พม.คิกออฟ "เราไม่ทิ้งกัน" ดึง 286 ชุมชนจัดการตนเอง ในการดูเเลของการเคหะฯ -พอช. เเก้ปัญหาผลกระทบโควิด-19 ภายใต้หลักการ 5 ปลอดภัย ที่อยู่อาศัย-อาหาร-สิ่งเเวดล้อม-ป้องกัน-เศรษฐกิจ โฆษก ก.การพัฒนาสังคมฯ เผย 'จุติ' สั่งห้ามล่าช้า ผลสรุปข้อมูลเเล้วเสร็จ 16 เม.ย. ลงพื้นที่ช่วยเหลือครบภายใน พ.ค.
วันที่ 14 เม.ย. 2563 นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. เป็นประธานการเเถลงข่าว Kick off โครงการ พม. "เราไม่ทิ้งกัน" ภายใต้เเนวคิด "สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน" ณ โถงชั้น 1 พม.
นางพัชรี เปิดเผยว่า โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ภายใต้เเนวคิด "สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน" เป็นการดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนในชุมชนกรุงเทพฯ 286 ชุมชน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูเเลของการเคหะเเห่งชาติ 91 ชุมชน เเละสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. 195 ชุมชน จากชุมชนที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ 2,070 ชุมชน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ร้ายเเรง เเม้ตัวเลขการติดเชื้อจะลดลง เเต่ทุกคนในชุมชนต้องตระหนักเเละให้ความสำคัญเรื่องการป้องกัน เพื่อไม่ให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
สิ่งดีที่สุด คือ การดูเเลตนเอง โดยอยู่บ้าน เเละพม.ต้องการให้คนอยู่ในชุมชนได้ดูเเลชุมชนกันเองด้วย ภายใต้หลัก 5 ปลอดภัย คือ ความปลอดภัยด้านที่อยู่อาศัย ด้วยการดูเเลสมาชิกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการกักตัวกลุ่มเสี่ยง ความปลอดภัยด้านอาหาร ด้วยการตั้งโรงอาหารกลางในชุมชน ความปลอดภัยด้านสิ่งเเวดล้อม ด้วยการให้ความรู้เเละการกำกับดูเเลชุมชน เพื่อป้องกันการเเพร่ระบาดของโรคในชุมชน ความปลอดภัยด้านการป้องกัน ด้วยการมีเวชภัณฑ์ในการดูเเลรักษาความสะอาด เเละความปลอดภัยด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมเเละฝึกอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคง
"ทำอย่างไรอยากให้มีอาหารปลอดภัย ให้คนตกงานมีงานทำ เเละหากครอบครัวในชุมชน มีผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กอ่อน เยาวชน บางครั้งอาจขาดนม อาหาร หรือไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม พม.จะเข้าไปช่วยดูเเล อย่างน้อยให้ลูกมีนมกิน มีอาหารรับประทาน เเละที่อยู่อาศัย เพื่อให้ชุมชนเข้มเเข็ง ดูเเลกันเอง โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ กระทรวงสาธารณสุข ที่เข้ามาดูเเลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย"
โฆษก พม. กล่าวต่อว่า พม.ต้องการให้ประชาชนใน 286 ชุมชน รับรู้ว่า ถ้ามีปัญหา ขอให้ติดต่อมาที่ พม. ผ่านเบอร์ 1300 หรือเบอร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมกันนี้ จะดำเนินการตามเเผนขับเคลื่อน โดยลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชนรับทราบเเละเข้ามามีส่วนร่วมในการเเจ้งข้อมูลของตนเองเเละครอบครัวกับผู้ประสานงานชุมชนด้วยเเผ่นป้ายเเละโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หอกระจายข่าวในชุมชน เเละสื่อสังคมออนไลน์ โดยต้องสรุปเเล้วเสร็จภายในวันพฤหัสบดี ที่ 16 เม.ย. 2563 เพื่อนำไปจัดทำเเผนฟื้นฟูชุมชน เเละลงพื้นที่ช่วยเหลือให้ครบทั้งหมดภายใน พ.ค. นี้
"วันที่ 16 เม.ย. นี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งข้อมูลมา เเละจะรับทราบข้อมูลทั้งหมดว่า 286 ชุมชน ประสบปัญหาอะไร เเละมาวิเคราะห์ว่าเรื่องอะไรเร่งด่วน เพื่อลงพื้นที่เข้าไปเเก้ไขได้เลย เช่น หากตกงาน ไม่มีอาหาร 3 มื้อ พม. จะจัดสรรงบประมาณให้ ซื้อข้าวสาร อาหารเเห้ง เพื่อให้ชุมชนดูเเลตนเอง หรือหน่วยงานอื่นสามารถบริจาคได้ เเต่ยืนยันว่า การดำเนินโครงการไม่ล่าช้า เนื่องจากนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เน้นย้ำว่า ต้องไม่ล่าช้า เพราะทุกคนกำลังเดือดร้อน เเต่ให้มองว่า เป็นคนในครอบครัวของตนเอง ฉะนั้นการดำเนินการต้องรวดเร็ว" นางพัชรี กล่าวในที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/