โฆษกรัฐบาล เผย 4 ปีขับเคลื่อน ‘อีอีซี’ เซ็นสัญญา 4 โครงการใหญ่ ลงทุน 6.5 แสนล้านบาท รัฐได้ผลตอแทนสูง 2.1 แสนล้านบาท คาดทยอยแล้วเสร็จในปี 2568
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ขณะนี้การดำเนินโครงการมีความก้าวหน้าไปมากพอสมควรและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยความสำเร็จ 4 ปี ของอีอีซี เกิดการเติบโตที่ดีครบทุกมิติ เกิดผลประโยชน์โดยตรงถึงประชาชนทุกกลุ่ม และเกิดการบูรณาการด้านงบประมาณกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
ปัจจุบันผลักดันโครงการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนจนเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยได้เซ็นสัญญาครบ 4 โครงการแล้ว ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และ 4.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดเงินลงทุนกว่า 650,000 ล้านบาท โดยรัฐได้ผลตอบแทนสูงถึง 210,000 ล้านบาท ซึ่งทุกโครงการคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2568 เป็นต้นไป ถือเป็นการสร้างต้นแบบให้ประเทศไทยก้าวสู่การพึ่งพาตนเองและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สร้างงานให้คนไทย และสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐ
นายอนุชา กล่าวอีกว่า ด้านการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เกิดการลงทุนรวมที่ได้อนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของอีอีซี
โดยก้าวต่อไปอีอีซีได้วางแผนการลงทุนระยะที่ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อขับเคลื่อนต่อยอดและเร่งรัดการลงทุนโดยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและวิจัย อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยวางเป้าการลงทุนไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเกิดมูลค่าการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท โดย EEC น่าจะขยายตัวได้ 7-9% ต่อปี ซึ่งจะเป็นการเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ ทำให้ประเทศไทยขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังได้เร่งขยายและพัฒนาโครงข่าย 5G ให้การใช้ 5G เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ระดับชุมชน โดยเริ่มพัฒนาต้นแบบที่บ้านฉางและเมืองพัทยา ก้าวสู่ชุมชนอัจฉริยะและต่อยอดสู่ภาคการผลิต ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งสร้างแนวทางส่งเสริมการลงทุนใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า EV การแพทย์สมัยใหม่ และการขนส่งโลจิสติกส์ ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก้าวสู่พื้นที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอนาคตที่อีอีซีมุ่งมั่นให้เกิดการลงทุนที่ยั่งยืน