วงเสวนา FTA Watch และเครือข่าย ชี้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของไทยเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรายใหญ่ในประเทศ ใช้ APEC บังหน้าเพื่อขยายธุรกิจ เผยคาร์บอนเครดิตเป็นสิทธิ์ที่ทำให้โลกร้อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 FTA Watch และเครือข่าย จัดเสวนา ‘วิพากษ์แผนปฏิบัติการ BGC ในเวที APEC2022 เพื่อผลประโยชน์ใคร ?’ โดยมีภาคประชาสังคมเข้าร่วมเสวนา การเสวนาครั้งนี้กล่าวถึงการใช้รูปแบบเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดหลักในการประชุม APEC 2022 โดยผู้เข้าร่วมเสวนามีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน คือ BCG Model ที่ไทยนำเสนอเป็นการสนับสนุนกลุ่มทุนรายใหญ่ในประเทศไทยให้มีความสามารถในการผูกขาดทรัพยากรได้มากขึ้น
เริ่มที่ น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวว่า โรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่จีนปิดการนำเข้าขยะพลาสติก ส่วนประเด็นปัญหาการนำเข้าขยะของไทยที่ทำตามข้อตกลง BCG การตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกในเขตปลอดอากรที่อยู่ใกล้เขตชุมชน และมลพิษของโรงไฟฟ้าจากขยะที่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้า
เวลาที่รัฐบาลพูดถึง BGC มักจะมองไปข้างหน้าตลอด แล้วคุยเฉพาะกลุ่มนายทุนใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่ไม่เคยมองว่าประเทศไทย ณ เวลานี้มันกำลังเน่าเฟะอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีปัญหา เขากำลังอยู่ไม่ได้อย่างไร แล้วพื้นที่ที่เขาอยู่ไม่ได้ พื้นที่ที่เขามีปัญหา ส่วนมากคือพื้นที่ทำการเกษตรทั้งนั้น เป็นแหล่งผลิตอาหาร ตอนนี้พื้นที่เหล่านั้นกำลังปนเปื้อนหนักมาก
BGC เอื้อทุนใหญ่ ทิ้งชาวบ้าน
ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า การฟอกเขียวในโครงการ BGC การประชุม APEC ในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนที่ทำธุรกิจฟอกเขียวข้างต้นได้ขยายธุรกิจ การให้ภาคเอกชนขับเคลื่อน BCG โดยที่ภาครัฐแทบจะไม่มีส่วนร่วม การปลดล็อคกฎหมายเพื่อสนุบสนุนกลุ่มทุนภายใต้คราบการดำเนินการตาม BCG เช่น การผูกขาดพันธุ์พืช เปิดทางให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ แก้ข้อจำกัดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น
ถ้าเราเห็น Green Deal ของสหภาพยุโรป จะบอกชัดเจนว่า เขาจะเพิ่มพื้นที่เกษตรเชิงนิเวศน์ เช่น เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 25% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด ของไทยเราตอนนี้อยู่ที่ประมาณศูนย์จุดกว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าทำตามแผนศึกษาจะได้ 1% กว่า ๆ แต่เรื่องนี้ไม่อยู่ใน BCG ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 50% ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ 50% ลดการใช้ปุ๋ยเคมี 20% ไม่เห็นสิ่งนี้ เพราะสิ่งที่เราทำคือการใช้หลักการ BCG เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บรรษัทขนาดใหญ่ เพื่อสามารถทำอุตสาหกรรมทั้งเกษตรและอาหารแบบสกปรก ๆ ได้ต่อไป ผมเลยใช้คำว่านี่คือ BCG ลวงโลก
ด้าน ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า การใช้คำว่า Green เป็นการอำพรางพฤติกรรมที่ใช้และทำลายทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า ส่วนคาร์บอนเครดิต กลายเป็นการครอบครองสิทธิที่จะทำให้โลกร้อนโดยที่ซื้อ-ขายสิทธิ์ได้ การครอบครองตลาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียวของกลุ่มทุนต่าง ๆ ความทุกข์ยากของผู้คนสร้างเป็นผลกำไรโดยตัวมันเองไม่ได้ แต่ถ้าเราไปพูดถึงว่าจะวัดปริมาณคาร์บอนยังไง เราจะขายมันยังไง เราจะไปลงทุนปลูกป่ายังไง นี่กลายเป็นสินค้าแบบใหม่ กลายเป็นการลงทุนแบบใหม่
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Greenpeace Thailand กล่าวว่า แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่นำไปขายคาร์บอนเครดิตได้ และการใช้พื้นที่ป่าของไทยในอนาคตตามแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำถามใหญ่ที่เราจะถามหน่วยงานรัฐที่คำนวณเรื่องนี้ออกมา (การใช้พื้นที่ป่าในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก) จะเอามาจากไหน ถ้าไม่ไปยื้อแย่งมาจากพื้นที่ของชาวบ้านหรือว่าพื้นที่ที่มันเป็นป่าเสื่อมโทรม หรือว่าเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน
ปิดท้ายที่ นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ความกังวลที่มีต่อ BCG ที่จะมีผลคือ การเข้าถึงยา เข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยนายเฉลิมศักดิ์อธิบายว่า BCG ให้ความสำคัญกับระบบสิทธิบัตรเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดยาได้ยาวนานขึ้น ราคายาจะแพงขึ้น อีกทั้งนโยบาย Medical Hub กับ Wellness Tourism ที่ยังไม่มีความชัดเจน
“สุดท้ายในเรื่องของ BCG ที่เรากังวล เพราะว่าใน BCG มีการพูดถึงเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ โดยคำว่า Wellness จะคลอบคลุมด้านการนวดแผนไทย โยคะ ส่งเสริมสุขภาพทั่วไป แต่สิ่งที่รัฐบาลสื่อสารใช้คำว่า Medical Hub กับ Medical Tourism ซึ่งทั้งสองมีนัยยะต่างกัน จะมีการสมองไหล คือดึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรัฐไปสู่โรงพยาบาลเอกชน เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว เรารู้สึกว่ามันกำกวมคลุมเครือ ว่าคุณจะเอายังไงว่าคุณเอาเรื่องของ Wellness หรือ Medical Hub ถ้าเป็น Wellness เราไม่กังวล แต่ถ้าเป็น Medical Hub ที่ต้องเป็นเรื่องการรักษาพยาบาลอันนี้เรากังวล เพราะปัจจุบันเรามีปัญหาขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์และปัญหาชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของหมอ” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
ชมเสวนาย้อนหลังได้ที่: วิพากษ์แผนปฏิบัติการ BGC ในเวที APEC2022 เพื่อผลประโยชน์ใคร ?