“...สิ่งที่เราจะไปข้างหน้า คือ การสร้างความมั่นคงทางพลังงานอนาคต เขาใช้พลังงานอะไรเราก็ต้องตามไปทำ ไม่ใช่ทำอยู่แค่เรื่องถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซฯ ที่ทำอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ส่วนBeyond จะโฟกัส ตรงที่ 12 S-curve (12 อุตสาหกรรมไทยที่จะสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อน เพราะถ้ามีนโยบายตั้งอยู่ ไม่มีคนขับเคลื่อนมันก็จะไม่เป็นรูปธรรม...”
ในช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจพลังงานเกิดขึ้น!
เมื่อ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ออกมาประกาศว่า ปตท.จะปรับวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจใหม่ ภายใต้แนวคิด “Powering Life with future energy and beyond” หรือ "การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งชีวิต" เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจด้านพลังงานของประเทศและโลกที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
หลังจากนั้นก็ปรากฎเป็นข่าวตามมาเป็นระยะๆ ว่า ปตท.มีการตั้งบริษัทลูกหรือจับมือหุ้นส่วนทางธุรกิจหลายราย เพื่อรุกก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงานในอดีต อาทิ พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีจัดเก็บพลังงาน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานไฮโดรเจน life Science, Mobility & Lifestyle , ธุรกิจที่สร้างมูลค่าสูง (High Value Business) โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และสำรวจหาธุรกิจใหม่ ๆ เป็นต้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ปตท. ได้นำคณะสื่อมวลชนไทยเดินทางมาศึกษาดูงานความคืบหน้าการลงทุนธุรกิจใหม่ ภายใต้แนวคิด “Powering Life with future energy and beyond” ดังกล่าว ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประกาศยืนยันเป็นทางการว่า ปตท.จะเดินหน้าธุรกิจใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์นี้เต็มที่ ในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2565 -2569) นับจากนี้ สัดส่วนเม็ดเงินลงทุนของ ปตท. ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ เงินลงทุนในส่วนของ ปตท. จำนวน 146,000 ล้านบาท และในกลุ่มบริษัท ปตท. จำนวน 988,000 ล้านบาท จะถูกบรรจุใส่เข้าไปในแผนการลงทุน ภายใต้แนวคิด “Powering Life with future energy and beyond” ประมาณ 30 % ของการลงทุนทั้งหมด
พร้อมตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 (ค.ศ) การดำเนินธุรกิจในส่วนของ future energy and beyond จะสร้างกำไรให้กับ ปตท. ได้มากถึง 30%
นายอรรถพล ย้ำว่า ตัวเลขกำไรประมาณ 30 % จาก future energy and beyond ดังกล่าว ไม่ได้นับร่วมอยู่ในสัดส่วนกำไรที่ ปตท.ได้รับจากการทำธุรกิจถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ (พลังงานดั้งเดิม หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิล ) ในปัจจุบัน แต่มันเป็นกำไรในส่วนที่งอกเงยและเติบโตขึ้นจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่แล้ว
