‘คลัง-ธปท.-แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ’ เปิดตัวโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ดึงเงิน ‘FIDF-ธนาคาร’ กว่า 2 แสนล้าน จ่ายดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ ‘บ้าน-รถ-SMEs’ ที่มี ‘วินัย’ เป็นเวลา 3 ปี พร้อม ‘ปิดหนี้’ ให้ลูกหนี้ NPL หนี้ไม่เกิน 5 พันบาท แลกจ่ายหนี้ ‘บางส่วน’
..................................
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม พร้อมทั้งลงนามบันทึกข้อตกลงความมือและหนังสือแสดงเจตนารมณ์
สำหรับโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลามาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ)
ทั้งนี้ มาตรการ ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตให้กับลูกหนี้ โดยค่างวดที่ลดลงจะทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเหลือสำหรับดำรงชีพเพิ่มเติมระหว่างอยู่ในมาตรการ ขณะที่ดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นจะช่วยให้ภาระหนี้โดยรวมของลูกหนี้ลดลง
มาตรการที่ 2 ‘จ่าย ปิด จบ’ เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน โดยมาตรการ ‘จ่าย ปิด จบ’ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก ‘หนี้เสีย’ เป็น ‘ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงรายละเอียดโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ว่า ในช่วงเริ่มต้น การช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ จะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่
มาตรการที่ 1 ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้น (Principal first)
1.1 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
(1) ลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น
(2) พักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ
ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น
1.2 คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
-สินเชื่อบ้าน/บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
-สินเชื่อเช่าซื้อ/จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
-สินเชื่อเช่าซื้อ/จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท
-สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
-กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด
(2) เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567
(3) มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ต.ค.2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(3.1) เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
(3.2) เป็นหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แต่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565
1.3 เงื่อนไขของการเข้าร่วมมาตรการ
(1) ลูกหนี้ไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
(2) ลูกหนี้รับทราบว่า จะมีการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้าร่วมมาตรการ
(3) หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่มาตรการกำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ได้ เช่น ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน ลูกหนี้จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการ
(4) หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมในการเข้าร่วมมาตรการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่
มาตรการที่ 2 ‘จ่าย ปิด จบ’ เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน เพื่อเปลี่ยนสถานะจากหนี้เสียเป็นปิดจบหนี้ และให้ลูกหนี้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้
1.1 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
ลูกหนี้จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่ายและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
1.2 คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ต.ค.2567
(2) มีภาระหนี้ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)
นอกจากนี้ ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่นๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ ภายใต้โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.2567 เวลา 8.30 น. ถึงวันที่ 28 ก.พ.2568 เวลา 23.59 น. ทั้งนี้ ลูกหนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร 1213 หรือ call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการและกดเบอร์ต่อ 99
@เปิดข้อมูล‘หนี้บ้าน-รถ-SMEs’ บัญชีค้างชำระเกิน 30 วันพุ่ง
นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่หลายภาคส่วนยังฟื้นตัวช้า เช่น ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะสินค้าจากจีน หรือบางภาคส่วนยังคงหัวทิ่มอยู่ ในขณะที่รายได้ของประชาชนเอง แม้ว่าจะทยอยฟื้นตัวเช่นกัน แต่เนื่องจากหลายเซ็กเตอร์ยังฟื้นตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลง
“ถ้าดูจากข้อมูล จะพบว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีวงเงินต่ำกว่า 5 ล้านบาท มีบัญชีที่ค้างชำระเกิน 30 วัน พุ่งขึ้นมาโดยตลอด ในขณะที่ยอดสินเชื่อที่สูงกว่านั้น ก็ทรงๆตัว มีขึ้นบ้างลงบ้าง สะท้อนให้เห็นว่าคนตัวเล็กที่ผ่อนบ้าน ดูจะมีความยากลำบากที่ชัดเจนกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อก็คล้ายๆกัน มีจำนวนบัญชีค้างชำระเกิน 30 วัน ค่อนข้างสูง
ขณะเดียวกัน SMEs ที่มีสินเชื่อต่ำกว่า 5 ล้านบาท ที่ปล่อยไปในช่วงโควิด แต่เมื่อการฟื้นตัวมันลากยาว และใช้เวลานานกว่าที่คาด ทำให้มีบัญชีที่ค้างชำระฯ ค่อนข้างเยอะ โดยจะเห็นว่าในช่วงปี 2565-2566 มีหนี้เสียในกลุ่มนี้ค่อนข้างเยอะ เราจึงมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้ ให้นานขึ้นและลึกขึ้น เพื่อรอให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง” นางรุ่ง กล่าว
นางรุ่ง กล่าวว่า โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ มีหลักการสำคัญ คือ เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่มีโอกาสฟื้นตัว เพียงแต่การฟื้นตัวอาจทอดยาวออกไปบ้าง ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ให้สามารถรักษาสินทรัพย์ของตัวเองไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ รถมอเตอร์ไซค์ และสถานประกอบการ หรือกิจการที่มีขนาดเล็ก โดยเมื่อพ้นจากช่วงมาตรการ 3 ปีไปแล้ว ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวจะตัวเบาขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะไม่ถูกหน่วงด้วยภาระหนี้เดิม
“ในช่วง 3 ปีนั้น ถ้าท่านทำได้ ดอกเบี้ย ก็คือ 0% นี่คือมาตรการที่ไม่เคยมี ตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา เราไม่เคยให้ลูกหนี้ที่ดอกเบี้ย 0% แต่มาตรการนี้คงไม่ใช่ให้ดอกเบี้ย 0% เลย แต่ให้ทดไว้ก่อน ถ้าลูกหนี้ทำได้ตามเงื่อนไข ก็จะยกดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้ ดังนั้น ถ้าท่านทำได้ในช่วง 3 ปีนั้น ก็เท่ากับว่า ไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งตรงนี้ก็มีความสำคัญ เพราะจะทำให้เงินต้นลดลงเร็วขึ้น และเมื่อหมดมาตรการไป ตัวลูกหนี้จะมีหนี้ก้อนที่เล็กลง
เราจะเข้าไปช่วยตรงนี้ ซึ่งเราในที่นี้หมายถึงภาครัฐ สถาบันการเงิน และจริงๆแล้วก็มีตัวลูกหนี้ด้วย โดยภาครัฐจะลด FIDF Fee ให้กับสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งในเงินตามมาตรา 28 ด้วย โดยจะนำเงินตรงนี้ไปชดเชยดอกเบี้ยในส่วนของลูกหนี้ที่พักไว้ให้ครึ่งหนึ่ง แล้วอีกครึ่งจะมาจากธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้ หรือร่วมจ่าย (Co-payment) กันคนละครึ่ง แต่ลูกหนี้ก็ต้องให้ด้วย คือ ให้วินัยของท่าน ท่านต้องมีวินัย ต้องชำระค่างวดได้ตามที่ตกลงกัน” นางรุ่ง กล่าว
@‘รัฐ-แบงก์’ลงขัน 2 แสนล้าน ช่วยลูกหนี้ได้ 2.1 ล้านบัญชี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ภาครัฐและเอกชนจึงร่วมกันออกโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ขนาดเล็ก ครอบคลุมลูกหนี้รวมจำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท
“ทุกอย่างต้องใช้เม็ดเงินในการช่วย เมื่อเช้า (11 ธ.ค.) เวลา 11.00 น. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่านวาระมาตรการแก้หนี้ฯ โดยเงินที่จะนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) นั้น เราขอลดลงเหลือแค่ครึ่งเดียว โดยมีหลักการว่า น่าจะประมาณ 3 ปี แต่จะทำเรื่องนี้เป็นปีๆไป ปีหนึ่งก็จะมีเม็ดเงินประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท จากในส่วนของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง
ส่วนสถาบันการเงินเอง ก็เข้ามาช่วยเหลือในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันหรือเท่ากัน ก็แปลว่าจะมีเงินที่จะเข้ามาช่วยเหลือปีละ 7.8 หมื่นล้าน ถ้า 3 ปี ก็ 2 แสนกว่าล้านบาทแล้ว ผมว่าช่วยได้เยอะเลย ดังนั้น เมื่อมีสิ่งเหล่านี้เข้ามาช่วยแล้ว แม้ว่าจะมีเป้าหมายจะเป็นกลุ่มคนที่มาลงทะเบียน ซึ่งก็หวังว่าจะมาลงทะเบียนกันเยอะ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะเห็นเงินต้นของลูกหนี้ที่ลดลง ลูกหนี้เป็นเด็กดีต่อเนื่อง และพร้อมสู้ แล้วก็จะนำไปสู่ NPL (หนี้เสีย) ที่ลดลง” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลยังมีมาตรการเพิ่มเติม โดยให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ เช่น ลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ หรือหยุดดอกเบี้ยชั่วคราว ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท/ปี โดยมีแหล่งเงินจากเม็ดเงินตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และเงินนำส่งกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) อีก 0.125% หรือครึ่งหนึ่งจาก 0.25%
