นายกรัฐมนตรี กำชับทุกกระทรวงเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ สั่งเช็คงบลงทุน รายการไหนทำไม่ทัน-หมดความจำเป็น ให้ปรับแผนไปใช้จ่ายโครงการแก้ปัญหาความยากจนเป็นลำดับแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 พ.ค.2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทราบถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564 - มี.ค.2565) รวมระยะเวลา 6 เดือนมีการเบิกจ่ายแล้ว 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.40 ของงบประมาณทั้งหมด 3.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 0.40 มีการก่อหนี้ผูกพันแล้ว 1.82 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.73 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.49
ทั้งนี้ เฉพาะรายจ่ายด้านการลงทุนมีการเบิกจ่ายแล้ว 1.91 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.48 ของวงเงินรายจ่ายลงทุนรวม 6.08 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.48 มีการก่อหนี้ผูกพันแล้ว 4.04 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 66.43 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 8.28
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมตลอดจนรายจ่ายเพื่อการลงทุนที่ดำเนินการได้เกินกว่าเป้าหมายนั้น มาจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวต้องการแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินของภาครัฐ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายและการก่อหนี้ผูกพันแต่ละไตรมาส
อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณได้รายงานเพิ่มเติมว่า เฉพาะรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2565 ทั้งสิ้น 112,163 รายการ วงเงินรวม 6.08 แสนล้านบาทนั้น ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/65 มีรายการที่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 80,727 รายการ วงเงินรวม 5.02 แสนล้านบาท คงเหลือสถานะไม่อยู่ในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 31,436 รายการ วงเงิน 1.06 แสนล้าน ของ 568 หน่วยงาน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 4,374 รายการ วงเงิน 3.12 หมื่นล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนให้แล้วเสร็จ พร้อมกับมอบหมายให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล มีการติดตาม เร่งรัด และประเมินผลการปฏิบัติงานและการใช้่จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย หากพบว่ารายการใดหมดความจำเป็นหรือคาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ ก็ให้พิจารณาปรับแผนปฏิบัติการและการใช้จ่ายไปดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนเป็นอันดับแรกตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเป็นกลไกการขจัดปัญหาความยากจน สอดคล้องกับสถานการณ์ข้อเท็จจริงและบริบทของแต่ละพื้นที่