“...ตอนนี้เป็นเทรนด์ที่เวลาเราไปเที่ยวที่ไหนก็จะเห็นบันไดในแต่ละที่ ส่วนที่นี่ มองว่าสวนป้อมมหากาฬ ยังเป็นสวนใหม่ที่เพิ่งเกิด ยังไม่มีต้นไม้ไปบังร่มเงา ดังนั้น ก็จะยังเป็นสวนที่โล่งอยู่ จึงมีบันไดให้ชมสวนในมุมสูง...”
............................
โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง ไม้ยืนต้นอายุเก่าแก่สูงตระหง่านให้ร่มเงาอยู่ตามมุมต่างๆ ถูกประดับประดาแวดล้อมด้วยกล้วยไม้หลากสีสัน!
ส่วนบริเวณพื้นสนามและรอบๆ กำแพงเต็มไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์อย่าง แวววิเชียร พิทูเนีย แพงพวย บานชื่นแคระ บานชื่นใหญ่ สร้อยไก่เหลือง สร้อยไก่แดง คอสมอส ดาวเรืองฝรั่งเศส ดาวเรืองสีเหลือง ดาวเรืองสีทอง มิพักต้องเอ่ยถึงบริเวณอาคารเก่าทรงยุโรป ที่เคยเป็นท่าเรือพระยาญาณประกาศ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังทิวทัศน์ลำคลองบริเวณท่าเรือสะพานผ่านฟ้า อีกทั้งใกล้ๆ ยังมีท่าเรือรองรับเรือคายัคที่มาจากท่าเรือคลองโอ่งอ่าง และยังสามารถล่องเรือต่อไปยังคลองบางลำพูได้
ทั้งหลายทั้งปวงที่เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว ล้วนประกอบสร้างให้พื้นที่แห่งนิ้เป็นอีกหนึ่งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย
@ สวนสวยในอาณาบริเวณโบราณสถาน
“สวนสวนในอาณาบริเวณโบราณสถาน” จึงเหมาะกับคำบรรยายสภาพแวดล้อมของสวนดอกไม้แห่งนี้ สถานที่ซึ่งถูกปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่เพียงดอกไม้ที่สวยงาม ภายในพื้นที่ยังมีอาคารเก่าแก่ที่ทิวทัศน์เชื่อมต่อกับคลองของสะพานผ่านฟ้าซึ่งในอดีตใช้เป็นท่าเรือ มีชื่อว่าอาคารและท่าเรือพระยาญาณประกาศ รายละเอียด เป็นอาคารทรงยุโรป ความสูง 1 ชั้น หลังคาเป็นลานกว้าง สร้างเมื่อ พ.ศ.2459 โดยมหาอำมาตย์ตรี พระยาญาณประกาศ สุจริตามาตย์ธรรมเสถียร ( เลื่อน ศุภศิริวัฒน์ ) ปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีท่าเรือที่ใช้เป็นท่าเรือต้นทางสำหรับเจ้านาย และข้าราชการที่จะเดินทางไปเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักวังสระประทุม ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2459 หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 ได้เสด็จสวรรคตลง
นอกจากอาคารหลังนี้จะใช้เป็นท่าเรือแล้ว ยังได้ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายต่างๆ ที่เสด็จมาทอดพระเนตรการเล่นสักวาของผู้คนจำนวนมาก ที่พากันมาจอดเรือเล่นสักวาในงานประจำปีภูเขาทอง ช่วงวันลอยกระทงกลางเดือน 12 ซึ่งเป็นงานที่จัดเป็นประจำทุกปี
เหล่านี้ คือรายละเอียดที่ระบุไว้ที่ป้ายหน้าอาคารดังกล่าว ซึ่งในอนาคตที่แห่งนี้จะถูกพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ในกาลข้างหน้า
@ นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความเป็นพื้นที่โบราณสถานอันถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของพื้นที่แห่งนี้ รวมถึงการเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับสถานที่สำคัญแหล่งอื่นๆ
