รองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติฯเผยไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ปีใหม่นี้เตรียมเดินหน้าผลักดันนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 'เบี้ยยังชีพ' และโครงการปรับบ้านผู้สูงอายุให้ปลอดภัยให้ผู้สูงวัยพึ่งตาตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2565 นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และรองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติคนที่สอง (กผส.) กล่าวถึงสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุภายในประเทศไทยว่า ปีนี้เป็นปีที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว กล่าวคือมีผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนราว 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยมีการเตรียมตัวเรื่อนี้มาอย่างยาวนาน โดยเราเริ่มตั้งแต่การประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียปี 2525 กระทั่งในปีเดียวกันเรามีแผนผู้สูงอายุระยะยาว 20 ปี และดำเนินการเรื่อยมาจนจะหมดแผนผู้สูงอายุระยะยาวฉบับที่ 2 แล้ว เรียกได้ว่าเราเตรียมการมานานเป็นเวลา 40 ปี ในช่วงเวลาระหว่างนั้น ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2534 เริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพจริงราวปี 2535 โดยเริ่มจากคนยากไร้ ก่อนจะมีสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และพัฒนามาเป็นแบบขั้นบันไดตามลำดับ
สำหรับผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ทุกคนทุกกลุ่มให้ความสนใจ เพราะเป็นกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่เคารพนับถือ สำหรับนโยบายที่จะขับเคลื่อนเพื่อดูแลผู้สูงอายุในปี 2565 ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์นี้ ในฐานะที่ตนเองเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของผู้สูงอายุ จะยังคงส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นพลังสังคมให้มากที่สุด เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และลดการพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งนี่เป็นหลักการสำคัญใหญ่ ๆ
ส่วนวิธีการนั้น จะต้องวางแผนกลไกทางกฎหมาย การเงิน และสังคมให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว อาทิ การเดินหน้าผลักดันนโยบายการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุให้ได้รับอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ซึ่งตนเองได้เป็นรองประธานคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนที่ 1 ทำหน้าที่แก้ไขร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อแก้ไขปัญหาการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ กรณีถูกเรียกเงินคืนย้อนหลังจากข้อกฎหมายที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกัน ให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและเป็นธรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยล่าสุดมีข้อเสนอให้จัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุพิจารณาจากค่าแรงขั้นต่ำ และระหว่างนี้อยู่ระหว่างการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาพิจารณาต่อไป
รวมถึงจะยังให้การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงได้รับการดูแลอยู่ภายในครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการปรับบ้านผู้สูงอายุให้ปลอดภัย ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เช่น การปรับห้องสุขาจากส้วมนั่งยองให้เป็นโถสุขภัณฑ์ หรือการจัดห้องนอนใหม่ให้อยู่ชั้นล่าง หรือปรับพื้น ราวบันไดเพื่อลดการหกล้ม แทนการสร้างสถานสงเคราะห์ที่อาจทำให้ครอบครัว สังคมอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และใช้งบประมาณมากกว่าหลายเท่าตัว ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ใช้งบประมาณในการพัฒนาสถานสงเคราะห์มากกว่า 4 ล้านล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีงบประมาณทั้งประเทศ 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น