เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน รุกยื่นหนังสือ 'ปธ.สภาม.นเรศวร- เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.' สอบกลุ่มนักวิชาการ ทำ EIA แนวส่งน้ำยวมพฤติกรรมไม่น่าไว้ใจ มายืนข้างขอถ่ายรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต ขีดเส้น 15 วันต้องมีคำตอบ -ด้านแหล่งข่าวมหาวิทยาลัยเผยเรื่องนี้มีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามระเบียบแล้ว คาดใช้เวลา 90 วันรู้ผล-ส่งเรื่องเข้าสภามหาวิทยาลัยที่กทม.ด้วย
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวในช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ชาวบ้าน ต.นาคอเรือ อ.ฮอต จ.เชียงใหม่ ได้ออกคัดค้านการก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) พร้อมตั้งข้อสังเกตกรณีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เข้ามาในพื้นที่ว่า อาจจะมีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล เหมือนที่ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แบบไม่ถูกต้องตามข่าวที่สำนักข่าวอิศราเคยนำเสนอ ซึ่งเรียกว่า ‘EIA ร้านลาบ’
สำนักข่าวอิศรา รายงานความเคลื่อนไหวล่าสุด ว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ได้ทำหนังสือถึงประธานสภามหาวิทยาลัยนเรศวร และทำสำเนาถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยนเรศวรกลุ่มหนึ่ง กรณีที่รับจ้างจากกรมชลประทาน จัดทำรายงาน EIA โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และโครงการสืบเนื่อง เป็นทางการ
เนื้อหาหนังสือระบุสาระคำสัญว่า ที่ผ่านมา คณะนักวิชาการกลุ่มนี้ เคยทำรายงาน EIA โครงการไว้และสิ้นสุดขอบข่ายการปฏิบัติงานไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวการทำรายงาน EIA มีปัญหาหลายจุด อาทิ จำนวนพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการไม่สอคล้องกับความเป็นจริง, กระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ไม่ครบถ้วน, ใช้ข้อมูลผิดวัตถุประสงค์ และใช้รูปภาพหรือข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นต้น
โดยทางเครือข่ายประชาชนฯ จะให้เวลาตอบกลับภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ ซึ่งภายในหนังสือดังกล่าวแนบชื่อนักวิชาการจำนวน 9 รายที่ร่วมจัดทำรายงาน EIA ทั้งหมดด้วย (ดูรายละเอียดในหนังสือท้ายเรื่อง)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้เพิ่มเติม ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยว่า ทางสภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 แต่เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ จึงต้องส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานสภาฯ ที่กรุงเทพฯ
"จดหมายที่มาถึงไม่มีเอกสารแนบใด ๆ มีเพียงเนื้อความในจดหมาย 2 แผ่นเท่านั้น แต่ตอนนี้ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 90 วัน แต่หากเป็นเรื่องร้องเรียนจากภายนอกมหาวิทยาลัย ทางสภามหาวิทยาลัยก็จะเร่งรัดให้ใช้เวลาพิจารณาเร็วขึ้น แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า จะใช้เวลาตรวจสอบนานแค่ไหน" แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่ นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ซึ่งประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านที่ได้รับผลประทบ ได้ส่งหนังสือถึงประธานสภามหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.)และศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม(อว.)เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งใน มน. กรณีรับจ้างกรมชลประทานการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และโครงการสืบเนื่อง เพราะมีข้อมูลหลายส่วนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และมีการแอบอ้างชื่อและภาพชาวบ้านไว้ในงานวิจัยโดยไม่ขออนุญาตที่สำคัญคือมีการเบียงเบนข้อเท็จจริง
นายวันชัยกล่าวย้ำว่า หนังสือดังกล่าวเห็นชอบและลงนามโดยผู้นำชุมชน 9 ราย อาทิ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กำนันต.นาคอเรือ กำนัน ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
ส่วน นายดวงจันทร์ ทองคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม สถานีสูบน้ำ และกองดินจากการขุดอุโมงค์ กล่าวว่า "ขณะนี้ชาวบ้านในเขตป่า 3 จังหวัด กำลังได้เจอปัญหาเดียวกัน ทั้งการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ขุดอุโมงค์ และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เราจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงหลายสิ่งอย่างมาก ทั้งกุ้งหอยปูปลา แม่น้ำ ป่าไม้ ที่ดินทำกินของเรา กรณีที่นักวิชาการ มน.รับทำการศึกษาโครงการนั้น ตนและผู้นำในพื้นที่ ต่างพบเจอสิ่งเดียวกัน คือ พบว่ามีตัวแทนจากมหาวิทยาลัย นเรศวรมาพบเรา มายืนข้างเรา และถ่ายรูปเราไป"
“ที่จริงการที่เขาถ่ายรูปผมควรต้องขออนุญาตก่อน ผมถามว่า มาจากที่ไหน อยู่หน่วยงานไหน แต่เขาบอกว่ามาจากกรมชลฯ เขาตอบว่าจบดอกเตอร์ แต่ธรรมชาติสอนให้ผมรู้ที่ต่ำที่สูง รู้ในสิ่งที่ผิดที่ถูก เราไม่ใช่คนไม่มีมารยาท บ้านป่าของเราก็มีการศึกษา เขาถามว่าถ้ามีคนมาเอาเงินเป็นล้านมาให้จะเอาไหม ผมบอกไปว่าผมไม่เอาเงินล้าน ผมอยู่บ้านป่า ผมกินของดอย กินกุ้งหอยปูปลา ดีกว่าเงินล้านเดียว หากรับเอาไปปีเดียวก็หมด ล้านเดียวเดี๋ยวก็หมดเกลี้ยง เอาทรัพยากรธรรมชาติของเรากลับคืนมาดีกว่า พวกเรายืนยันว่าจะไม่โยกย้าย จะไม่หนี” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าว