"...เรื่องใหญ่ที่สุดที่ควรจะเริ่มต้น คือ การให้ประกันสังคมเปิดเผยข้อมูล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างเป็นระบบ ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่กระทบต่อข้อมูลที่สำคัญของประกันสังคม..."
ภายหลังการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดปกส. เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2566 ที่แบ่งเป็นการเลือกตัวแทนฝั่งนายจ้าง 7 คน และตัวแทนฝั่งลูกจ้าง 7 คน โดยผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในฝั่งลูกจ้าง คือ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ที่มีสมาชิก 6 ราย มีรายชื่อดังนี้
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน
นายชลิต รัษฐปานะ
นายศิววงศ์ สุขทวี
นางสาวนลัทพร ไกรฤกษ์
นางลักษมี สุวรรณภักดี
ส่วนตัวแทนฝั่งลูกจ้างคนที่ 7 คือ นายปรารถนา โพธิ์ดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทีมประกันสังคมก้าวหน้าและความคาดหวังของแรงงานต่อบอร์ดชุดใหม่ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ
@ นโยบายหาเสียง ทีมประกันสังคมก้าวหน้า
นโยบายหาเสียง 14 ข้อ
1. เพิ่มค่าคลอดบุตร เป็น 20,000 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน
2. เพิ่มค่าสงเคราะห์เด็ก 0-6 ปี จาก 800 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน
3. เพิ่มเงินดูแลเด็ก 7-12 ปี ปีละ 7,200 บาท
4. ชดเชยการลา เพื่อดูแลคนในครอบครัว วันละ 300 บาท
5. เพิ่มประกันการว่างงาน สูงสุด 9 เดือน
6. สูตรคำนวณบำนาญใหม่ เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม
7. สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.99%
8. ขยายสิทธิประโยชน์คนพิการ ไม่ตัดสิทธิการใช้ร่วมกับสวัสดิการอื่น รักษาพยาบาลได้ทุกที่
9. ประกันสังคมถ้วนหน้า พื้นฐานสำหรับแรงงานอิสระทั้งระบบ วางระบบระยะยาวใน 2 ปี
10. พัฒนาบัญชียาเดียวกัน ไม่น้อยกว่า ราชการและบัตรทอง ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี
11. สิทธิทันตกรรม รักษารากฟันเทียม เชื่อมโยงกับ สปสช. เหมาจ่าย 17,500 บาท ตลอดการรักษา
12. ปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติเข้ากับสภาพการทำงาน รวมทั้งปรับเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งและสมัคร เป็นบอร์ดประกันสังคม
13. วางเงื่อนไขการลงทุน และบริษัทคู่สัญญา มีธรรมาภิบาล การลงทุนขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบได้ ยึดโยงกับผู้ประกันสังคม คัดเลือกคู่สัญญาด้วย Decent Work หมายความว่า กองทุนประกันสังคมจะไปลงทุนกับโรงพยาบาลหรือบริษัทเอกชนใด จะต้องดูว่า โรงพยาบาล รวมถึงบริษัทฯ นั้น ดูและสิทธิเสรีภาพกับแรงงานหรือไม่
14. มุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบได้ เน้นการมีส่วนร่วมของคนทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกันตน
@ สิ่งที่จะทำหลังเข้าไปเป็นบอร์ดปกส.
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า เปิดเผยกับสำนักข่าวิศราว่า เรื่องใหญ่ที่สุดที่ควรจะเริ่มต้น คือ การให้ประกันสังคมเปิดเผยข้อมูล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างเป็นระบบ ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่กระทบต่อข้อมูลที่สำคัญของประกันสังคม เช่น ในปัจจุบันมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน 10 อันดับแรกของประกันสังคม แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในระดับร้อยล้านหรือพันล้านที่ไม่ได้มีการเปิดเผย จึงคิดว่าบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ทันที รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม ที่มีงบประมาณในแต่ละปีกว่า 5,000 พันล้านบาทที่ถูกใช้
“เราจะทำอย่างไรให้งบประมาณส่วนนี้ที่ถูกใช้อย่างเป็นระบบ และให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าการเป็นกองทุนที่ถูกใช้ผ่านเงื่อนไขของระบบอุปถัมภ์อย่างที่เคยมีมา” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
@ ทำตามนโยบายใช้เงินเพิ่มประมาณ 40,000 ล้านบาท
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ประเด็นการนำเงินจากส่วนใดมาใช้ในการดำเนินนโยบายและต้องใช้จำนวนเท่าใดนั้น ประกันสังคมก้าวหน้าได้คำนวณแล้ว
