นักเศรษฐศาสตร์ TDRI เผยแนวทางการรับมือภาวะโลกรวนที่กระทบต่อเศรษฐกิจของภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ชี้ปชช.เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ทำได้ ภาครัฐต้องมีมาตรการที่รอบคอบ SME น่ากังวล
จากสถานการณ์ภาวะโลกรวน (Climate change) ในปัจจุบันส่งผลกระทบถึงแนวทางการดำเนินชีวิตและระบบเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนในทุกภาคส่วนล้วนได้รับผลกระทบและต้องหาหนทางในการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สนทนากับดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงแนวทางการรับมือภาวะโลกรวน (Climate change)ที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละภาคส่วน ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ
@ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส TDRI / ภาพจาก tdri.or.th
เริ่มที่ภาครัฐจัดทำนโยบาย
เริ่มต้นที่ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า ในการรับมือกับภาวะโลกรวนของภาครัฐที่สำคัญจะเป็นเรื่องการจัดทำแผนนโยบายต่าง ๆ เพื่อช่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในที่ประชุม COP 26 พลเอกประยุทธ์ได้แสดงเจตจำนงค์ไว้ว่า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2065 เมื่อมีการประกาศเป้าหมายออกไป ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องจึงต้องเร่งดำเนินการค้นหาและจัดทำแนวทาง (Road Map) ที่จะบรรลุจุดประสงค์ข้างต้น
ยกตัวอย่างกระทรวงพลังงาน
ก่อนการประชุม COP 26 ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20% ภายในปี 2030 แต่ภายใต้เป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการ โดยเร่งดำเนินนโยบายให้เร็วขึ้น มีความเข้มข้นมากกว่าเดิม เช่น ภาคพลังงานมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า และการพัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมมากชึ้นในภาคขนส่ง ซึ่งเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อีกส่วนคือแผนที่จะใช้รถเมล์ไฟฟ้า แนวทางเหล่านี้จะช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนพลังงานและขนส่ง
แนวทางของภาคการเกษตรยังไม่ชัดเจน
แต่แนวทางที่ยังไม่ชัดคือในภาคส่วนของการเกษตร เพราะการปลูกข้าวเป็นส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยเฉพาะก๊าซมีเทน เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จะต้องมีการจัดทำแผนนโยบายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการปลูกข้าวได้อย่างไร ด้านปศุสัตว์ตนเข้าใจว่าในปัจจุบันเขาพยายามนำก๊าซมีเทนที่มาจากการทำฟาร์มปศุสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) นำมาผลิตไฟฟ้าหรือใช้แทน LPG
ภาครัฐยังมี ‘National Adaptation Plan’
ขณะเดียวกันภาครัฐก็มีการส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ รับมือกับภาวะโลกรวนด้วยการจัดทำแผนการปรับตัวแห่งชาติ (National Adaptation Plan) ที่มีการส่งเสริมให้ 6 ภาคส่วนปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน ได้แก่ ภาคการจัดการน้ำ การเกษตรและอาหาร สาธารณะสุข ท่องเที่ยว การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และภาคการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการจัดทำเป็นมาตรการต่าง ๆ ที่เพิ่มขีดความสามารถให้ 6 ภาคส่วนข้างต้นรับมือภาวะโลกรวนได้ดียิ่งขึ้นและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กระทบต่อในด้านชีวิต ทรัพย์สิน ระบบเศรษฐกิจ และสิ่งที่มีเกี่ยวข้อง
ภาคเอกชนเน้นลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดร.กรรณิการ์ กล่าวถึงแนวทางการรับมือของภาคเอกชนว่า ตนเข้าใจว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นส่วนมาก โดยในแต่ละภาคส่วนมีแนวทางการดำเนินการที่แตกต่างกัน เช่น ภาคการผลิตนำเทคโนโลยีในการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมาใช้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต หรือภาคบริการอย่างภาคการเงินที่หลายแห่งเริ่มมีการประกาศเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือว่า Net Zero ออกมาบ้างแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการปรับพอร์ตในการสนับสนุนสินเชื่อในโครงการพลังงานสะอาด อาคารสีเขียว หรือการขนส่งที่สะอาดมากขึ้น
ภาคประชาชนต้องเปลี่ยนพฤติกรรม
ส่วนภาคประชาชนทั่วไป คิดว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยการให้การสนับสนุนสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตลาดของสินค้าเหล่านี้เติบโตได้ เช่น เวลาที่เลือกซื้อสินค้าก็จะไม่ดูที่ราคาอย่างเดียวอีกต่อไป ต้องดูด้วยว่าสินค้านี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด
Targeted subsidy เป็นแนวทางเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยแต่ในไทยยังต้องศึกษาก่อน
ดร.กรรณิการ์ กล่าวถึงประเด็น การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) โดยยกตัวอย่างมาตรการอุดหนุนเฉพาะเจาะจง (Targeted subsidy) ในต่างประเทศที่มีการจ่ายเงินอุดหนุน (Subsidy) ให้การสนับสนุนประชาชนกลุ่มรายได้น้อยโดยตรงเพื่อให้เขาสามารถซื้อพลังงานสะอาด สินค้าและบริการเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถนำเอามาตรการข้างต้นมาประยุกต์ใช้ได้ แต่ต้องมีการศึกษาเชิงลึกว่าคนกลุ่มไหนที่จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และรูปแบบการช่วยเหลือจะเป็นรูปแบบใด เช่น คูปอง เงินโอนจากภาครัฐ เป็นต้น
เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยต้องติดตามข่าวสารเพื่อประโยชน์ของตนเอง
ดร.กรรณิการ์ อธิบายแนวทางโดยแบ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีเงินทุน
2.กลุ่มคนทั่วไปที่มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง
โดยในกลุ่มเกษตรกรราย่อยที่ไม่มีเงินลงทุนทำการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) วิธีการที่พวกเขาสามารถใช้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพภายใต้ภาวะโลกรวนต่อไปได้ คือ การติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศ โดยที่พวกเขาจะต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบในการเลือกพันธุ์พืชที่จะปลูก พันธ์ุสัตว์ที่จะเลี้ยง ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ สภาพดิน และแหล่งน้ำในพื้นที่ พยายามอย่าไปทำเกษตรที่ขัดกับสภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศ อีกส่วนคือการติดตามการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า จะทำให้พวกเขาวางแผนการผลิตหรือการเพาะปลูกได้ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น
กลุ่มคนทำงานกลางแจ้งน่ากังวล น้ำท่วมในเมืองใหญ่ต้องแก้ที่ผังเมือง
ส่วนกลุ่มคนรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง ปัญหาที่พวกเขาเจอเป็นส่วนมากคือ น้ำท่วมในเมือง หรือแรงงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ซึ่งในกลุ่มที่ต้องทำงานกลางแจ้งมีเรื่องที่น่ากังวลคือ โรคที่มากับความร้อน (heat stress) ที่จะทำให้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ วิธีการที่จะช่วยบรรเทาปัญหาของคนกลุ่มนี้ได้ คือ การร่วมมือกับนายจ้างเพื่อหาวิธีการที่จะช่วยเหลือ อย่างในต่างประเทศมีการพยายามลดชั่วโมงการทำงานกลางแดดให้น้อยลง เปลี่ยนชั่วโมงการทำงานให้ไม่อยู่ในช่วงแดดร้อนจัด หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือที่กำบังแดดให้กับคนกลุ่มนี้ เพื่อให้เขาสามารถทำงานได้สบายมากขึ้น ในส่วนของปัญหาน้ำท่วมเมืองใหญ่อย่างที่กรุงเทพมหานครเผชิญ การแก้ปัญหาระยะยาวก็ต้องมีการคุยกันในเรื่องการวางผังเมือง หรือการจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อแก้ปัญหา ถ้าเป็นส่วนของเรื่องเฉพาะหน้าก็ต้องดูในเรื่องระบบระบายน้ำในเมืองและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนไม่ให้ไปอยู่ในพื้นที่ขวางทางน้ำ
หนทางบรรลุ Net Zero ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของประเทศไทยที่เผชิญกับโควิดแล้วมีภาวะเศรษฐกิจตึงตัว กลุ่มที่น่ากังวลคือ กลุ่ม SME เพราะไม่ได้มีเงินทุนสูงเหมือนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ แนวทางที่กลุ่มนี้ทำได้อาจจะเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับสภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจตนเอง ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ไม่น่ากังวลเพราะมีความสามารถในการลงทุน และสามารถระดมทุนมาสนับสนุนกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกได้ โดยการออกพันธบัตรสีเขียว หรือพันธบัตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของประชาชน คือ การปรับไลฟ์สไตล์ แต่ถ้าเงินไม่เยอะก็ทำเท่าที่ทำได้ เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ก่อน เช่น ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ครั้งเดียวทิ้ง เมื่อมีเงินมากพอก็ทำสิ่งที่ส่งผลมากขึ้น เช่น ติดแผงโซล่าเซลล์ เปลี่ยนไปใช้รถพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
ด้านภาครัฐต้องทำให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคหันมาสนใจและตระหนักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ในส่วนของการสนับสนุนภาคธุรกิจก็อาจจะมีปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจปรับตัวได้ยาก หรือเป็นมาตการจูงใจทางภาษีกับภาคธุรกิจให้ลงทุนหรือปรับธุรกิจให้เปนมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในด้านประชาชน คือ ให้การช่วยเหลือผู้บริโภค