"ธุรกิจ future energy and beyond ที่ ปตท.ลงทุนไปนั้น ภายในปี 2030 (ค.ศ) จะต้องมีกำไรมาจากธุรกิจเหล่านี้ให้ได้ 30 % เพิ่มเติมจากกำไรที่ ปตท.ได้รับจากธุรกิจถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อยู่แล้ว แต่มันคือการขยายกำไรเพิ่มมากขึ้นจากที่ได้รับในปัจจุบัน"
"เราไม่ได้บอกว่า ธุรกิจที่ทำอยู่เดิมในปัจจุบันจะหดตัวไป แต่ธุรกิจใหม่นี้ มันจะงอกและโตขึ้นมาจนได้อีก 30 % ไม่ได้รวมอยู่ในเค้กก้อนเดิมที่ ปตท.ได้รับจากธุรกิจเดิม ” นายอรรถพล ระบุ
@ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ปตท. เปิดแถลงข่าวต่อคณะสื่อมวลชนไทย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ส่วนเหตุผลสำคัญในการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ทางธุรกิจใหม่ ของ ปตท.ภายใต้แนวคิด “Powering Life with future energy and beyond” นั้น
นายอรรถพล อธิบายว่า ธุรกิจของ ปตท. เดินทางมาถึงจุดที่อุตสาหกรรมพลังงานในวันข้างหน้าเริ่มไม่ชัดเจนแน่นอน โลกเริ่มมองหาพลังงานใหม่เข้ามาใช้ทดแทนธุรกิจพลังงานดั้งเดิม หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่ประเทศต้องการ New S-Curve (หน่วยธุรกิจใหม่ หรือสินค้า/บริการใหม่ ๆ ) ที่จะสร้างการเติบโตใหม่ให้กับประเทศ และทาง ปตท.เองก็ต้องการเช่นกัน
"เราอยากให้องค์กรเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะเราเดินทางมาเจอทางแยกแล้ว เราดูแล้ว สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนไป และมันก็บีบรัดเข้ามาเรื่อย ๆ ปตท.ต้องเปลี่ยนลักษณะการทำธุรกิจเช่นกัน"
ส่วนจะเริ่มเปลี่ยนอย่างไรนั้น นายอรรถพล ระบุว่า "วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ ต้องส่งสัญญาณให้พนักงานทุกคนรู้ ซึ่งวิธีที่เราเลือกก็คือการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่นั้นเอง"
“ปตท. เราเกิดขึ้นจากปัญหาวิกฤตพลังงานในอดีต ทำให้เรามีภารกิจสำคัญ คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งอันนี้ต้องบอกว่ายังเป็นหัวใจสำคัญของเราอยู่ ต่อให้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ ภารกิจนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน เราทำมาโดยตลอด ดูอย่างปัจจุบันแม้ว่าจะมีการบ่นว่าน้ำมันแพง แต่น้ำมันมันไม่ขาดแคลน ทุกคนยังมีน้ำมันใช้อยู่ไม่ขาด เพราะพันธกิจของปตท. คือการดูแลไม่ให้พลังงานขาดแคลน ถ้าเทียบกับปี 2021 ถามว่ายอดใช้พลังงาน ณ ตอนนั้น กับปัจจุบันต่างกันไหม ต่างกันมหาศาล ประเทศเราโตขึ้นมาเยอะ การใช้พลังงาน ปี 2021 กับปัจจุบันต่างกันมาก ปัจจุบันเราใช้มากกว่าอดีดเยอะมากแต่เราก็ไม่ขาดแคลน เพราะมันคือภารกิจสำคัญของปตท."
"เมื่อก่อน ปตท.เราอยากเป็นบริษัทพลังงานไทยชั้นนำข้ามชาติ ถามว่า ทำไมต้องข้ามชาติ เพราะว่า บ้านเราไม่มีพลังงานเราต้องออกไปหาข้างนอก เรามาตั้ง บริษัท PTT International Trading Pte Ltd ที่ลอนดอน เพื่อทำหน้าที่ในการติดต่อซื้อขายน้ำมันพลังงานต่างๆ บางคนไปอาบูดาบี ไปสหรัฐฯ เพราะว่าแหล่งพลังงานบ้านเราไม่พอ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะสร้างความมั่นคงให้กับพลังงานในประเทศ เราต้องออกไปหาแหล่งพลังงานทั่วโลก ให้มั่นใจว่าเราสามารถบริหารจัดการจัดหาน้ำมันพลังงานเข้ามาบ้านเราให้ได้ เราทำธุรกิจหลายอย่าง สร้างประมาณการค้าการขายให้สูงขึ้น เพื่อสร้างกำลังการต่อรอง สามารถเข้าไปคุยกับลูกค้าสามารถเจรจาซื้อน้ำมันเข้ามาได้ นอกจากนี้ ยังมีการลดการเพิ่งพาการนำเข้าด้วย พลังงานหลายอย่างเมื่อก่อนเราไม่เคยทำ เราก็ทำจนประสบผลสำเร็จอย่างดี"
นายอรรถพล อธิบายย้ำอีกว่า แต่ในปัจจุบันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว ตอนนี้ ปตท.เริ่มมองไปข้างหน้า มานั่งวิเคราะห์กันว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีอยู่เป็นอย่างไร ธุรกิจ ถ่านหิน เลยจุดสูงสุดไปแล้ว ส่วนน้ำมัน มองว่าจะถึงจุดสูงสุดประมาณปี 2030 -2032 เพราะหลังจากโควิดแม้จะเริ่มกลับมาโตขึ้น แต่เมื่อถึงปี 2032 แล้ว ธุรกิจนี้ก็จะค่อยๆ ลดลง
"ส่วน ก๊าซฯ ยังเป็นพลังงานช่วงเปลี่ยนผ่าน โลกอยากใช้พลังงานสะอาด แต่เรามองว่า ไฮโดรคาร์บอน มันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แต่กว่าที่จะเปลี่ยนจากไฮโดรคาร์บอน ก็ไปเป็นพลังงานทดแทนต้องใช้เวลาต้องพัฒนาเทคโนโลยี ระหว่างนี้ ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงช่วงเปลี่ยนผ่านที่ดีที่สุด เป็นไฮโดรคาร์บอน ที่สะอาดที่สุด จนถึงที่มองถึงปี 2040 ยังโตได้อีกนาน"
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า "แต่แน่นอนว่า ธุรกิจพลังงาน มันเจอช่วงทางแยกว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล ใช้น้อยลง วันข้างหน้า คือ อะไร ซึ่งข้างหน้าที่เห็นเป็นรูปธรรม ก็คือพลังงานทดแทนทั้งหลาย มันก็ต้องเตรียมตัวให้เสร็จตอนนี้ วิสัยทัศน์เดิมที่เราใช้มากว่า 10 ปี แล้ว ได้เวลาแล้ว จึงถือโอกาสเปลี่ยนใหม่เป็น Powering Life with Future Energy and Beyond ซึ่งภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่นี้ เราเปลี่ยนตัวเองทั้งวัตถุประสงค์ของตัวองค์กร และสิ่งที่จะเสริมเข้ามา วัตถุประสงค์ของเราก็คือ Powering Life จากการสร้างความมั่นคงพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งเรามองว่าตรงนั้น เราน่าจะทำได้ดีแล้ว และจะทำต่อไป แต่สิ่งที่จะทำให้มากต่อไปคือ Powering Life ก็คือจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนทุกชีวิต ผู้คน สังคม ประเทศชาติ สังคมโลก อันนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์ขององค์กร เป็นพลังขับเคลื่อนให้ทุกชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ ด้วย Future Energy and Beyond ที่ใส่เพิ่มเข้ามา”
“ สิ่งที่เราจะไปข้างหน้า คือ การสร้างความมั่นคงทางพลังงานอนาคต เขาใช้พลังงานอะไรเราก็ต้องตามไปทำ ไม่ใช่ทำอยู่แค่เรื่องถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซฯ ที่ทำอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ส่วนBeyond จะโฟกัส ตรงที่ 12 S-curve (12 อุตสาหกรรมไทยที่จะสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อน เพราะถ้ามีนโยบายตั้งอยู่ ไม่มีคนขับเคลื่อนมันก็จะไม่เป็นรูปธรรม”
