ข้อเท็จจริงคือพรมแดนทางทะเลระหว่างไทยและเมียนมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเขตแดนและยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ ดังนั้นการออกมายอมรับอย่างเปิดเผยว่าเรือไทยอยู่ในน่านน้ำเมียนมา เรื่องนี้อาจเป็นแบบอย่างสำหรับการเจรจาในภายหลังระหว่างสองรัฐที่อ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนต่างๆก็เป็นได้
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยตอนนี้ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นก็คือปัญหาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน กรณีนี้ทางด้านของสำนักข่าว The Diplomat ของสหรัฐอเมริกาได้ออกบทวิจารณ์ตอนหนึ่งระบุว่าในเรื่องของการจัดการปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านนั้น รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยยังขาดกลยุทธ์ในการสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจปัญหา
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำบทความของ Diplomat มานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
@การสูญเสียความสามารถในการควบคุมสารที่ส่งออกไป
ย้อนไปก่อนที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคฝ่ายค้านตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยได้คัดค้านการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เริ่มการเจรจาอีกครั้งกับกัมพูชา โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงว่าบันทึกความเข้าใจหรือ MOU มีความเสี่ยงต่อบูรณภาพดินแดนของไทย
ในเดือน มิ.ย.นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้เพื่อให้ขอยกเลิก MOU ปี 2544 ระบุเหตุผลว่า MOU นั้นเป็นสนธิสัญญาและจำเป็นต้องมีการให้สัตยาบันจากรัฐสภา
ต่อมาในเดือน ก.ย.ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธคำร้องของนายไพบูลย์ อ้างว่านายไพบูลย์ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ แต่การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาก็ยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็พยายามเพื่อให้มีการยกเลิก MOU ฉบับนี้ พร้อมกับสร้างความสับสนว่าข้อตกลงใน MOU นั้นระบุอะไรกันแน่ ควบคู่ไปกับการปลุกระดมให้กลุ่มชาตินิยมในประเทศไทยมีความกลัวว่าประเทศไทยเสี่ยงต่อการยกเกาะกูดให้กัมพูชา หากการเจรจานี้ยังดำเนินต่อไป
ความสับสนนี้ได้กลายเป็นภาระโดยตรงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะนอกจากรัฐบาลจะขาดความชัดเจนของนโยบายแล้ว พรรคยังล้มเหลวเรื่องการสื่อสารนโยบายของตนด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเจรจากับทางกัมพูชาอย่างแน่นอน
จนในที่สุดเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้อนุญาตให้ นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศต่อสาธารณะว่าในประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับ MOU และต่อจุดยืนของรัฐบาลไทยว่าการอ้างสิทธิ์ของกัมพูชาบนเกาะกูดนั้นไม่สมเหตุสมผลและไม่ยึดตามหลักการกฎหมายที่ว่าเกาะนี้เป็นดินแดนของไทยอย่างแท้จริง อีกทั้ง MOU นั้นเป็นเพียงกรอบการทำงานที่ตกลงเอาไว้สำหรับการเจรจาเท่านั้นและการเจรจาใดๆทั้งในประเด็นเรื่องของพื้นที่ส่วนบนและพื้นที่ส่วนล่างของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) การเจรจาซึ่งรวมถึงทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน การเจรจาเรื่องเกาะกูด การเจรจาเหล่านี้จะต้องดำเนินการคู่ขนานไปทั้งหมด
“ทั้งไทยและกัมพูชาจะไม่สามารถถอนตัวจาก MOU 2544 ได้อย่างถูกกฎหมาย และการถอนตัวใดๆจะต้องได้รับความยินยอมเสียก่อน” นางสุพรรณวษากล่าว
อย่างไรก็ตามคำอธิบายแค่นี้ดูเหมือนจะไม่เพียงพอ ความจริงคือรัฐบาลไทยกำลังตอบสนองบางอย่างมากกว่าที่ได้มีการแถลงไว้เกี่ยวกับการเจรจา OCA แต่แถลงการณ์จากอธิบดีฯ นั้นถือว่าเป็นการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเพียงฉบับเดียวในกรณีที่เกี่วข้องกับ OCA และ MOU 2544
สรุปก็คือว่ารัฐบาลไทยขาดการสื่อสารสาธารณะในเชิงกลยุทธ์ ส่งผลทำให้ข้อมูลบางอย่างที่ถูกสื่อออกไปเป็นเท็จ และสร้างความเสียหายทางการเมืองค่อนข้างมาก และยังส่งผลต่อประเด็นการเจรจาทวิภาคีค่อนข้างมาก
สื่อกัมพูชาวิเคราะห์ MOU 44 ว่าทำให้กัมพูชาเสียเกาะกูดให้ไทย (อ้างอิงวิดีโอจาก Sorn Dara)
เมื่อเร็วๆนี้ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังได้กล่าวกลางที่ประชุมรัฐสภาว่าการเจรจาครั้งนี้สมควรจะกระทำด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน และสื่อสารว่ารัฐบาลไทยควรที่จะออกกฎหมายระบุว่ากลุ่มผู้ต่อต้านชาตินิยมนั้นสมควรเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่
อันที่จริงความรู้สึกชาตินิยมเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์ในดินแดนได้นําไปสู่ความรุนแรงระหว่างไทยและกัมพูชาในอดีตที่ผ่านมา กรณีแรกคือการเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญในปี 2546 เนื่องจากข้อกล่าวหาว่านักแสดงหญิงชาวไทยอ้างว่านครวัดเป็นของประเทศไทย ทั้งที่ไม่ได้หลักฐานว่ามีการกล่าวเช่นนั้น กรณีที่สองคือสงครามชายแดนสั้น ๆ และการปะทะกันทางทหารตั้งแต่ปี 2552-2554 เมื่อลัทธิชาตินิยมไทยเล่นประเด็นเหนือเขาพระวิหารที่เป็นข้อพิพาท
@ความตึงเครียดชายแดนเมียนมา-ไทย
กลยุทธ์การสื่อสารที่ไม่ประสานกันของรัฐบาลไทยยังทำให้เกิดผลเสียในเหตุการณ์ล่าสุดที่ชายแดนทางทะเลระหว่างไทยและเมียนมา ในช่วงเย็นของวันที่ 30 พ.ย. เรือประมงไทยกลุ่มหนึ่งถูกเรือของกองทัพเรือเมียนมาเข้าใกล้ในทะเลอันดามัน เรือประมงหนึ่งลําถูกกองทัพเรือเมียนมายิง และเรือประมงไทยจำนวนหนึ่งถูกบังคับเทียบท่าเรือในเมียนมา
เป็นอีกครั้งที่การสื่อสารของรัฐบาลไทยออกมาในลักษณะโกลาหล โดยพล.ร.ท.สุวัจ ดอนสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 (ผบ.ทรภ.3) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ระบุว่าเรือไทย "อาจรุกล้ำน่านน้ํา เข้าอาณาเขตของเมียนมา" เป็นระยะทาง 3 ไมล์ทะเล แต่ต่อมาในเย็นวันเดียวกันทวิตเตอร์ของกองทัพไทยได้ระบุว่ามีการคาดเดาว่าเรือประมงไทยอาจรุกเข้าไปในเมียนมาถึง 4-5.7 ไมล์ทะเล
ในที่สุด เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. น.ส.แพทองธาร ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ประณามการใช้ความรุนแรง และแจ้งให้สาธารณชนทราบว่ามีการยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการกับคณะกรรมการชายแดนร่วมไทย-เมียนมา และเรียกเอกอัครราชทูตเมียนมามามาพูดคุย และสัญญาว่าจะให้ข้อมูลต่อสาธารณชนเป็นประจํา
แต่แม้ว่าแถลงการณ์ของ น.ส.แพทองธารส่วนใหญ่เนื้อหาจะดูสอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติ แต่ก็เน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาในการสื่อสารในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเจอวิกฤต เนื่องจากรัฐบาลออกมาให้ข่าวหลังจากแหล่งข่าวทางการสองรัฐสองแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าเรือไทยจะเข้าไปในน่านน้ำเมียนมาจริง แต่ก็ไม่เป็นมืออาชีพและขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่งที่แหล่งข่าวทางการของรัฐบาลไทยจะออกมายอมรับในเรื่องนี้
ข้อเท็จจริงคือพรมแดนทางทะเลระหว่างไทยและเมียนมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเขตแดนและยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ ดังนั้นการออกมายอมรับอย่างเปิดเผยว่าเรือไทยอยู่ในน่านน้ำเมียนมา เรื่องนี้อาจเป็นแบบอย่างสำหรับการเจรจาในภายหลังระหว่างสองรัฐที่อ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนต่างๆก็เป็นได้
กรณีไทยประท้วงเหตุการเมียนมายิงเรือประมงไทย (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
ทั้งนี้ถ้าหากพื้นที่ไม่ได้มีการกำหนดอย่างเป็นทางการตามกฎหมายโดยสองรัฐร่วมกัน หลักการปฏิบัติที่ควรทำก็คือทางการไม่ควรจะยอมรับว่าพื้นที่ตรงจุดใดจุดหนึ่งเป็นของอีกรัฐ เพราะนี่อาจจะส่งผลกระทบบ่อนทำลายต่อการอ้างสิทธิ์ในดินแดนของรัฐได้
@ต้องมีกลยุทธ์ที่จำเป็น
การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขาดความสนใจ และให้ความสำคัญกับการสื่อสารสาธารณะทำให้ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลนำเอาข้อความไปเล่าในอีกรูปแบบหนึ่ง และสร้างความสับสนในหมู่ประชาชน ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีพื้นที่สื่อให้ตัวเอง มีการสื่อสารในเชิงรุกล่วงหน้าก่อนอีกฝ่าย
โดยในช่วงเวลาหลายเดือนก่อนหน้าจะมีการเจรจา OCA รัฐบาลควรจะยืนยันให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับกรอบ MOU 2544 เสียก่อน และสื่อสารให้ทราบเกี่ยวกับจุดยืนพื้นฐานของไทยเกี่ยวกับข้อพิพาทดินแดนกับกัมพูชา โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศควรออกทีวี,วิทยุ ช่วงยูทูป,รายการของคอมเมนเตเตอร์และผู้สื่อข่าวที่มียอดติดตามให้มากกว่านี้
สำหรับข้อความที่จะสื่อสารต้องมีลักษณะสอดคล้องกับประเด็นและเข้าใจง่าย การสื่อสารโดยใช้แค่แถลงการณ์เพียงแผ่นเดียวนั้นไม่เพียงพอ โดยกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกรัฐบาลต้องแจ้งและอัปเดตให้สาธารณชนทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขเรื่องเล่าและแก้ข่าวเท็จเป็นประจําทุกสัปดาห์และทุกเดือน
ประวัติและพื้นฐานของ OCA นั้นเข้าใจได้ไม่ยาก และแนวทางของ MOU ปี 2544 ก็เข้าใจไม่ยาก อย่างไรก็ตาม การขาดกลยุทธ์การสื่อสารสาธารณะของรัฐบาลทําให้เสียงที่ไม่มีความสําคัญมีอิทธิพลมากเกินไป
ส่วนกรณีของเมียนมาไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความจําเป็นว่าการสื่อสารควรจะออกมาในทิศทางเดียวกันเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความจําเป็นสําหรับลําดับชั้นและศูนย์กลางของการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ด้วย
เจ้าหน้าที่ของรัฐและข้าราชการไม่ควรออกแถลงการณ์ต่อสาธารณะก่อนที่จะมีแถลงการณ์ที่ชัดเจนและมีลักษณะสอดคล้องกันจากบนลงล่าง ซึ่งการสื่อสารในขั้นแรกควรจะดำเนินการผ่านสองช่องทางเท่านั้นได้แก่สํานักนายกรัฐมนตรีหรือโฆษกรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แล้วหลังจากที่มีการสื่อสารอย่างเป็นทางการแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆก็สามารถที่จะแสดงความเห็นต่อสาธารณะได้
ทั้งนี้การสื่อสารและการทูตในภาวะวิกฤตต้องการลําดับชั้นที่เข้มงวดสำหรับการไหลของข้อมูล โดยความรัดกุมของข้อมูลที่ว่านี้จะต้องดำเนินผ่านการแจ้งระเบียบปฏิบัติ ความสามัคคีกันของการเล่าเรื่อง การกระทำ และตอบสนอง เพื่อให้รัฐบาลได้มีการวัดผลและดำเนินการอย่างรอบคอบในการส่งสารไปยังผู้รับสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถ้ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาการสื่อสารของตัวเอง สิ่งนี้อาจจะลามทำให้เกิดการประทุของกลุ่มชาตินิยมขึ้นมาได้ โดยสิ่งที่จะกระตุ้นลัทธิชาตินิยมอันทรงพลังได้ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นประเด็นละเอียดอ่อนเช่นเรื่องของอํานาจอธิปไตยของชาติ
เหตุการณ์นี้เคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว เช่นกรณีการโต้เถียงเรื่องเขาพระวิหาร จนลามไปถึงการปะทะกันบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ
ดังนั้น การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบ และมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งสําคัญในการป้องกันการเกิดลัทธิชาตินิยมเหล่านี้ หากรัฐบาลไทยต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับเพื่อนบ้านและก้าวหน้าในการแก้ไขข้อพิพาททางทะเลและดินแดนที่ค้างอยู่
เรียบเรียงจาก: https://thediplomat.com/2024/12/in-recent-border-controversies-thailands-government-has-been-missing-in-action/