นายวิรัตน์กล่าวว่า “เรื่องยากอย่างหนึ่งคือที่นี่เป็นโบราณสถาน เวลาจะทำอะไร ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากร และจากคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ คือในพื้นที่นี้ ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่ใช่ว่าจะทำได้เลย ขึ้นอยู่กับว่ากรมศิลปากรให้ทำได้แค่ไหน คณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ให้ทำได้แค่ไหน เรียกว่าเราก็ต้องเสนอแบบแผนให้เขาพิจารณา แค่การจะทาสี ก็ต้องรับฟังเขา ในพื้นที่ป้อมมหากาฬนี้มีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในพื้นที่เป็นของกรุงเทพมหานคร เช่น การก่อสร้างเป็นของสำนักการโยธา ส่วนการดูแลเรื่องความปลอดภัยหรือห้องน้ำเป็นเรื่องของสำนักงานเขต ส่วนเรื่องพื้นที่สีเขียว เป็นสำนักสิ่งแวดล้อม เดิมทีที่แห่งนี้เป็นโบราณสถาน ท่าเรือถูกร้างไปนาน ไม่ได้มีการใช้มานับแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน ได้นำกลับมารื้อฟื้นใหม่” นายวิรัตน์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ มีแหล่งท่องเทียวเยอะ เช่น คลองโอ่งอ่าง นอกจากนี้ ก็มีรถไฟฟ้าใต้ดินหลายสาย และยังมีคลองหลอดที่กรุงเทพมหานคร พยายามปรับเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ทุกวันนี้ คลองหลอดก็สวยงาม มีแผนที่จะพัฒนาต่อไป อยู่ระหว่างประชาพิจารณ์ ส่วนคลองโอ่งอ่าง จะเดินทางมาที่ป้อมมหากาฬก็ได้
“ยกตัวอย่าง เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พ.ย.ที่เราเปิดอย่างเป็นทางการ วันนั้นท่านผู้ว่าฯ มาชมที่นี่ แล้วนั่งเรือคายัคไปที่คลองโอ่งอ่าง คือ จากคลองโอ่งอ่างมาที่นี่จะมีเรือคายัค ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เป็นกิมมิกใหม่ที่คนมาเที่ยว ถือว่าช่วยกระตุ้นเรื่องเศรษฐกิจด้วย ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์นี้ วัดพระแก้ว เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่นี่ก็ถือเป็นแหล่งรองรับ เป็น สวนสาธารณะ เป็นที่ฟอกอากาศ พักผ่อนหย่อนใจ” นายวิรัตน์ระบุ และกล่าวว่าในพื้นที่พระนคร ก็มีสวนสาธารณะหลายแห่ง เช่น สวนสันติไชยปราการ สวนรมณีนาถ สวนใต้สะพานพุทธ “ตอนนี้ เราพยายามเชื่อมสวนใต้สะพานพุทธ กับเจ้าพระยาสกายปาร์ค และเชื่อมไปคลองสาน สร้างสำเร็จไปเรียบร้อยแล้ว เป็นสวนลอยฟ้าแห่งแรก ที่กล่าวมาก็จะเป็นลักษณะของการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างกรุงเทพชั้นใน” รักษาการผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ระบุ
@ นายยงทวี โพธิษา
@พันธุ์ไม้ที่แตกต่างหลากหลาย : การดูแลรักษา-ไม่ใช้สารเคมี
นายยงทวี โพธิษา ผอ.สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ดอกไม้ที่นำมาจัดไว้ที่ป้อมมหากาฬ ช่วงนี้และต่อเนื่องไปถึงมกราคม-มีนาคม ประกอบด้วย กล้วยไม้หวาย แพงพวย บานชื่นแคระ บานชื่นใหญ่ สร้อยไก่เหลือง สร้อยไก่แดง มีคอสมอส ดาวเรืองฝรั่งเศส ดาวเรืองสีเหลือง ดาวเรืองสีทอง
“สำหรับไม้ดอกที่ปลูก เราจะดูที่คุณภาพของไม้ดอกแต่ละชนิด ว่าเหมาะกับสวนแบบไหน ถ้าเหมาะกับสวนที่มีต้นไม้ใหญ่บังมาก ก็อาจจะเหมาะกับดอกไม้ที่ต้องใช้แสงแดดมาก แล้วก็เป็นไม้ดอก ซึ่งที่ป้อมมหากาฬ เป็นที่โล่ง ก็สามารถใช้ไม้ดอกที่สามารถรับแสงแดดได้เต็มวัน” นายยงทวีระบุ ก่อนมอบเอกสารที่ระบุรายชื่อดอกไม้ทั้ง 15 ชนิด ในพื้นที่ 4 ไร่ 300 ตารางวา ของสวนหย่อมป้อมมหากาฬ รายละเอียดดังนี้