นายอรรถพล ขยายความเพิ่มว่า ธุรกิจ Future Energy ที่ ปตท.ทำในขณะนี้ มีหลายเรื่อง อาทิ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน( Renewable) ตั้งเป้าปี 2030 เราจะได้พลังงานถึง 12,000 เมกะวัตต์ ซึ่งตอนนี้มีการลงทุนหลายส่วน อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ เพิ่มทุน Avaada Energy 4,608 MW (41.6%) ลงทุน Offshore Wind Power ไต้หวัน 595 MW (25%) ลงทุนโรงไฟฟ้า Solar Sheng Yang Energy 55.8 MW (90%) เป็นต้น
นอกจากนี้ จะมีเรื่อง Energy Storage & System Related , EV Value Chain EV Value Chain ที่ทำครบวงจร จับมือกับหุ้นส่วนทางธุรกิจอยู่ ให้เข้ามาร่วมลงทุนในไทย รวมถึงเรื่องรถไฟฟ้า จุดชาร์จไฟ เริ่มมีการขยายจุดบริหารในปั๊มน้ำมันของโออาร์ มากที่สุดในประเทศไทย และมีเป้าหมายให้กระจายไปทั่ว ซึ่งปีนี้โออาร์ น่าจะสามารถพูดได้ว่ารถไฟฟ้า สามารถมีวิ่งไปได้ทั่วประเทศ สามารถขึ้นเหนือล่องใต้ได้ ส่วน Battery Production เรามีแผนโรงงานแบตเตอรี่ Semi-Solid แห่งแรกในอาเซียน โรงงาน Axxiva แบตเตอรี่ ประเทศจีน (สัดส่วนหุ้น11.1%)
ขณะที่ BEYOND เป็นตัวที่ปตท. อยากจะเข้าไปลงทุนขยายธุรกิจ และเริ่มดำเนินการไปแล้ว อาทิ Life Science , High Value Business (ต่อยอดปิโตรเคมี ) Mobility & Lifestyle (ต่อยอดโออาร์) รวมถึง Logistics & Infrastructure , AI, Robotics & Digitalization เป็นต้น
"ในส่วนของเรื่อง AI, Robotics นั้น ตอนนี้โลกดิจิทัล กระโดดมารอรับแล้ว โลกที่จะตามมา คือ โลกที่อยู่ข้างหลังกำลังการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ให้ลดเวลาลงไปอีก โดยการใช้เอไอเข้ามาช่วยจะเป็นผลดี ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิต ซึ่งโลกปัจจุบันใกล้สู่โลก เทอร์มิเนเตอร์ (คนเหล็ก) ไปเรื่อย ๆ แล้ว"
นายอรรถพล ซีอีโอใหญ่ของ ปตท. ยังฉายภาพรวมการทำธุรกิจของ ปตท. ด้วยว่า ผลประกอบการทางธุรกิจของ ปตท. ปัจจุบันที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปแล้ว กำไรครึ่งปีแรก 6.4 หมื่นล้านบาท แต่ละธุรกิจถือว่าดีขึ้น เมื่อเปรียบกับปีที่แล้ว กำไรในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้าน โตขึ้นประมาณ 13 %
ส่วนกำไรของปตท. ไปไหนบ้าง นั้น แบ่งออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ คือ 1. นำเงินส่งรัฐ ในรูปแบบการเสียภาษีนิติบุคคล กับเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งสัดส่วนของผู้ถือหุ้น กระทรวงการคลังบวกกองทุนวายุภักษ์ก็คิดเป็น 60 % แล้ว 2.ปันผลให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย 3.ชำระหนี้ และ 4.ลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งการชำระนี้นั้น ปัจจุบัน ปตท.มีหนี้อยู่ประมาณ 1 ล้านล้าน แต่ก็เป็นสัดส่วนต่อทุนที่เหมาะสมที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้
