‘ก้าวไกล’ ดันนโยบายการเมือง ชูรื้อ รธน.ทั้งฉบับ ทุกขั้นตอนต้องมาจากประชาชน เผยหลัก ‘3 ป.-บันได 4 ขั้น’ นำไปสู่เส้นชัย พร้อมเปิดนโยบายขยายสิทธิ์ประชาชน 5 ประการ ‘สิทธิลาคลอด 180 วัน-พระเลือกตั้งได้-เพิ่มตำรวจหญิงทุกสน.’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 ตุลาคม 2565 พรรคก้าวไกล จัดงาน ‘ต้องก้าวไกล ให้การเมืองไทยก้าวหน้า’ เปิดตัวนโยบาย ‘9 ไทยก้าวหน้า’ โดยนำเสนอนโยบายทางการเมืองก่อน
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล กล่าวว่า นโยบายการเมืองไทยก้าวหน้าด้วยการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน เป็นนโยบายที่คิดมาจากการที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้อยู่บนฐานคิดของประชาชนและไม่มีกระบวนการที่มาจากประชาธิปไตย เน้นการสืบทอดอำนาจของคนไม่กี่คน ทำให้เป็นต้นตอของปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน
โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะเป็นนโยบายของพรรคในการเลือกตั้งครั้งถัดไป โดยจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่องค์ประกอบต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% สำหรับหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ที่ต้องทำได้อย่างน้อย 3 อย่าง คือ หลักการ 3 ป.
ป.1 ปิดช่องรัฐประหาร รัฐธรรมนูญต้องไม่ถูกฉีกง่ายดายจากคณะรัฐประหาร ต้องวางล็อกไว้ และจำเป็นต้องทำ โดยจะเพิ่มพลังต่อต้านและคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนในการต้านรัฐประหาร เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ทำรัฐประหาร ส่วนศาลและสถาบันการเมืองต้องไม่รับรองการทำรัฐประหาร และต้องเพิ่มราคาที่คณะรัฐประหารต้องจ่ายคือ กำหนดห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และประชาชนคือผู้เสียหายจากการกระทำรัฐประหาร สามารถฟ้องร้องผู้กระทำฐานกบฎได้ ไม่มีอายุความ และศาลต้องพิพากษาใน 24 ชม.
ป.2 ปกป้องเสียงประชาชน ระบอบ คสช. ฝังอาวุธ 3 ชิ้นในรัฐธรรมนูญเพื่อกดทับเสียงประชาชน คือ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง, ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่มีที่มาจาก ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. และเกิดกรณีน่ากังขาหลายครั้ง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีสูตรคำนวณ ส.ส.พิสดาร และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ถึง 8 ปี เป็นต้น ซึ่งประชาชนคงเชื่อถืออะไรไม่ได้ หากที่มายังมาจาก ส.ว. และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีระบุในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่าหากนโยบายไม่สอดคล้องกับแผนนี้ มีความเสี่ยงมากที่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง อาจถูกล้มได้จาก ส.ว. และองค์กรอิสระได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องปลดอาวุธดังกล่าวทั้งหมด
ป.3 ปลดล็อกท้องถิ่น ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีการระบุถึงการกระจายอำนาจ ดังนั้น จะต้องมีการวางหลักประกันว่า ทุกพื้นที่ทุกจังหวัด ประชาชนต้องมีอำนาจในการกำหนดเอง ไม่ใช่คนจากส่วนกลางมากำหนดให้ โดยต้องปลดล็อก 3 เรื่องคือ ปลดล็อกอำนาจให้ท้องถิ่นจัดบริหารสาธารณะทั้งหมด, ปลดล็อกงบประมาณให้ท้องถิ่นมีเงินเพียงพอในการจัดการปัญหาในพื้นที่ และปลดล็อกให้ผู้บริหารสูงสุดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หลักการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเหมือนการเลือกตั้งทั่วไปทั้งหมดด้วย
แก้ยาก ติดล็อกรธน.-ทำประชามติ 4 รอบ
ทั้งนี้ นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า แต่การเดินทางไปสู่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงไม่ง่าย เพราะต้องทำตามกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ดังนั้น ประชาชนจำเป็นต้องเข้าคูหาทำประชามติกัน 4 ครั้ง เหมือนเป็นบันได 4 ขั้น ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ลงมติเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 ลงมติเกี่ยวกับรายละเอียด สสร. และการแก้ไขมาตรา 256 ครั้งที่ 3 เข้าไปเลือกคนเป็น สสร. และครั้งที่ 4 ทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“แม้จะมีหลายขั้นที่ต้องก้าว แต่พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ถ้าเราได้เป็นรัฐบาลเราจะเร่งรัดกระบวนการนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นครั้งสุดท้ายที่จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญคสช. และเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไปในปี 2570” นายพริษฐ์ระบุช่วงหนึ่ง
เพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน - พระเลือกตั้งได้
ด้านนางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เขตสายไหม แถลงชุดนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้า ในหมวด “คนเท่ากัน” ว่า มี 5 ข้อ ดังนี้
1. รับรองเพศสภาพและการใช้คำนำหน้าตามความสมัครใจ สิ่งที่จะทำ ได้แก่ มีกฎหมายรับรองเพศสภาพหลากหลาย ลดการเลือกปฏิบัติ และเลือกคำนำหน้านามตามสมัครใจ
2. เพิ่มตำรวจเพศหญิง ในทุกๆสถานีตำรวจ เพื่อให้ผู้ถูกคุกคามทางเพศสามารถเข้ามาแจ้งความได้อย่างสะดวกใจและเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศมีทั้งหมด 11,607 คน เป็นเพศหญิงเพียง 763 คน
3.พระภิกษุสงฆ์ เลือกตั้งได้ ที่่ผ่านมา ทั้งๆที่พระภิกษุก็เป็นประชาชนที่มีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกระทรวงกลาโหมยังกำหนดให้พระภิกษุต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วย แต่พระสงฆ์กลับไม่มีสิทธิเลือกตั้งได้ และเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางศาสนา เพราะนักบวชในศาสนาอื่น ไปเลือกตั้งได้
4. กำหนดให้ภาครัฐจ้างงานผู้พิการ 20,000 อัตรา
และ 5. เพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อและแม่แบ่งกันได้ เป็นสิทธิที่อารยประเทศให้ความสำคัญ เพราะเป็นการลงทุนในทุนมนุษย์ที่มีมูลค่ามากที่สุด และที่ผ่านมาประเทสไทยกว่าจะได้สิทธิลาคลอดก็ต่อสู้มาอย่างยากลำบาก ซึ่งพรรคก้าวไกล เพิ่มให้ทั้งชายหญิงเท่าเทียมกัน, 6 เดือนนี้ พ่อและแม่ ใช้สิทธิแบ่งกันได้ เช่น แม่ลา 3 เดือน พ่อลา 3 เดือนช่วยเลี้ยงลูก และมีห้องให้ผู้หญิงให้นมบุตร หรือห้องปั๊มนมในสถานที่อื่น นอกเหนือจากในห้างสรรพสินค้า