‘ชัยวุฒิ’ ตอบกระทู้ถามสด ‘ศิริกัญญา’ ส.ส.ก้าวไกล ปมควบรวมทรู-ดีแทค ยัน กสทช.มีนโยบายชัดเจน ไม่ให้ขึ้นราคาค่าบริการแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2565 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องการผูกขาดระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมอบหมายให้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นผู้ชี้แจง
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า 8 ปีภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประชาชนรายได้ลด หนี้เพิ่มไม่หยุด แต่รัฐบาลมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ทุนใหญ่มาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีล่าสุดกับการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่ประชาชนเสี่ยงที่แบกภาระค่าบริการเพิ่มขึ้น จึงเกิดคำถามว่ารัฐบาลชุดนี้คิดว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเรื่องการผูกขาดธุรกิจหรือการกระจุกตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ และมีนโยบายป้องกันการผูกขาดอย่างไร เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดและสร้างเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชน
นายชัยวุฒิ ตอบว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญอยู่แล้วในการส่งเสริมเศรษฐกิจให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีในทุกด้าน และควบคุมกฎกติกาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมาโดยตลอด ยกตัวอย่างการค้าปลีก ประชาชนได้ประโยชน์จากการซื้อของในราคาที่เป็นธรรม มีการลดราคาและแข่งขันราคากัน ทั้งนี้กรณีที่บอกว่ามีการผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์เป็นมุมมองในเชิงลบมากเกินไป ซึ่งบางนโยบายเป็นเรื่องต้องทำ เพราะบางธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้จริง อาทิ ธุรกิจการสื่อสารหรือโทรคมนาคมในอดีตมีการผูกขาดโดยรัฐ ส่วนปัจจุบันมีการแข่งขันและไม่เกิดปัญหาการผูกขาดโดยมีสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแล และได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนรวมถึงเอกชนเกี่ยวกับปัญหาการควบรวมดังกล่าวด้วย และทราบว่า กสทช.กำลังศึกษาและจะมีคำตอบเร็ว ๆ นี้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับเรื่องนี้
น.ส.ศิริกัญญา ถามต่อว่า เรื่องการกำกับดูแลเป็นหน้าที่ของ กสทช. แต่รัฐบาลควรที่จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องนี้ จึงจะแก้ไขสถานการณ์ได้สำเร็จ สำหรับการควบรวมทรู-ดีแทค มีผลการศึกษาจาก 5 หน่วยงาน รวมถึงหน่วยงานที่ทรู-ดีแทคเป็นผู้จ้างให้ศึกษาก็ให้ข้อมูลตรงกันว่าจะทำให้ราคาค่าบริการแพงขึ้น ขั้นต่ำคือ 10% นอกจากนั้นยังมีการศึกษาด้วยว่า หากควบรวมสำเร็จ คู่แข่งน้อยราย อาจเกิดปัญหาการฮั้วเพื่อกำหนดราคาค่าบริการ ซึ่งคณะอนุกรรมการ กสทช. ก็รายงานผลออกมาว่า ถ้าฮั้วกันอาจทำให้ค่าบริการสูงขึ้น 49-200% ยังไม่นับรวมปัญหาการผูกขาดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจในเครือ รัฐบาลได้ประเมินปัญหาเหล่านี้อย่างไร และคิดว่ากฎหมาย กฎระเบียบ หรือประกาศที่มีอยู่เพียงพอต่อการกำกับดูแล เยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
นายชัยวุฒิ ตอบว่า เรื่องของการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสนใจและติดตามมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีที่มีการควบรวมกิจการและอาจทำให้มีการฮั้วราคาหรือเกิดการแข่งขันไม่เต็มที่ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งรัฐบาลไม่เห็นด้วยแน่นอน อย่างไรก็ตามเท่าที่พูดคุยกับ กสทช. มีแนวคิดตรงกันกับรัฐบาลคือ กสทช.สามารถควบคุมราคาค่าบริการได้อยู่แล้ว ซึ่งก็มีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่ให้ขึ้นราคาแน่นอน ยืนยันว่ามีการควบคุมราคา ส่วนกรณีที่มีการแข่งขันไม่เป็นธรรม เช่น ออกมาตรการบางอย่างกีดกันคู่แข่งหรือประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ก็จะมีการออกมาตรการโดย กสทช.เพื่อกำกับดูแลต่อไป ดังนั้นขอยืนยันว่าเรื่องการขึ้นราคาไม่น่าจะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการครั้งนี้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เรื่องกำกับดูแลราคา เป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันมากตั้งแต่สมัยประมูลคลื่น 3จี มีประกาศออกมาว่าจะกำกับดูแลราคาให้ถูกลง ผลปรากฏก็คือ หน่วยงานกำกับดูแลคำนวณค่าบริการจากการที่เอาทุกแพคเกจมารวมกันแล้วหารเฉลี่ย ทำให้ราคาที่ปรากฏบนหน้ากระดาษนั้นถูก แต่ค่าบริการกลับไม่ได้ถูกจริง เพราะบางโปรโมชั่นไม่มีใครใช้ หรือเป็นโปรโมชั่นที่ออกมาระยะสั้นหรือที่เรียกว่าโปรลับ ดังนั้นความเชื่อใจและมั่นใจว่า กสทช.จะกำกับดูแลราคา เรายังไม่เห็น นอกจากนี้เวลาเกิดปัญหาการควบรวมกิจการทั่วโลก รัฐบาลจะมีบทบาทในการนำมาโดยตลอด จึงเกิดคำถามว่า รัฐบาลไทยใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคและพาประเทศออกจากวิกฤตครัง้นี้หรือไม่ หรือมีความพยายามมองหาบริษัทใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการรายใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบจากการควบรวมกิจการหรือไม่ เพราะการไม่ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการผูกขาด อาจทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่าคนในรัฐบาลได้ประโยชน์จากการควบรวมเช่นกัน
นายชัยวุฒิ ตอบว่า ขอยืนยันว่า รัฐบาลหรือรัฐมนตรีทุกคนเชื่อว่าไม่มีใครได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ และเป็นเรื่องที่เอกชนคุยกันเอง เป็นสิทธิเสรีภาพในการทำธุรกิจ รัฐบาลมีกฎหมายกำกับดูแล ถ้าจะไปสั่งหรือมีคำสั่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับหรือไม่มีอำนาจคนสั่งก็มีความผิด การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องที่เราเห็นว่าไม่ชอบแล้วจะไปสั่งให้ทำได้ แต่ต้องไปดูว่ามีอำนาจหรือไม่ เรื่องนี้ยืนยันว่า กสทช.ศึกษาอยู่ และมีแนวทางกำกับดูแลหรือมีคำสั่งอะไรต่อไป ส่วนเรื่องนโยบาย รัฐบาลให้สิทธิเสรีภาพเอกชนทุกราย ไม่มีเอื้อประโยชน์ ธุรกิจโทรคมนาคมก็แข่งขันกันอย่างเต็มที่