ขณะที่การนำเงินส่งรัฐทั้งในรูปแบบการเสียภาษีนิติบุคคล เงินปันผล ก็เติบโตมาเรื่อยๆ ตอนนี้จ่ายเงินรัฐ อยู่ปีละประมาณ 7-8 หมื่นล้าน ถ้านับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มา รวมกันประมาณ 1ล้านล้าน ส่วนรัฐจะเอาเงินไปทำอะไรกันก็อยู่กับนโยบายของรัฐ จะไปลดราคาน้ำมัน หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่รัฐก็จะต้องมีลำดับความสำคัญ ของการจัดสรรเงินจัดสรรงบประมาณ จะเอาไปลดน้ำมัน ทำเรื่องการศึกษาพัฒนาคน ก็แล้วแต่รัฐ
" ในเรื่องของกำไร ก็อาจจะมีคำถามว่า ปตท.มีกำไร 6.4 หมื่นล้าน ทำอะไรไปบ้าง ทำเพื่อประชาชนหรือเปล่าในช่วงพลังงานแพง ต้องบอกว่า เราก็รู้ร้อนรู้หนาว เรามีการเอาเรื่องเข้าบอร์ด เอาเงินสนับสนุนไปที่กองทุนน้ำมัน 3 พันล้าน เรามีการตรึงเอ็นจีวีในราคาเดิมมานานแล้ว สำหรับผู้บริโภคทั่วไป และก็พิเศษสำหรับแท็กซี่ มีการให้ส่วนลดเรื่อง ก๊าซหุ้งต้ม สำหรับผู้มีรายได้น้อย ผ่านคนมาลงทะเบียน พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แพงลอยเราช่วยได้ตรงจุดกว่าที่จะไปหว่านทั้งหมด เรามีการจัดหาน้ำมันดิบ เพื่อสำรอง ทันทีที่รัสเซียบุกยูเครน เราไปซื้อน้ำมันมาเก็บไว้เฉยๆ 4 ล้านบาร์เรล ซึ่งมันก็มีต้นทุนในการเก็บต้องเช่าถัง เงินที่ซื้อไป ก็มีเรื่องดอกเบี้ย จนถึง 5-6 เดือน ใช้เงินไปประมาณ 5 ร้อยกว่าล้าน ในการเก็บเฉยๆ ไม่นับถึงเรื่องกระแสเงินสดเราก็เอาเงินหมื่นกว่าล้านไปวางไว้ เพื่อซื้อน้ำมันดิบ เป็นต้น"
"กำไรที่ว่า 6.4 หมื่นกว่าล้านก็ไปตามนี้แหละ ไม่ได้เข้ากระเป๋าใครคนใดคนหนึ่ง และที่สำคัญเราก็ดูให้มันอยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะพอควร เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ"
ซีอีโอ ปตท. กล่าวย้ำด้วยว่า ทั้งหมดเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจของปตท.ที่ทำอยู่ในปัจจุบันและที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคต โดยในส่วนของการดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with future energy and beyond” นั้น ในเรื่องของปัญหาอุปสรรคคงต้องมีแน่นอน แต่เชื่อมั่นในตัวคนปตท. เพราะธุรกิจใหม่หลายอย่างที่ไม่เคยทำ แต่คนของเราก็ทำได้ และปตท.ยังมีการดึงเอาผู้มีความสามารถภายนอกมาร่วมงาน มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ในการทำงานอยู่ตลอดเวลา
"ส่วนปัญหาปัจจัยภายนอก ที่หนีไม่พ้น ก็คงเป็นเรื่องความไม่แน่นอนธุรกิจใหม่ การคุยกับพาร์เนอร์(ผู้ร่วมลงทุน) สำคัญที่ให้เขามาเป็นตัวเสริม เรื่องหนี้ของใหม่ บางครั้ง เราไปเร็วอาจจะไม่ดี เร็วไป ลงไปเยอะ อาจมีหนี้ใหม่มา อันนี้ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการทำงานควบคู่กับนโยบายรัฐบาลหลายอย่าง เพราะนโยบายของรัฐบาล ถ้าเราคุยดี ๆ สื่อสารดี ๆ มันก็จะมีนโยบายออกมาที่เอื้อให้เราทำธุรกิจได้ดีขึ้น “
"แต่สำหรับองค์กรในทางธุรกิจต่อให้ใหญ่แค่ไหน ก็ต้องปรับต้องเปลี่ยน ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนธุรกิจตามไม่ทันโลก ก็จะมีปัญหาตามแน่นอน" ซีอีโอ ปตท.กล่าวทิ้งท้าย
ผลลัพธ์การลงทุนเดิมพันธุรกิจใหม่ครั้งนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ ต้องคอยดูกันต่อไป