สมัชชาเเม่น้ำ เเถลงค้านเเผนสร้างเฟสเเรก 'ทางเลียบเจ้าพระยา' จากสะพานพระราม 7-กรมชลประทาน สามเสน ในรูปเเบบสร้างถนนรุกล้ำ หวั่นส่งผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อม สังคม ประวัติศาสตร์ ขอให้ 'ประยุทธ์' สั่งยุติโครงการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 3 ธ.ค. 2562 สมัชชาแม่น้ำเจ้าพระยา นำโดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกแถลงการณ์คัดค้านการก่อสร้าง ‘ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ การก่อสร้างเฟสแรก จากสะพานพระราม 7 -กรมชลประทาน สามเสน (ฝั่งพระนคร) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โดยสมัชชาแม่น้ำฯ มีความเห็นว่า ว่าหากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง จึงขอแถลงจุดยืนเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการฯ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.สมัชชาแม่น้ำ เห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำ และมีการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเหมาะสมกับบริบทและคุณค่าของพื้นที่ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา
2.ทั้งที่ กทม.สามารถดำเนินการแก้ปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตามอำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ได้ แต่กลับไม่ทำ ในทางตรงกันข้าม กลับทำเป็นถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแม่น้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้แม่น้ำคับแคบลงทั้งสองฝั่งร่วม 20 เมตร
3.แม่น้ำเจ้าพระยาสมควรถูกอนุรักษ์เป็นโบราณสถานตลอดสายน้ำ เพื่อยกฐานะเป็นมรดกโลกต่อไป แต่การทำถนนรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ จะเป็นตัวขวางกั้นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตริมน้ำอันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน
4.การก่อสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในกรณีที่เกิดอุทกภัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ถึงแม้ว่าในภาวะปกติ พฤติกรรมการไหลที่เปลี่ยนแปลงนี้อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก แต่จะส่งผลต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเซาะตลิ่ง และการตกตะกอนในลำน้ำ รวมถึงการกักเก็บขยะมูลฝอย ซึ่ง กทม.ควรศึกษาผลกระทบให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมในอนาคต
5.ล่าสุดจากการที่ กทม.ตัดโครงการดังกล่าวออกบางส่วน จากเดิมที่วางแผนไว้ 14 กิโลเมตร คงเหลือความยาวรวมประมาณ 12.45 กิโลเมตร เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแม้แต่จากภาครัฐเองตามที่ กทม.กล่าวอ้าง
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สมัชชาแม่น้ำฯ จึงมีความเห็นว่าหากมีการดำเนินโครงการนี้ต่อไป จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง และสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ จึงขอคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในรูปแบบของการสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ และขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดสั่งยุติโครงการฯ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานครตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมด้วยคณะทำงานและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข่าวว่า กรุงเทพมหานครพร้อมเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาระยะแรกช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึง กรมชลประทาน ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทาน ถึง คลองรอบกรุง ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึง คลองบางพลัด และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด ถึง คลองบางยี่ขัน โดยอ้างว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านโครงการนี้แล้ว แต่ในข้อเท็จจริง ยังมีองค์กรและภาคประชาสังคมที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว อีกทั้งโครงการนี้ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/