1.บานชื่น คละสี 2.สร้อยไก่ คละสี 3. สร้อยไก่แดง 4. บานชื่นขาว 5 บานชื่นเหลือง 6. บานชื่นชมพู 7. ดาวเรืองฝรั่งเศส 8.ดาวเรืองสีเหลือง 9. ดาวเรืองสีทอง 10.คอสมอส คละสี 11. แพงพวยคละสี 12. แวววิเชียร สีขาว 13. พิทูเนีย 14.แพงพวยเลื่อย 15. กล้วยไม้หวาย คละสี
ส่วนนายวิรัตน์ กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า ดอกไม้ทั้งหมดนำมาจากโรงเพาะที่มีอยู่แล้ว จึงมิได้ใช่งบประมาณเกี่ยวกับการจัดซื้อดอกไม้แต่อย่างใด สอดคล้องกับที่นายยงทวีกล่าวถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบการเพาะดอกไม้ดังกล่าว
เมื่อถามถึงกระบวนการดูแลรักษา นายยงทวี กล่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้มีความชำนาญในเรื่องการดูแลต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ใบ ไม้ดอก ไม้สวน จะมีเจ้าหน้าที่และนักวิชาการเกษตรเข้ามาดูแล ในเรื่องของโรคและแมลง
“ที่สำคัญอย่างยิ่งคือเราไม่ใช้สารเคมีเลย เราใช้สารชีวภาพในการดูแลไม้ดอกไม้ประดับทั้งหลาย เราใช้ปุ๋ยที่เราผลิตได้เอง เป็นปุ๋ยที่สำนักสิ่งแวดล้อมผลิต คือปุ๋ยอินทรีย์และนำเอาปุ๋ยอินทรีย์ของเรามารองที่พื้นก่อนลงต้นไม้ นอกจากนี้เรามีพื้นที่เพาะปลูก มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการเพาะไม้ดอกตามฤดูกาลอยู่แล้ว สำหรับสนับสนุน ซึ่งดอกไม้ ที่ถาวรก็จะมีเฟื่องฟ้า บานบุรีเหลือง บานบุรีสีม่วง แล้วก็ในอนาคตถ้าดอกไม้ตรงนี้ร่วงโรยไป เราก็จะนำเอาไม้ใบสีมาปลูกเพื่อปรับปรุงคุณภาพดิน” นายยงทวีระบุ
ขณะที่ นายวิรัตน์ กล่าวถึงแนวคิดหรือคอนเซ็ปต์ของสวนดอกไม้ป้อมมหากาฬในช่วงเวลานี้ ว่า “ช่วงธันวาคม เป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย แม้บางทีก็ร้อน เราก็คิดธีมของสวนด้วยว่าเป็นความหลากหลายของสีสัน ก็เป็นธีมของช่วงนี้ ว่าคือความหลากหลายของดอกไม้สีสวยนานาพันธุ์ สีเขียว สีเหลือง สีแดง เยอะแยะไปหมด ให้มีความหลากหลายตามสภาพอากาศ ถ้ามาอีกทีช่วง มีนาคม- เมษายน จะเหลืองเข้มไปทั่งสวน เพราะเราจะทำให้ที่นี่เป็นสวนของดอกดาวกระจาย นั่นก็จะเป็นอีกแนวหนึ่งช่วงฤดูร้อน เปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ และการคัดเลือกพันธุ์ดอกไม้ คือแนวคิดในการที่จะจัดด้วย ว่าช่วงนี้คือแนวคิดเรื่องสีสัน ซึ่งก็จะมีทั้งที่สวนป้อมมหากาฬ และที่สวนรถไฟ ที่นั่นเป็นทุ่งทานตะวัน ที่เลือกเป็นทุ่งทานตะวัน เพราะพื้นที่เปิดโล่งมาก เป็นที่รับแดดที่ดีมาก”
เมื่อถามถึงความเป็นมาของบันได้สีขาวที่กลายเป็นแลนด์มาร์คขนาดย่อมที่ทุกคนที่มาเยือนสวนแห่งนี้ ต้องต่อคิวเพื่อขึ้นไปถ่ายรูปบนบันได้สีขาว นายวิรัตน์กล่าวว่า “ตอนนี้เป็นเทรนด์ที่เวลาเราไปเที่ยวที่ไหนก็จะเห็นบันไดในแต่ละที่ ส่วนที่นี่ มองว่าสวนป้อมมหากาฬ ยังเป็นสวนใหม่ที่เพิ่งเกิด ยังไม่มีต้นไม้ไปบังร่มเงา ดังนั้น ก็จะยังเป็นสวนที่โล่งอยู่ จึงมีบันไดให้ชมสวนในมุมสูง”
@ พื้นที่สวนสวยแหล่งอื่นๆ ในกทม.
