ครม.เห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้อง ‘พีมูฟ’ รวม 15 กรณี สางปมที่ดินทำกิน – คดีความ มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ (P-Move) ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ โดยมีประเด็นข้อเรียกร้อง รวม 15 กรณี สรุปรายละเอียด ดังนี้
1.เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของ ขปส. กรณีให้ยกระดับโฉนดชุมชนให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดที่ดินตามมาตรา 40 (4) ของ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติรับหลักการดังกล่าวไปพิจารณานำเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อพิจารณาการยกระดับการจัดที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนรูปแบบหนึ่งของการจัดการที่ดินต่อไป
2.มอบหมายคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านคดีความกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม กับคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ไปศึกษากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อพิจารณาว่าคดีต่างๆ เข้าข่ายการนิรโทษกรรมตามพระราชกฤษฎีกาฯ หรือไม่
3.มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการแก้ไขปัญหาฯ นำข้อเสนอของ ขปส. ไปหารือกับ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปพิจารณาแนวทางการดำเนินการในการทบทวน พ.ร.บ. เช่น ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
4.เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอ 1) ให้ ครม.มีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใช้มติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2543 มาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท.ทั่วประเทศ 2) ให้ ครม.มีมติให้ รฟท.ใช้มติอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เป็นแนวทางแก้ปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ถูก รฟท. ฟ้องร้องดำเนินคดี ให้สามารถเช่าที่ดินเดิมที่อาศัยอยู่ในลักษณะสัญญาเช่าที่ดินชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี ในอัตราค่าเช่า 20 บาทต่อตารางเมตรต่อปี หากไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ให้ รฟท.ไปแถลงต่อศาลเพื่อชะลอการดำเนินคดีระหว่างการดำเนินการทำสัญญาเช่าชั่วคราว กรณีสิ้นสุดแล้วให้ รฟท. จัดหาพื้นที่รองรับใกล้เคียงกับชุมชนระหว่างรอที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ 3) ให้ ครม.มีมติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในระยะต่อไปโดยเร่งด่วน 4)มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบรายชื่อชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของ รฟท. เพิ่มเติมและพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการตามข้อเสนอของ ขปส. และมอบหมายให้ รฟท. ไปหารือร่วมกับ ขปส. เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีไปตามมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2543
5.มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รับไปเร่งรัดดำเนินการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... (ฉบับประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 16,559 รายชื่อ หรือ ฉบับของ ขปส.) รวมทั้งร่างฉบับที่เกี่ยวข้องด้วย
6.มอบหมายให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อพิจารณากรณีขอให้แก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และรับประเด็นข้อเสนอของ ขปส. ไปศึกษาแนวทางการดำเนินการตามโมเดลโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่
7.รับไปแก้ไขประเด็นปัญหาการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และปรับปรุงที่อยู่อาศัย โดยพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคต่อไป
8.เห็นชอบให้ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ และคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
9.มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
10.มอบหมายให้หน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐทุกประเภทเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ โดยกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการและการรายงานผลที่ชัดเจนต่อไป และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหา และ รับประเด็นข้อเสนอ ขปส.ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
11.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมาเลย์และชาวกะเหรี่ยง พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกระดับแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงของ ขปส. ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าเหมาะสมขอให้เสนอความเห็นประกอบด้วยว่า คณะกรรมการกลางที่จะพิจารณาให้มีการแต่งตั้งขึ้นนั้น ควรมีบทบาท ภารกิจและองค์ประกอบอย่างไร และมอบหมายฝ่ายเลขานุการจัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ร่วมกับของ ขปส. และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
12.รับทราบข้อเรียกร้องของกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นแล้ว และขอให้แจ้งให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย ทราบข้อเรียกร้องของ ขปส.
13.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสถานะและสิทธิของบุคคลตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 และตามที่กรมการปกครองได้กำหนดไว้ รวมทั้งรับประเด็นข้อเสนอของภาคประชาชนไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไปด้วย
14.เห็นชอบตามข้อเสนอของ ขปส. ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ จำนวน 2 กรณีได้แก่ ระบบบำนาญประชาชน และเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 0 – 6 ปี อีกทั้งเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
15.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับคณะกรรมการร่วมระหว่างภาคราชการและผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของรัฐ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง จังหวัดอุบลราชธานี โครงการแก้มลิงทุ่งทับใน จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี จังหวัดอุตรดิตถ์ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่งาว จังหวัดลำปางและโครงการผันน้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนและรายงานผลให้คณะกรรมการทราบต่อไป
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ตามที่ ขปส. ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา 15 กรณี โดยมีหลายกรณีเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาดำเนินการในระดับนโยบาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาให้ความเห็นประกอบการนำเสนอแนวทางการ อย่างละเอียดรอบคอบและเป็นไปตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายกรณีปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว