ตัวแทนสหภาพคนทำงานเผยปี 65 ที่ผ่านมา ภาครัฐจัดการปัญหาแรงงานล้มเหลว เพราะไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หวังเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับแรงงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางสาวธนพร วิจันทร์ ตัวแทนจากสหภาพคนทำงาน เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราเกี่ยวกับภาพรวมของสิทธิแรงงานในปี 2565 ว่า ในปี 2565 เป็นปีที่โรคโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องจากปี 2563-2564 แรงงานที่ยังตกงานอยู่ก็ยังไม่สามารถกลับเข้าไปในระบบแรงงานได้ อีกประเด็นหนึ่ง คือ สถานการณ์การจ้างงานที่ไม่มั่นคง ที่นายจ้างเจอวิกฤตจากโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบริษัทเพื่อให้อยู่รอดในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ ส่งผลให้การจ้างงานลดลงเพื่อลดต้นทุน เป็นสถานการณ์ที่รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานที่ถูกปลดและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้ อีกทั้งยังมีเรื่องของแรงงานแพลตฟอร์มที่ถูกกดขี่ในด้านค่าแรงและสวัสดิการ
"ที่สำคัญคือกระทรวงแรงงานหรือหน่วยงานรัฐไม่มีจุดหมายที่จะมาดูแลเขา เขาไม่สามารถเข้าประกันสังคมได้ เขาไม่สามารถเข้าสู่กฎหมายความปลอดภัยได้ หรือเขาไม่สามารถเข้าสู่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ เหล่านี้เป็นสถานการณ์ภาพรวม รัฐไม่ได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาแบบถาวร ยั่งยืน" นางสาวธนพรกล่าว
ส่วนสถานการณ์การจัดการแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติของภาครัฐในปี 2565 ถือว่าล้มเหลว เนื่องจากไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มีหลายครั้งที่แรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมออกมาเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานรัฐให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงาน ทั้งที่สิทธิทางกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเรียกร้องแต่เป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานควรจะได้ มาตรการในการควบคุมนายจ้างที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการของรัฐหละหลวม ในด้านของแรงงานข้ามชาติกลับแย่ยิ่งกว่าแรงงานไทยที่คล้ายกับเป็นการค้ามนุษย์ โดยนายจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย แต่เวลาที่แรงงานข้ามชาติถูกจับ รัฐกลับไม่จับนายจ้างด้วย เพราะพรก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวระบุว่ามีความผิดทั้งสองฝ่าย แต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่รัฐจะมาดำเนินการกับลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติมากกว่านายจ้าง
นอกจากนี้นางสาวธนพรยังกล่าวว่า ในปีหน้าคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานจะสามารถแก้ปัญหาของแรงงานที่ต้นเหตุได้ อีกทั้งควรปรับระดับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานให้มีความมั่นคงมากขึ้น เช่น ทำงานครบ 1 ปี ได้รับค่าจ้างเพิ่ม ดำเนินการคล้ายโครงสร้างของข้าราชการ
"จริง ๆ เราอยู่ในระบอบการรัฐประหารมา 8 ปี เราจะเห็นสิทธิเสรีภาพของแรงงานที่ออกมาพูดเรื่องของเขาน้อยลง ทั้งเรื่องพรก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ชุมนุม ที่หน่วยงานรัฐพยามมาใช้ ทำให้ปัญหาซุกอยู่มานาน เพราะปัญหาไม่ได้ถูกเปิดเผย แต่ความจริงไม่ได้มีการแก้ไข แต่เราก็เชื่อว่าในปีนี้เราจะเห็นนโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่พูดถึงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แต่สิ่งที่แรงงานอย่างเราต้องการ คือ การจ้างงานที่มั่นคง ไม่ใช่การจ้างงานแบบรายวัน รายชั่วโมง รายปี เราอยากมีการงานที่มั่นคงมีรายได้ มีสวัสดิการที่ดูแลพวกเรา เพราะเมื่อมองกลับมาแล้วจะเห็นว่าพวกเราคือกลไกสำคัญที่จะสร้างเศรษฐกิจ สร้าง GDP ให้กับประเทศ อยากให้รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ" นางสาวธนพรกล่าว
ที่มาภาพปก: voicelabour.org