นายวิรัตน์กล่าวถึงเทศกาลดอกไม้ในสวนต่างๆ หรือ Bangkok Flora Festival ว่า “จริงๆ แล้ว เราไม่ได้มีแค่สวนนี้ที่จัดไม้ดอก ยังมีอีก 5 สวน รวมทั้งสวนหลวง ร 9 ที่ปัจจุบันจัดเทศกาลดอกไม้อยู่ด้วย นอกจากนี้ ช่วงวันที่ 1-20 ธันวาคม 2563 มีทุ่งทานตะวัน ที่สวนรถไฟ หรือสวนวชิรเบญจทัศ เป็นทุ่งทานตะวัน 30,000 ต้น ในพื้นที่ 4 ไร่ แล้วก็ในปี 2564 ช่วง12-31มกราคม 2564 ที่สวนวนาภิรมย์ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง จะเป็นทุ่งดอกแพงพวย 32,000 ต้น พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ครึ่ง ช่วงวันที่ 10-30 เมษา 2564 ก็มีที่สวนหย่อมที่ป้อมมหากาฬ จะเป็นทุ่งดอกดาวกระจาย ใช้ดอกไม้ 40,000 ต้น จากนั้น เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 ก็จะมีที่สวนจตุจักรจะใช้ดอกดาวกระจาย ดอกดาวเรือง ดอกมากาเร็ต ประมาณ 32,000 ต้น จากนั้น ประมาณ เดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 จะเป็นที่สวนลุมพินี จะเป็นพวกดอกไส้ไก่ หงอนไก่ และแพงพวย ก็จะเป็นลักษณะหมุนเวียน แล้วที่นี่ พอเป็นพวกดอกดาวกระจายเดือนเมษาแล้ว จากนั้น จะเป็นอะไรคงต้องไปคิดกัน อาจมีเพิ่มหลังจากนั้น”
ก่อนจาก นายวิรัตน์เน้นย้ำถึงการไม่ใช้สารเคมีในสวนดอกไม้และคงามใส่ใจในการคัดเลือกดอกไม้มาจัดว่า “ที่ป้อมมหากาฬเราเลือกให้เป็นที่สำหรับถ่ายรูปจริงๆ และที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเลยเพราะประชาชนเขาไปถ่ายรูปใกล้ๆ หรือแม้แต่ทุ่งดอกทานตะวันที่สวนรถไฟ เราก็ใช้พันธุ์จากต่างประเทศ เพราะคนโดนแล้วไม่แพ้ เรากลัวคนจะแพ้ละอองเกสร ดังนั้น ดอกทานตะวันที่เรานำมานี่ก็จะไม่แพ้ เข้าไปถ่ายในทุ่งได้ เราใส่ใจกับดอกไม้ที่นำมาจัดสวน ไม่ใช้สารเคมี” นายวิรัตน์ระบุ
ส่วนนายยงทวีกล่าวว่า “ปกติสำนักสิ่งแวดล้อมของเรา จะดูแลสวนดอกไม้ทุกสวนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสวนที่จะทำในปี 2564 ที่เป็นสวนขนาดใหญ่4-5 สวน ซึ่งในสวนขนาดเล็ก เราก็มีการจัดสวนอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้จัดเต็มพื้นที่”
@ เสียงจากประชาชน ฝากถึงลำคลองข้างป้อมมหากาฬ
แม้จะมีสวนสวยหลายแห่งให้เยี่ยมชม แต่การมีที่ตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์อีกทั้งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน มีเรื่องราวและเรื่องเล่ามากมายให้กล่าวขานถึงความเป็นมานับแต่อดีต อีกทั้งการเชื่อมต่อกับพื้นที่รอบๆ ภายในกรุงเทพชั้นใน ยิ่งทำให้สวนหย่อมป้อมมหากาฬแห่งนี้ อยู่ในความสนใจของผู้คนไม่น้อยที่แวะเวียนมาเยี่ยมชม
ดังความเห็นของ “ชัช” ประชาชน รายหนึ่งที่มาเยี่ยมชมสวนแห่งนี้กับภรรยา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า “ผมชอบความผสมผสานของโบราณสถานกับสวนดอกไม้”
โดยชัชเน้นย้ำว่าส่วนที่เขาชอบเป็นพิเศษคือบริเวณลำคลองและอาคารท่าเรือพระยาญาณประกาศ ที่เขาบอกว่า “ผมเดินผ่านตรงนั้นแล้วรู้สึกว่าสวยไม่แพ้ยุโรปเลย แต่ข้อเสียที่ขอติก็คือ อยากให้ลำคลองสะอาดกว่านี้ ถ้าลำคลองสะอาดกว่านี้จะดีมากครับ”
นี่คือเสียงสะท้อนที่ทั้งชื่นชมและฝากถึงหน่วยงานผู้รับผิดชอบลำน้ำอันเป็นหนึ่งในบริบทแวดล้อมสำคัญของพื้นที่แห่งนี้…
ป้อมมหากาฬ ในวันนี้ ที่กลายเป็นสถานที่ที่หลากหลายไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ไปแล้ว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage