป็นอีกช่องทาง ที่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่นักกีฬาฟันดาบ ให้มีโอกาสทำตามความฝัน
ที่มา: https://www.furusato-tax.jp/gcf/1232?top_gcf_gcf
ถอดบทเรียนความสำเร็จ
จากข้างต้นที่กล่าวถึง key success ที่สำคัญสองประการที่ทำให้ Hometown Tax ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การลด ละ เลิกแบบฟอร์ม One-stop service และการเพิ่มเพดานลดหย่อนภาษี ในหัวข้อนี้จึงมาขยายเพื่อให้เข้าใจกระบวนการดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
1. Platform และ One-stop service ช่วย “ลด ละ เลิก” ความซับซ้อนในการยื่นภาษี Hometown tax
1.1) แบบเดิม “ผู้บริจาค” จะต้องคำนวณเพดานลดหย่อนและกรอกแบบฟอร์มขอลดหย่อนภาษีเอง
1. คำนวณเงินได้ว่าจะลดหย่อนได้เท่าไหร่
• ภาษีที่อยู่อาศัย อัตรา 10%
• ภาษีเงินได้แตกต่างกันตามฐานรายได้และลักษณะโครงสร้างครอบครัว
2. คำนวณเพดานเงินบริจาคที่ลดหย่อนได้
• บริจาคตั้งแต่ 2,000 เยนขึ้นไป สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ และหักเครดิตภาษีที่อยู่อาศัย แต่ไม่เกิน 20% ของภาษีที่อยู่อาศัย
3. บริจาคเงินให้ท้องถิ่นและติดตามผล
• เลือกบริจาคให้ท้องถิ่นใดก็ได้
• ได้รับของสมนาคุณ/ ใบเสร็จรับเงิน
• ติดตามผลการใช้เงินบริจาคและความสำเร็จโครงการที่สนับสนุน
4. ยื่นชำระ/ลดหย่อนภาษีประจำปี
• รวบรวมหลักฐานการบริจาค นำไปยื่นลดหย่อนด้วยตนเอง
• หรือผ่านระบบ One-stop service แต่ช่องทางนี้บริจาคเงินให้แก่ท้องถิ่นได้ไม่เกิน 5 แห่ง
1.2) แบบใหม่ มี Platform แบบ One-stop service* ที่ช่วยลดขั้นตอน ให้แก่ ผู้บริจาค และเพิ่มช่องทางสื่อสารให้กับผู้รับบริจาค ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เช่น เว็บไซต์ https://www.furusato-tax.jp/ ของ TRUST BANK, Inc. ที่เชื่อมโยงระบบงานต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้ใช้บริการแบบครบวงจร
1. ลดความซับซ้อนให้กับผู้บริจาค โดยลด 4 ขั้นตอนให้อยู่ใน Platform เดียว
• ระบบช่วยคำนวณภาษี และเพดานเงินบริจาคที่ลดหย่อนได้
• ระบบติดตามสถานะของสมนาคุณ และหลักฐานการบริจาค
• รวบรวมประวัติการบริจาค
• อำนวยความสะดวกในการขอคืนภาษี
2. ช่วยอำนวยความสะดวก ผู้รับบริจาค (ท้องถิ่น)
• ช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้า และนโยบายการพัฒนาท้องถิ่น
• กิจกรรมระดมทุนกรณีภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ
3. เชื่อมโยงระบบงาน ผู้บริจาคและผู้รับ
• เป็นพื้นที่กลางให้กับผู้บริจาคและผู้รับบริจาค
• ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และชำระบัญชีสิ้นวัน
2. โครงสร้างระบบภาษีญี่ปุ่นออกแบบให้คนมีส่วนร่วมในการเสียภาษีให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น
จากเดิมที่ระบบโครงสร้างภาษีญี่ปุ่นได้มีการออกแบบให้มีการเสียภาษีให้แก่ท้องถิ่นผ่านที่อยู่อาศัย ซึ่งมีส่วนสำคัญให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ประกอบการการเพิ่มเพดานเงินบริจาคของ Hometown Tax ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้มากกว่าเดิม จึงมีส่วนผลักดันที่จูงใจให้คนอยากจะบริจาคให้กับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น
จากความสำเร็จของญี่ปุ่น ทำให้หลายประเทศสนใจศึกษา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง
หลายๆ ประเทศก็เกิดปัญหาความเหลือมล้ำระหว่างเมืองใหญ่กับเมืองรอง เมื่อเห็นความสำเร็จของ Hometown Tax ในญี่ปุ่น จึงเกิดความสนใจที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศของตนเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีประเทศไหนได้เอามาใช้จริง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและวางแผนโดยเฉพาะด้านกฎหมาย เพื่อรองรับการนำ Hometown Tax ไปใช้ในอนาคต
มองญี่ปุ่น มองไทย สู่การนำมาประยุกต์ใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำบ้านเกิด
จากการถอดบทเรียน Hometown Tax ของญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีมิติที่ไทยอาจลองนำมาประยุกต์ใช้ได้ อาทิ การสร้างแรงจูงใจให้คนอยากบริจาคเงินให้กับท้องถิ่นมากขึ้น ด้วยการให้ของสมนาคุณหรือสามารถนำเงินบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเป็นการต่อยอดการรับบริจาคที่บางท้องถิ่นมีการระดมเงินผ่านกองทุนต่าง ๆ (เช่น กองทุนผ้าป่า) อยู่แล้ว
ดังนั้น หากสามารถเพิ่มช่องทางการระดมเงินทุนให้มีความหลากหลายและดึงดูดได้มากขึ้น เงินบริจาคเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้สนับสนุนและตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างตรงจุดและต่อเนื่องมากขึ้น
ที่ผ่านมา...ไทยมี 2 ตัวอย่างท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในการระดมเงินทุนและนำเงินบริจาคไปแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
1. ระดมเงินทุนแก้จน “สร้างบ้าน สร้างงาน” ให้ผู้ยากไร้
เทศบาลตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
• 64 ครัวเรือนเป็นผู้ยากไร้ ขาดแคลนที่อยู่อาศัยและรายได้ ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน
• เทศบาลได้ระดมเงินทุนผ่านการลงขันผ้าป่าแก้จน เพื่อสร้างบ้าน โรงเรือน และมอบอุปกรณ์เพื่อให้ครัวเรือนมีอาชีพ เช่น เมล็ดพันธุ์ พันธุ์สัตว์ ภายใต้โครงการ กาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล 2019 “คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
• ปัจจุบันครัวเรือนผู้ยากไร้ ได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างอาชีพเกิดรายได้อย่างยั่งยืน
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า (2561) กาฬสินธุ์ลงขันทอดผ้าป่าแก้จนสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้
2. อบต. เข้มแข็ง พร้อมพัฒนาสวัสดิการดูแลประชาชน
อบต. หนองป่าครั่ง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
• ในอดีตเป็นชุมชนที่มีโครงสร้างพื้นฐานไม่ดี ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา พร้อมใช้งานได้ทั่วถึง
• อบต. ได้วางแผนการพัฒนา มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อนล้ำ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการประกอบอาชีพ สวัสดิการ และการศึกษา
• จัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต” จากจิตอาสา และบางโครงการได้ระดมเงินบริจาคจากชาวบ้านในพื้นที่
• ปัจจุบันมีสวัสดิการแก่ชุมชน ได้แก่ ศูนย์เจริญวัย-เด็กเล็ก สร้างโรงพยาบาลด้วยตนเอง รถรับ-ส่งนักเรียน ฯลฯ
ที่มา: ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง (2563) ความคิดและการทำงานเมืองแห่งสวัสดิการของสมคิด เลิศเกียรติดำรง นายกเทศมนตรีเมืองหนองป่าครั่ง
หากไทยสนใจที่จะนำแนวคิด Hometown Tax มาประยุกต์ใช้ คาดว่าหลายภาคส่วนจะได้รับประโยชน์ แต่ทั้งนี้ ไทยอาจต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของประเทศ โดยยึดหลักการ “โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่สร้างภาระ”
ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับจากการประยุกต์ใช้นโยบาย Hometown Tax
1) ภาครัฐ
• มีเครื่องมือทางการคลังหลากหลาย
• อาจได้รับอานิสงส์จากการที่มีผู้ยินดีเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น
2) ผู้บริจาค
• มีช่องทางลดหย่อนภาษีมากขึ้น • มีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิด
• มีโอกาสได้รับของสมนาคุณ • ช่วยอุดหนุนวิสาหกิจชุมชน
3) ท้องถิ่น (ผู้รับบริจาค)
• มีแหล่งรายได้มากขึ้น • มีอิสระทางการคลังมากขึ้น
• ลดการพึ่งพิงงบประมาณประเทศ • เกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น
4) ประชาชนในพื้นที่
ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการ
5) ประชาชนทั่วไป
มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เงินบริจาคภัยพิบัติ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการรวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หากไทยจะลองประยุกต์ใช้ Hometown Tax
1) การประยุกต์ใช้ Hometown Tax ในระยะแรก อาจจะทดลองใช้ในขอบเขตที่จำกัด (Sandbox)
เพื่อให้ภาครัฐสามารถติดตามประสิทธิภาพของนโยบายได้ใกล้ชิด เข้าใจปัญหา และหาแนวทางแก้ปัญหาก่อนนำไปใช้ทั้งประเทศ เช่น ทดลองใช้กับจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวน้อย 10 อันดับแรก
2) กำหนดสัดส่วนมูลค่าของสมนาคุณต่อเงินบริจาคให้เหมาะสม
เพื่อให้ท้องถิ่นมีเงินทุนเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายของสมนาคุณแล้ว เช่น กำหนดที่ 30% ของเงินบริจาคคล้ายประเทศญี่ปุ่น
3) ของสมนาคุณอาจอยู่ในรูปแบบของการบริการ หากสอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมมากกว่าไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในรูปของสินค้าเท่านั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้บริจาคมากขึ้น เช่น แพ็กเกจบริการ ส่วนลดค่าที่พัก ส่วนลดค่าร้านอาหาร
4) ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมกันนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยขับเคลื่อนนโยบาย
เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประยุกต์ใช้ระบบ e-Donation เชื่อมโยงโครงข่ายด้านบริการโอนชำระเงินระหว่างผู้บริจาค ผู้รับบริจาค และภาครัฐ
5) นำไปต่อยอดเป็นช่องทางระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เช่น สนับสนุนธุรกิจสมัยใหม่ (Startup)
เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่นทั้งในด้านสินค้าและบริการ เช่น สินค้าสาธารณะที่จำเป็นในพื้นที่ อาทิ ระบบติดตามรถสาธารณะ เป็นต้น
ขอขอบคุณผู้สนับสนุนข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอแนะ
1) องค์การบริหารส่วนตำบลตระแสง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ 2) กองทุนหมู่บ้าน บ้านตระแสง ตำบลตระแสง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ 3) สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น กระทรวงมหาดไทย
- บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย -
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ttps://sites.google.com/site/newonle/khwam-pen-mateddy-bear
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/