‘กลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ’ เรียกร้อง ‘นายกฯ’ ทบทวน ‘ร่างแผนพีดีพี 2024’ หลังตัวเลข ‘พยากรณ์’ ความต้องการไฟฟ้าฯสูงเกินจริง ดันค่าไฟฟ้า 'แพง’ จี้ปรับปรุง ‘โครงสร้างกิจการไฟฟ้า’ ให้มีการแข่งขันเสรี
...........................................
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) นำโดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ,นายคุรุจิต นาครทรรพ ,ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ,คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ,นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ และนางอานิก อัมระนันทน์ เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แก้ไขปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (PDP2024)
ทั้งนี้ เนื่องจากร่างแผน PDP2024 ฉบับดังกล่าว มีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอีก 14 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2580) ไว้ที่ 112,391 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งสูงมากเกินไปนั้น จะนำไปสู่การเพิ่มกำลังผลิตและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากจนเกินความจำเป็น ทำให้เกิดการวางแผนลงทุนสร้างกำลังผลิตใหม่ที่ไม่มีความคุ้มค่า และกลายเป็นต้นทุนแฝงที่จะเป็นภาระต่อผู้บริโภคภายใต้ระบบการกำหนดค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน
“จากร่างแผน PDP2024 ที่รัฐนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็น พบว่าในช่วงปลายแผนฯปี พ.ศ.2580 เขาคาดว่าความต้องการไฟฟ้าในระบบจะเพิ่มขึ้นไปถึง 112,391 MW มันเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของปัจจุบัน และการเพิ่มขึ้นขนาดนี้ จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เข้ามามาก เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน แต่เนื่องจากไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และลม เป็นพลังงานที่ไม่เสถียร ก็จะมีสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมาแบ็คอัพด้วย
แต่เนื่องจากยังไม่มีการเปลี่ยนวิธีคิดราคา โรงไฟฟ้าเหล่านี้ (ก๊าซธรรมชาติ) ก็จะอยู่ในระบบ PPA (สัญญาซื้อขายระยะยาว) และมีค่าความพร้อมจ่าย (AP) ไปเรื่อยๆ เราเลยเป็นห่วงว่า ปัจจุบันไฟฟ้าในระบบก็ใช้น้อยลง เพราะคนผลิตไฟฟ้าเองมากขึ้น เช่น ในนิคมอุตสาหกรรมเขาก็ใช้โรงไฟฟ้าของเขาเอง โซลาร์ฟาร์มที่ขายอยู่ในสายจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบ แต่น่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3,000 MW
แล้วก็มีปัญหาว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตอย่างที่พยากรณ์ไว้ภายใต้แผน PDP ปัจจุบัน และยังมาเจอปัญหาโควิดอีก อีกทั้งจำนวนประชากรก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ที่บอกว่ามี 70 ล้านคน จริงๆแล้วมี 66 ล้านคนเท่านั้น รวมถึงมีบางโครงการฯ (ผลิตไฟฟ้า) ที่เกิดขึ้นระหว่างทางภายใต้นโยบายพิเศษ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นจะมีต้องการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในแผน PDP2024 ใหม่ ไม่ใช่ตัวเลข 112,391 MW อย่างที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ ถ้าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ควรจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขว่า ไม่ต้องเป็นสัญญาแบบ PPA ทั้งหมดได้หรือไม่ เพราะถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบในปัจจุบัน เราจะต้องจ่ายค่า AP โดยที่เอกชนไม่ต้องผลิตไฟฟ้าก็ได้ โดยระบบที่ควรจะเป็น คือ เขาจะต้องมาแข่งขันลดราคาได้ ให้ความเสี่ยงไปอยู่ที่เขาบ้าง แล้วตอนนี้ประเทศไทยมีสายไฟฟ้าไปทั่วทุกหมู่บ้านแล้ว ปรัชญาจึงควรเปลี่ยนจาก ‘ไฟฟ้ามีทั่วถึง’ เป็นทำอย่างไรให้ไฟฟ้าถูกลง” นายคุรุจิต กล่าว
นายคุรุจิต กล่าวด้วยว่า เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันลดลงและลดภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่มีประมาณ 1 แสนล้านบาท รัฐบาลควรเข้าไปเจรจากับเอกชน เพื่อแก้ไขสัญญาซื้อขายระยะยาว (PPA) เช่น ขอเลื่อนหรือยืดระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ออกไประยะหนึ่ง เพื่อลดภาระค่าพร้อมจ่ายไฟฟ้า (AP) เนื่องจากปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้า 5.1 หมื่น MW ขณะที่ในช่วงหน้าร้อนความต้องการไฟฟ้าฯอยู่ที่ 3.6 หมื่น MW จึงเท่ากับว่ามีปริมาณไฟฟ้าสำรองในระบบ 49% สูงกว่ามาตรฐานโลกที่ไฟฟ้าสำรองเฉลี่ยอยู่ที่ 15%
“ที่ผ่านมาภาคเอกชนเองก็มีการขอแก้สัญญา PPA ไม่ว่าจะเป็นการขอปรับขึ้นอัตรารับซื้อค่าไฟฟ้า การย้ายสถานที่ เป็นต้น แต่รัฐบาลไปเคยไปขอเจรจากับเอกชนเลย” นายคุรุจิต กล่าว
(คุรุจิต นาครทรรพ)
ด้าน นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในกรณีไฟฟ้าที่ผลิตโดย กฟผ. นั้น ค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะถูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งประชาชนต้องรับภาระในส่วนนี้อยู่แล้ว ส่วนกรณีไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อจากเอกชน ค่าไฟฟ้าจะมาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรก คือ ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่สะท้อนต้นทุนในการลงทุนของเอกชน และส่วนที่สอง คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) โดยการรับซื้อไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับเอกชน จะอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว (PPA)
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ในหลายประเทศได้มีการเจรจากับเอกชน เพื่อยืดระยะเวลาในการจ่ายค่า AP ออกไป หรือบางประเทศเจรจาขอลดค่า AP เลยก็มี โดยแนวทางนี้จะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง ก็ควรจะมีการเจรจากับเอกชน เพื่อขอให้เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) และยืดระยะเวลาการจ่ายค่า AP ออกไปได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน แนวทางดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบต่อเอกชนแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลไม่ได้ไปลดกำลังการผลิตไฟฟ้าของเอกชน
@เรียกร้อง‘กพช.’ทบทวนร่างแผน‘พีดีพี 2024’ 3 ประเด็น
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายคุรุจิต ได้อ่านแถลงการณ์ของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เรื่อง ‘ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) ควรปรับปรุงอย่างไร?’ โดยเรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (PDP2024) ใน 3 ประเด็นหลัก พร้อมทั้งมีข้อเสนออื่นๆ ไปยังรัฐบาลด้วย ประกอบด้วย
1.ปรับประมาณการความต้องการไฟฟ้าในระบบในอนาคตให้สอดคล้องกับภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและพัฒนาการผลิตไฟฟ้านอกระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้าในระบบที่มากเกินความจำเป็น
ร่างแผน PDP 2024 (ฉบับรับฟังความคิดเห็นของกระทรวงพลังงานเมื่อมิถุนายน 2567) ตัวเลขพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอีก 14 ปีข้างหน้าสูงมากเกินควร ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีการประเมินการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากนอกระบบ (IPS–Independent Power Suppliers) ต่ำเกินไปและใช้ข้อมูลที่ไม่ทันสมัย ทั้งๆที่มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (Solar PV) ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองในประเทศอยู่ในปัจจุบันอย่างแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน และภาคครัวเรือน
นอกจากนี้ ในอนาคตก็คาดว่าจะมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Direct PPA) ระหว่างเอกชนกันเองมากขึ้น จึงจะมีการใช้ไฟฟ้าจากในระบบน้อยลงจากค่าพยากรณ์ ซึ่งจะมีผลทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในระบบส่งของ กฟผ. สูงเกินความจำเป็น ไปมาก ซึ่งค่าพยากรณ์ที่สูงเกินนั้นทำให้เกิดการวางแผนลงทุนสร้างกำลังผลิตใหม่ที่ไม่มีความคุ้มค่า ทำให้เกิดความสิ้นเปลือง เกิดเป็นต้นทุนแฝงที่จะเป็นภาระต่อผู้บริโภคภายใต้ระบบการกำหนดค่าไฟฟ้าในปัจจุบันที่ต้นทุนทั้งหมดจะถูกนำไปคำนวณรวมผ่านไปสู่ผู้บริโภค (ดูระบบที่ควรจะเป็นในข้อ 3)
2.ควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความเสถียร (Renewables with Reliability) อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน แต่ทั้งนี้ราคาขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดังกล่าวควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมาตรการที่ดำเนินการได้ทันที คือ
-เนื่องจากต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมรวมทั้งราคาของแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานที่ลดลงมาก และยังมีแนวโน้มถูกลงอีกโดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ดังนั้น ในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนต่อจากนี้ไปภายใต้แผน PDP2024 จึงควรกำหนดให้เป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และพลังงานลม (Wind Farm) ที่ต้องพ่วงการติดตั้งแบตเตอรี่หรือระบบจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้สามารถผลิตและจ่ายไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ (Firm)
-ควรใช้ระบบการประมูลแข่งขันด้านราคาไฟฟ้าเสนอขายโดยมีเพดานที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ค่าไฟฟ้าที่ถูกลง เป็นปัจจัยหลักในการคัดเลือกโครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยประกาศหลักเกณฑ์และกติกาในการพิจารณาให้ทราบล่วงหน้าเพื่อให้เกิดความโปร่งใส รวมทั้งให้มีการประมูลเสนอราคาโครงการซื้อไฟฟ้าพลังน้ำในต่างประเทศด้วย และควรส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการค้าขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนซึ่งประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ
-ควรผลักดันนำระบบจัดเก็บภาษีคาร์บอนและระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) มาใช้ในภาคผลิตไฟฟ้าโดยเร็ว เพื่อส่งสัญญาณในการคัดเลือกโครงการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ให้ต่างจากการตัดสินใจคัดเลือกโครงการในปัจจุบันที่พิจารณาจากต้นทุนทางการเงินเท่านั้น (อันทำให้เกิดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าที่จะกลายเป็นการลงทุนที่เสียเปล่า (Stranded Assets) ในอนาคต ซึ่งจะเป็นภาระต่อผู้บริโภคหากระบบปัจจุบันยังคงอยู่)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะพิจารณาต่ออายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ ในแผน PDP2024 ควรพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงทั้งความมั่นคง ราคา และต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมกับ Carbon Footprint ควบคู่กันไปด้วย
-แผน PDP2024 ควรส่งเสริมพลังงานชีวมวล พลังงานจากขยะและก๊าซชีวภาพให้เต็มประสิทธิภาพ โดยเน้นกำหนดมาตรการจัดการกับอุปสรรคที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนกลุ่มนี้เข้ามาในระบบน้อยกว่าที่ควรในช่วงที่ผ่านมา และพิจารณาเพิ่มค่าไฟให้ไฟฟ้าจากขยะเพราะช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งคือ Externality Cost ที่ควรนำมาคิดกับค่าไฟด้วย
-สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ในปลายแผน PDP2024 พ.ศ. 2580 อยู่ที่ประมาณ 51% แต่ยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศที่เสนอต่อ UNFCCC กำหนดสัดส่วนสูงถึง 68% ในปี 2583 ซึ่งหากจริงจังกับเรื่องนี้จะเห็นว่าโอกาสเพิ่มสัดส่วน 17% ใน 3 ปีน่าจะยากมาก ดังนั้นจึงควรเพิ่มสัดส่วน RE ในแผน PDP2024 อย่างมีนัยสำคัญตามแนวทางที่เสนอมาพร้อมกันนี้ อีกทั้งดำเนินการปรับระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้ทันสมัยด้วย (Grid Modernisation / Smart Grid / TPA)
-แผน PDP2024 ควรส่งเสริมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (Floating Solar Farm) โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนของรัฐ รวมถึงพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือพื้นที่อื่นของเอกชนด้วย เพราะจะทำให้โซล่าเซลล์ผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังไม่ต้องสิ้นเปลืองที่ดินอีกด้วย
-ส่งเสริมมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนโซล่าเซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) สำหรับครัวเรือนและ SME ซึ่งอาจจะทำผ่านตัวกลางอย่างบริษัทติดตั้งได้
3.การปรับปรุงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในประเทศให้มีการแข่งขันเสรี
ควรเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันเสรีด้านราคาและคุณภาพบริการ ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าตรงให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยใช้บริการสายส่ง และสายจำหน่ายของการไฟฟ้า (Third Party Access: TPA) โดยมีการคิดค่าบริการผ่านสายส่ง/จำหน่าย (Wheeling Charges) ที่เป็นธรรม ซึ่งในภาวะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Contracted Capacity) อยู่ในระดับสูง (51,000 MW เช่นในปัจจุบัน) เมื่อเทียบกับความต้องการสูงสุด (Peak Demand) ในระบบ (36,000 MW) ค่าไฟฟ้าควรที่จะลดลงตามกลไกของอุปทานอุปสงค์หากกิจการไฟฟ้ามีการแข่งขันที่เสรี
ทั้งนี้ ในการดำเนินการจำเป็นต้องแยกระบบสายส่งไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้เป็นอิสระจากการผลิตไฟฟ้า และมีกลไกในการสร้างความสมดุลในระบบไฟฟ้า โดยกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ควรเป็นลักษณะของสัญญาซื้อขายระยะยาว (PPA) เช่นในปัจจุบัน ในโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเสรีที่เป็น Contestable market ซึ่งจะไม่มีการประมูลและคัดเลือกกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่แบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวอีกต่อไป โดยที่ทั้ง กฟผ. หรือรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนสามารถจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าได้อย่างอิสระ แต่ความเสี่ยงทั้งหมดจะอยู่ที่ผู้ผลิตไฟฟ้านั้นๆ ที่จะต้องแข่งขันกันที่อัตราค่าบริการ
ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) จะเป็นผู้เลือกการผลิตที่เสนอราคาขาย (Bid Tariff) เข้ามาต่ำที่สุดในแต่ละช่วงเวลา อนึ่ง ผู้สนใจลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Data Centre หรือ Digital Hub ที่เป็นข่าว ก็จะต้องสามารถเลือกทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านระบบสายส่งได้ด้วย
ทั้งนี้ กลุ่ม ERS ได้เคยเสนอให้เปิดเสรีกิจการไฟฟ้าเรื่อยมาโดยเสนอเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ในกรณีของกิจการก๊าซที่แม้ได้เปิดให้บุคคลที่สามใช้ท่อก๊าซหลักมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันเต็มรูปแบบควบคู่ไปกับกิจการไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านจะต้องมีแผนงานและมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับ ซึ่งแผน PDP2024 ควรจะเริ่มเตรียมการเปลี่ยนผ่านได้แล้ว
อาทิ ในกรณีที่มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใน PDP2024 ก็จะต้องมีการประมูลราคา สัญญาต้องมีเงื่อนไขให้สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ให้สอดคล้องกับระบบเสรีที่จะเกิดขึ้น และต้องมี Level Playing Field (เช่น เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข้อจำกัดของระบบสายส่งให้เพียงพอและเท่าเทียม ไม่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่อาจถูกครหาว่าไม่โปร่งใสหรือเลือกปฏิบัติ)
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าใหม่หรือการขยายกำลังผลิตของ กฟผ. ควรจะมีกรอบการดำเนินการที่คล้ายคลึงโรงไฟฟ้าเอกชนมากขึ้นเพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่าน เมื่อมีการแยกระบบสายส่งและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้เป็นอิสระจากการผลิตไฟฟ้าแล้ว ภาคการผลิตของ กฟผ. ก็ควรจะมีสิทธิสร้างหรือประมูลสร้างโรงไฟฟ้าแข่งกับเอกชนได้ด้วย
4.ประเด็นอื่นๆ
-แผน PDP2024 ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับมาตรการอนุรักษ์พลังงาน (การประหยัดและการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน) ซึ่งนอกจากช่วยลดอุปสงค์แล้ว ยังเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกที่ลงทุนน้อยมาก อีกทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการและช่วยลดค่าไฟสำหรับผู้บริโภค
-ในกรณีที่ต้องสนองความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ แผน PDP2024 ไม่ควรกำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (IPP) ขึ้นใหม่ในภาคตะวันตก เพราะเป็นการเอื้อต่อผู้ประกอบการเอกชนเฉพาะบางรายและจะทำให้มีต้นทุนซ่อนเร้นในการปรับปรุงวางสายส่งที่มีระยะทางไกลมายังภาคใต้ เกิด Energy Loss และขัดต่อหลักการ Distributed Generation แต่ควรใช้วิธีประเมินต้นทุนรวมและเปิดประมูลราคาเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆด้วย เช่น สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซที่นำเข้า LNG ในภาคใต้ หรือเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพ (รวมถึงชีวมวลและไฟฟ้าจากขยะ) ในภาคใต้
-โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นทางออกที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหากประเทศไทยจะไปให้ถึง Net Zero GHG Emission อีกทั้งเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR: Small Modular Nuclear Reactor) ได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ประสิทธิภาพและความปลอดภัยไปมาก การที่ PDP2024 ได้กำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้า SMR ในปลายแผนจึงเป็นเรื่องที่ดีที่ควรสนับสนุนและผลักดันให้เห็นผลจริง แต่ควรกำหนดแผนงานที่ชัดเจนทั้งด้านการเข้าเป็นภาคีในพิธีสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์
การออกกฎหมายและกฎระเบียบในด้านการกำกับดูแลและมาตรการและมาตรฐานความปลอดภัย การเตรียมความพร้อมที่จำเป็น การสร้างบุคลากร กำหนดสถานที่ตั้ง และการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน
-ไม่ควรให้ กฟผ. รับภาระค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลไม่ให้ขึ้น เพราะในที่สุดก็จะต้องเป็นภาระต่อผู้บริโภคอยู่ดี เช่น เวลาต้นทุนลดลงค่าไฟฟ้าก็จะไม่ได้ลด หรือถ้าจะให้ กฟผ. เป็นหนี้แสนล้านก็ไม่สามารถทำได้ตลอดไป ในระยะสั้นหากต้องการลดค่าไฟฟ้าควรเจรจาแก้ไขสัญญา PPA กับผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) เพื่อเลื่อนหรือยืดระยะเวลาการคำนวณและคิดราคาค่าความพร้อมจ่ายออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า