ขณะที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นงานที่ ธปท. ให้ความสำคัญและผลักดันมาต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้มี 2 จุดสำคัญที่ต่างจากที่ผ่านมา คือ (1) การปรับโครงสร้างหนี้ที่เน้นตัดเงินต้น และลดภาระผ่อนในช่วง 3 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้
(2) การร่วมสมทบเงิน (Co-payment) จากภาครัฐและสถาบันการเงินเพื่อช่วยลดภาระจ่ายของลูกหนี้ โดยชื่อของโครงการนี้สะท้อนความตั้งใจของทุกฝ่าย โดย ‘คุณสู้’ สะท้อนถึงลูกหนี้ที่พร้อมจะสู้ต่อในการแก้ไขปัญหาหนี้ ส่วน ‘เราช่วย’ คือ ภาครัฐและสถาบันการเงินที่พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อลดภาระและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ความสำเร็จของโครงการนี้ จึงถือเป็นความร่วมมือจากทั้งลูกหนี้ ภาครัฐ และเจ้าหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ จะครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาส 1.9 ล้านราย (2.1 ล้านบัญชี) ยอดหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท โดยเป็นมาตรการชั่วคราว หรือมีระยะเวลา 3 ปี ซึ่งสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ที่คาดว่าจะทยอยกลับเข้ามาในช่วงเวลาข้างหน้า ที่สำคัญโครงการฯนี้เน้นไปที่การปฏิบัติให้ได้ผลจริง โดย ธปท.จะติดตามให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขและต้องการเข้าร่วมโครงการฯ
ด้าน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนภาครัฐในโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่มได้ราว 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท โดยการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการนี้
สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยในการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากโครงสร้างหรือข้อจำกัดของระบบ และภายใต้โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ นั้น ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอย่างเป็นธรรม กระตุกพลังในการปรับโครงสร้าง เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
Mr.Giorgio Gamba ประธานสมาคมธนาคารนานาชาติ กล่าวว่า สมาคมธนาคารนานาชาติพร้อมสนับสนุนโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs และมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศอย่างเต็มที่ โดยเห็นพ้องกับแนวทางการดำเนินการของโครงการ
โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการสมทบเงินร่วมกับภาครัฐ (Co-payment) ผ่านกลไกการจัดตั้งแหล่งเงินทุนกลางภายใต้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) โดยสมาคมธนาคารนานาชาติยินดีให้ความร่วมมือและดำเนินการตามโครงการ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้สามารถชำระหนี้และไปต่อได้
ขณะที่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า สถาบันการเงินของรัฐ พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และ ธปท. ในการสนับสนุนโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ อย่างเต็มที่ โดยโครงการนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ และยังมีการออกแบบกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงินควบคู่กับการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ด้วย
ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 2 มาตรการของสถาบันการเงินของรัฐ จำนวนประมาณ 6 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4.5 แสนล้านบาท”
นอกจากนี้ สถาบันการเงินของรัฐอยู่ระหว่างการหารือกับ ธปท. และกระทรวงการคลัง ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ของกลุ่ม Non-bank รวมถึงการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับกลุ่มลูกหนี้ของโครงการนี้
“นอกจากมาตรการนี้แล้ว (โครงการ‘คุณสู้ เราช่วย’) แบงก์รัฐ 4 แห่งจากทั้งหมด 7 แห่ง จะมีมาตรการเสริมขึ้นมาอีก โดยเรามีเงินที่นำส่งกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) 0.25% ต่อปี รัฐบาลกรุณาลดให้เราเหลือ 0.125% ต่อเนื่องไปอีก 1 ปี และเงินส่วนนี้จะนำไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มอื่นๆที่ไม่อยู่ในโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เช่น ลูกหนี้ที่มีประวัติดีแล้วลดดอกเบี้ยให้ หรือทำโครงการแก้หนี้หรือลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ เป็นต้น” นายวิทัย กล่าว