เครือข่ายไม่เอาสารพิษ ห้ามรัฐบาลกลับใจไม่เเบน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต ย้ำเป็นสิทธิอธิปไตยไทย มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ ด้านอดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หนุนรัฐเยียวยา มอบเมล็ดพันธุ์พืชคลุมดิน ไม่ควรส่งเสริมใช้สารเคมีตัวอื่นอีก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 19 พ.ย. 2562 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร จัดงานสัมมนา “ทางเลือกเกษตรกรรมไทยหลังแบน 3 สาร” ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี ระบุเครือข่ายฯ ทั้งหมดยืนยันว่า รัฐบาลต้องเดินหน้ายกเลิกใช้สารเคมีทั้งสามชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีกระแสเรียกร้องอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าข้าวสาลีและถั่วเหลือง รวมถึงผู้เรียกร้องจากประเทศผู้ส่งออกของสินค้าเกษตรที่ให้ไทยครองระดับการตกค้าง ไปจนถึงบางประเทศเรียกร้องให้ไทยทบทวนยกเลิกการใช้สารเคมี
กรณีข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้น ขอสื่อสารไปยังประชาชนและรัฐบาลโดยตรงว่า ข้อเสนอให้ยกเลิกเป็นสิทธิอธิปไตยของไทย โดยมีข้อมูลยืนยันชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ จากการวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ งานวิจัยตีพิมพ์เกี่ยวกับผลกระทบไกลโฟเซตที่ก่อมะเร็ง และงานวิจัยเหล่านั้นได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลต้องยืนยันในการยกเลิกสารไกลโฟเซตของไทย
สำหรับข้อเรียกร้องจากสมาคมบางแห่งนั้นให้มีการเลื่อนยกเลิกพาราควอตออกไป ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า สมาคมนั้นอ้างเหตุผลเพราะการยกเลิกพาราควอต จะทำให้ผลผลิตอ้อยในประเทศลดลงครึ่งหนึ่ง จาก 134 ล้านตัน เหลือเพียง 67 ล้านตัน โดยยืนยันว่า เหตุผลดังกล่าวไม่มีข้อมูลทางวิชาการหรือกระบวนการปฏิบัติมายืนยันเลย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด 6 ชนิด ที่เป็นที่นิยมในการปลูกอ้อยนั้น ปรากฎว่า การใช้พาราควอตให้ผลผลิตต่ำที่สุด
ด้าน นายชนวน รัตนวราหะ อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวไม่เห็นด้วยว่า เมื่อมีการยกเลิกสารเคมีทั้งสามชนิดแล้ว ไม่ควรสนับสนุนให้ใช้สารเคมีชนิดอื่นอีก แต่ควรเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น การส่งเสริมให้ปลูกพืชคลุมดิน หน่วยงานภาครัฐต้องแจกเมล็ดพันธุ์พืชคลุมดิน ซึ่งผลิตเองได้ให้แก่เกษตรกรที่เคยใช้สารเคมีมาก่อนและต้องการกลับมาใช้วิธีชีวภาพ ดังนั้น สนับสนุนให้เยียวยาด้วยวิธีนี้ และยืนยันว่า อุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่สามารถทำได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอย่างสวนปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันที่ 22 พ.ย. 2562 คณะทำงานช่วยเหลือเกษตรกรหลังยกเลิกสารเคมีทั้งสามชนิด ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์เป็นประธาน จะมีการเเถลงข่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/