‘เพ็ญโฉม’ ค้านเบลอภาพ ‘พลาสติก’ ในรายการ-ละคร ไม่ช่วยแก้ลดขยะ แนะสร้างจิตสำนึกผ่านแคมเปญอื่น ‘สปอตโฆษณา’ ให้รัฐเยียวยาเอสเอ็มอี หลังรับผลกระทบ พร้อมหนุนวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
ภายหลังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ 8 สถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่อง เวิร์คพอยท์, ช่องวัน31 (ONE31), ช่อง 8, ช่อง GMM25, ช่อง7 HD, อสมท (MCOT) และช่อง NBT รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกผ่านสื่อโทรทัศน์ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการงดเผยแพร่ภาพพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทางสถานีโทรทัศน์ “CENSOR PLASTIC BAGS” ซึ่งหนึ่งในวิธี คือ สถานีโทรทัศน์ที่เข้าร่วมจะทยอยคัดเลือกภาพภายในละครและรายการโทรทัศน์ที่มีถุงพลาสติกออก และให้ความรู้เกี่ยวกับการลดใช้ถุงพลาสติกต่อเนื่อง และสร้างให้เกิดค่านิยมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการงดเผยแพร่ภาพหรือการเบลอภาพพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทางโทรทัศน์ในรายการหรือละคร ยกเว้นรายการข่าว
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงการณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการ ‘เบลอภาพ’ ว่าไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหา ขณะที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายและมาตรการชัดเจนในการลดเลิกการใช้อยู่แล้ว แต่หากจะมีการสร้างจิตสำนึก ควรสร้างการรับรู้ของประชาชนให้เกิดความตื่นตัวและมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ผ่านแคมเปญต่าง ๆ เช่น สปอตโฆษณา หรือขอความร่วมมือสถานีโทรทัศน์ สอดแทรกความรู้ผ่านรายการ โดยไม่ต้องใช้วิธีเบลอภาพ
ขณะที่การลดใช้ถุงพลาสติกเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ยกตัวอย่างประเทศบังคลาเทศมีนโยบายลดการใช้มานานและมีกฎหมายบังคับใช้ชัดเจน ทั้งหมดเป็นผลจากปัญหาทางมลพิษ โดยถุงพลาสติกเป็นปลายทางของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และต้นทางเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ฉะนั้นต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ผลิตถุงพลาสติก ล้วนมีมลพิษรุนแรงมาก การลดใช้จึงช่วยลดมลพิษให้น้อยลงได้
“ปัญหาจริง ๆ คือ ขยะ ซึ่งปัญหาขยะจากถุงพลาสติกกลายเป็นปัญหาใหญ่มาก หลายประเทศแก้ไขไม่ได้ จึงมีทางออกที่คิดร่วมกันและมีองค์การสหประชาชาติเป็นผู้นำในการเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินนโยบายนี้ เนื่องจากเราจะมาแก้ไขปัญหาพลาสติกทีละเล็กทีละน้อยไม่ได้ ต้องตัดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง”
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวต่อว่า เวลานี้คนไทยอาจยังไม่คุ้นเคยกับการลดใช้ถุงพลาสติก ต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง ทุกครั้งออกจากบ้านต้องพกภาชนะใส่ของ แต่ถือเป็นจิตสำนึกในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงในประเทศไทย เพราะหลายชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากกองขยะที่อยู่รอบนอกของกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายส่วน หากสุดท้ายกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีน่าจะต้องมีบทบาทสำคัญในการลดผลิตเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกในระยะยาว
ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะเข้ามาเยียวยาอุตาหกรรมรายใหญ่ เพราะทำกำไรจากอุตสาหกรรมพลาสติกมาหลายสิบปีแล้ว แต่ควรเยียวยาวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอและเจอสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ เช่น ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ย ยกเว้นภาษี ส่งเสริมและแนะนำความเชี่ยวชาญในด้านอื่นในการขยายผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลยังให้ความสำคัญในเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตธรรมชาติน้อยอยู่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/