“นโยบายหลายอย่างเป็นการจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว เช่น การสมทบค่าคลอดบุตรที่จะใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณหลักพันล้านบาท เงินสงเคราะห์เด็กที่ขยายถึงอายุ 12 ปี ก็น่าจะใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท รวมทั้งแพ็คเกจ (ทุกนโยบาย) ของเรา เราจะใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับการจ่ายเงินสมทบแต่ละปีของผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา (มาตรา 33,39,40) ที่อยู่ที่ 120,000 ล้านบาท ฉะนั้นเราขยายตามนโยบายของเราจะใช้เงินเพิ่มขึ้นปีละ 40,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจากการคำนวณ ณ ช่วงเวลานี้เงินก็ยังพอ เพราะเป็นการจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว ไม่ทำให้กองทุนเสียสภาพคล่อง” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
นอกจากนี้ถ้ามองไปถึงเรื่องการทำกองทุนให้โปร่งใส การลงทุนในกลุ่มทุนที่มีธรรมาภิบาล การลงทุนที่ยึดโยงกับผู้ประกันตน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้การเติบโตในด้านสวัสดิการต่าง ๆ หรือชีวิตของผู้ประกันตนก็จะอยู่ในระบบได้ยาวนานมากขึ้น เมื่อในอนาคตมีจำนวนคนทำงานน้อยลงแต่คนเหล่านี้เป็นคนที่มีผลิตภาพ (Productivity) สูงมากขึ้น
“เมื่อก่อนเราใช้คน 2000-3000 คนในโรงงาน ปัจจุบันเราใช้คนจำนวนน้อยลงกว่าเดิม 50% ฉะนั้นในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ดอกผลของคนธรรมดาที่ทำงาน สามารถกลับสู่พวกเขาอย่างจริงจังและจะทำให้กองทุนมั่นคงในระยะยาว” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
@ แนวทางดูแลผู้ประกันตนในระยะเวลา 2 ปี
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า จะดูแลผู้ประกันตนในระยะเวลา 2 ปี ตามที่นโยบายที่หาเสียงไว้ คือ ต้องพยายามทำให้กองทุนประกันสังคมถูกแสงส่องให้มากที่สุด ไม่ให้เป็นแดนสนธยา เมื่อมีแสงส่องลงมาก็จะมีทั้งเสียงสนับสนุน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการจัดการเรื่องต่าง ๆ เชื่อว่าคนจะสนใจมากขึ้น เพราะเดิมทีบอร์ดประกันสังคมชุดที่ผ่านมาที่มีอายุ 9 ปี มาจากการแต่งตั้ง เมื่อมองย้อนไปถึงบอร์ดชุดก่อนหน้าก็มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมซึ่งเป็นสหภาพแรงงานจำนวนหลักพันคนที่เป็นคนเลือก ต่างจากครั้งนี้ที่มีคนหลายแสนคนที่เป็นคนธรรมดา รวมถึงตัวบอร์ดประกันสังคมชุดนี้ก็มาจากการเลือกตั้งโดยคนธรรมดา
“ฉะนั้นผมคิดว่านี่เป็นโอกาสำคัญที่จะทำให้นึกฝันถึงประกันสังคมที่เป็นของพวกเราอย่างแท้จริง ทั้งงบกิจกรรม งบโครงการต่าง ๆ เราจะพยายามออกแบบให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ สามารถมาใช้ในการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ นี่เป็นบันไดแรก และถ้าตัวสิทธิประโยชน์ที่กล่าวมาสามารถทำได้ ผมเชื่อว่าแรงสนับสนุนก้าวใหญ่ที่จะตามมาก็คือ การทำให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ผูกติดกับระบบราชการในกระทรวงแรงงาน ซึ่งก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่เราเห็นมาตลอด”
“ปีใหม่ปีนี้คิดว่าเรามีนิมิตรหมายที่ดี เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนและผู้ประกันตนส่วนหนึ่งปรารถนาการเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าในปีใหม่ปีนี้หวังว่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับคนธรรมดาที่ทำงานหนักอย่างพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้ง พนักงานโรงงานเย็บผ้า พนักงานโรงงานยานยนต์ หรือว่าหนุ่มสาวออฟฟิศที่มีความฝันความหวัง ผมปรารถนาให้ปีนี้เป็นปีที่ดี แต่มันจะดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสวัสดิการที่เราพยายามยิ่งที่จะทำให้มันกลายเป็นหลังผิงของคนธรรมดาให้ได้มากที่สุด” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
@ สิ่งที่ตัวแทนแรงงานต้องการจากบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่
นางสาวธนพร วิจันทร์
นางสาวธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการจากบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ คือ เรื่องของความโปร่งใส เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำเงินไปลงทุน หรือข้อจำกัดหรือระเบียบที่ทำให้ผู้ประกันตน เข้าถึงสิทธิ์ได้ยาก
สิ่งที่คาดหวังกับบอร์ดประกันสังคมที่มีวาระอย่างน้อย 2 ปี อย่างน้อยอยากเห็นเรื่องการแก้ไขประกาศระเบียบที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ประกันตนอยู่ใต้เงื่อนไขต่าง ๆ หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ได้ยาก
นอกจากนี้ในช่วงระยะแรกอยากเห็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนประกันสังคมในระยะต่อมาเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากการที่ปรับปรุงระเบียบข้อจำกัด ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ก็สามารถทำให้กลไกการทำงานของบอร์ดประกันสังคมเป็นได้ง่ายขึ้น
"โดยเฉพาะเรื่องของแรงงานข้ามชาติ คิดว่าคงจะดำเนินการเรื่องระเบียบต่าง ๆ ของแรงงานข้ามชาติไก้ เช่น เงินบำเหน็จบำนาญที่อายุ 55 จึงได้รับสิทธิ์แม้จะพ้นสภาพการเป็ลลูกจ้างแล้ว แต่สัญญาการจ้างงานแรงงานข้ามชาติอย่างมากก็ 4 ปี แล้วก็กลับประเทศ แล้วเขาจึงกลับมาใหม่ แต่บางคนก็อาจจะไม่ได้กลับมาอีกแล้ว แล้วเขาต้องมารอถึงอายุ 55 ปี แต่ต้องมารอรับเงินที่ไม่เป็นจำนวนมาก แต่ต้นทุนในการเดินทางมารับเงินอาจจะมากกว่าเงินในกองทุนที่เขามีอยู่"
ทั้งนี้ในระยะเวลา 2 ปี ระยะต่อไปต้องวางแผนการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมใหม่ ซึ่งระเบียบการเลือกตั้งครั้งนี้สร้างขั้นตอนเกินความจำเป็น ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ โดยบอร์ดประกันสังคมชุดนี้ต้องวางแผนในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
นายบุญยืน สุขใหม่
ด้านนายบุญยืน สุขใหม่ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก กล่าวว่า มีหลายสิ่งที่คาดหวังจากบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ได้แก่
1. การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนให้เท่าเทียมกับกองทุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยรวมกองทุนด้านการรักษาสุขภาพของผู้ประกันตนกับกองทุนสปสช. และการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมประกันสังคม เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัดค่อนข้างน้อย หากผู้ประกันตนเจ็บป่วยในพื้นที่ที่ไม่มีโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมก็จะไม่สามารถเข้ารับการรักษาโดยที่ใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้
"ในฐานะผู้เสียภาษีเราควรได้สิทธิ์ 30 บาท" นายบุญยืนกล่าว
2. คาดหวังให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ เนื่องจากในปัจจุบันเป็นการบริหารแบบราชการทำให้มีขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างและการขออนุญาตนำเงินไปลงทุนในด้านต่าง ๆ แบบราชการ
3. เรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เวลาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากประกันสังคม ในกรณีที่สำรองจ่ายเงินเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉินและไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีสิทธิ์ประกันสังคม เมื่อมาเบิกเงินกับประกันสังคมก็เบิกได้คืนไม่เต็มจำนวนเงินที่สำรองจ่ายไปก่อน นอกจากนี้ถ้าผู้ประกันตนไม่พอใจกับการที่ได้เงินคืนไม่เต็มจำนวนสามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ เพื่อพิจารณาว่าการที่ผู้ประกันตนอุทธรณ์ควรจะจ่ายเงินคืนหรือไม่ แต่ในขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลานานและมีความซับซ้อน
"ผมทำงานตั้งแต่ในยุคที่ไม่มีประกันสังคม เริ่มทำประกันสังคมจนถึงทุกวันนี้ยังเป็นผู้ประกันตน เราก็รู้สึกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วจนมาถึงวันนี้ประกันสังคมพัฒนาไปช้ามาก" นายบุญยืนกล่าว
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่จะดำเนินการ และสิ่งที่แรงงานต้องการจากบอร์ดประกันสังคม
ทั้งนี้สิ่งแรงงานต้องการมีความสอดคล้องกับนโยบายของทีมประกันสังคมก้าวหน้า คือ เรื่องการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนประกันสังคม การเพิ่มสิทธิการรักษาให้เทียบเท่ากับสิทธิ์สปสช. และการเป็นองค์กรอิสระไม่อยู่ภายใต้การบริหารแบบราชการ
อย่างไรก็ดีภายในระยะเวลา 2 ปี บอร์ดประกันสังคมฝั่งลูกจ้างชุดใหม่ทั้ง 7 ราย จะดูแลผู้ประกันตนอย่างไรต้องติดตามกันต่อไป
หมายเหตุ: ที่มาภาพนายบุญยืน สุขใหม่ จาก thecitizen.plus