อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ชวนดูความน่ารักลูกค่างแว่นถิ่นใต้ 2 ตัว ก่อนพลัดขนเปลี่ยนเป็นสีดำในเดือน ส.ค. 2566 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประยูร พงศ์พันธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เปิดเผยว่า ปี 2566 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ 2 ตัว เป็นลูกค่างแว่นถิ่นใต้ ที่เกิดใหม่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง หลังแม่ค่างแว่นได้ออกลูกใหม่และนำลูกทั้ง 2 ตัวออกไปหากิน ให้ทุกคนได้ชมความซุกซนของลูกค่างแว่นถิ่นใต้ ซึ่งเป็นค่างแว่นฝูงแรกที่พาลูกน้อยสีเหลืองทองแรกเกิดจำนวน 2 ตัวออกมาหากินบริเวณชายป่ารอบๆ ที่ทำการฯ เกาะวัวตาหลับ
“ปกติแล้วค่างแว่นถิ่นใต้จะใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 140-150 วัน ช่วงระยะเวลาออกลูกประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม ดังนั้น นักท่องเที่ยวจะสามารถพบเห็นลูกค่างแว่นสีเหลืองทองได้ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนนี้ (มี.ค.ถึง ส.ค.) ก่อนที่เจ้าตัวน้อยจะค่อยๆเปลี่ยนขนเป็นสีดำพร้อมๆกับความซุกซนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็ต้องรอเจอค่างแว่นตัวน้อยรุ่นใหม่อีกครั้งในปีถัดไป” นายประยูรระบุ
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง กล่าวว่า ในการชมความน่ารัก แม่ค่างแว่นและลูกค่างแว่นตัวน้อย ที่นักท่องเที่ยวพึงปฏิบัติคือ เมื่อพบเจอค่างแว่นถิ่นใต้ เพื่อการป้องกันอันตรายและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและนิเวศวิทยาของสัตว์ป่า ควรปฏิบัติ ดังนี้
1.ห้ามส่งเสียงดังและเว้นระยะห่าง ประมาณ 10-15 เมตร การเข้าใกล้จะรบกวนวิถีชีวิตสัตว์ป่า
2.ห้ามให้อาหารทุกชนิดหรือแสดงพฤติกรรมในการหยิบยื่น เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ป่า
3.เก็บอาหาร น้ำดื่ม ผลไม้และขนมขบเคี้ยว ไว้ในกระเป๋าอย่างมิดชิด ในขณะเดินศึกษาธรรมชาติไม่ให้สัตว์ป่ามองเห็นหรือได้กลิ่นที่จูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้แม่ ลูกค่างแว่นได้อยู่อาศัยในธรรมชาติที่ปลอดภัย ไม่ถูกรบกวน เนื่องจากค่างแว่นเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับมนุษย์มากนัก มักขี้อายและจะหลบหนีเมื่อพบกับมนุษย์ ในขณะที่ออกหากินเป็นฝูง จะมีอยู่ตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่เฝ้าคอยระวังภัยโดยนั่งดูเหตุการณ์บนต้นไม้เงียบ ๆ