‘ดร.ชัยวัฒน์’ ชี้ไทยอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้งยืดเยื้อ คนเต็มไปด้วยความทุกข์ จนต้องหยาบคาย ป่าเถื่อน ผ่านโลกออนไลน์ ด้านแอมเนสตี้ฯ ไม่เลือกตอบโต้ หวั่นโหมไฟลุก หันมาใช้วิธีสื่อสารใหม่ พร้อมอยากเห็นเสรีภาพแสดงออก
วันที่ 3 มิ.ย. 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาเสวนา ครั้งที่ 21 เรื่อง ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อ มาจากบริบทอำนาจเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดการรังแกกันง่าย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรากำลังพูดถึงกัน กลายเป็นเรื่องศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์ของเรา ดังนั้น สรุปได้ว่า ความขัดแย้งยืดเยื้อ ทำให้เราออกไม่ได้ เหมือนกับความสัมพันธ์สามีภรรยา เมื่อภรรยาถูกทำร้ายโดยสามี ทำให้ภรรยาติดในกับดักนั้น ซึ่งสังคมไทยเหมือนจะมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น ทำให้คนเต็มไปด้วยความทุกข์ จึงได้แสดงความหยาบคายและป่าเถื่อนออกมา ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่เมื่อคนเป็นทุกข์ ทำให้ต้องปรากฎตัวในเรื่องเหล่านี้ในโลกออนไลน์
“เมื่ออยู่ในออนไลน์จะมีอีกลักษณะหนึ่ง แต่เวลาเจอกันซึ่งหน้า เรามองไปในดวงตา มีความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่ง มีความเป็นมนุษย์ปรากฎชัด แต่เมื่ออยู่ในออนไลน์ ทุกอย่างไม่มีส่วนนั้นอยู่ หรือไม่จำเป็นต้องมี ทำให้เกิดการแสดงความหยาบคายทุกชนิดได้ ถามว่าสามารถแสดงความหยาบคายต่อหน้าต่อตาได้หรือไม่ คำตอบคือได้ แต่ไม่ง่าย ขณะที่ปัจจุบันง่ายมาก และทำได้เร็วขึ้น” นักวิชาการ มธ. กล่าว
รศ.ดร.ฉันทนา บรรพสิริโชติ หวันแก้ว กรรมการก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแบบแผนความขัดแย้งตั้งแต่ปรากฎการณ์เสื้อสี มีการทำร้ายร่างกายคนที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างจากตนเอง มีการโต้ตอบกันด้วยภาษาที่รุนแรง ซึ่งยอมรับได้ในระดับการเมือง แต่หากถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือมุ่งหวังชีวิต มองว่า เป็นความรุนแรงและผู้อยู่ในอำนาจต้องตัดสินใจดำเนินการ
ขณะที่ทุกความขัดแย้งมี ‘ยาดำ’ 4 ชนิด คือ ต้องไม่ใช้ความรุนแรง สร้างความไว้วางใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมีความอดทนอดกลั้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ไขความขัดแย้ง เพราะเราอยู่ในสถานการณ์นี้มากว่า 10 ปี ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นเวลานี้เป็นความชัดเจน มาจากความไม่สามารถทนได้จากความเห็นที่แตกต่างไปจากตัวเองหรือสังคม เรียกว่า ความเกลียดก็ได้ แต่ความจริงเกลียดแล้วทนได้ก็มี
นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า ความเกลียดเป็นอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่เหตุผล แต่เกิดจากประสบการณ์จริงก็ได้ เช่น โดนตีเรื่อย ๆ ก็เกลียด มีคนประท้วง ทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้เกิดความหวั่นไหว แต่ความเกลียดเนื่องจากความรู้สึกกลัวถูกคุกคาม อาจมาจากจินตนาการหรือมายาคติก็ได้ เช่น ทำให้เรารู้สึกกลัวผี หรือทำให้เรารู้สึกมีความไม่มั่นคงบางอย่าง กลัวสูญเสียสถาบันที่เคยมีมา ถูกสร้างขึ้นมาทำให้หวาดระแวงวิตก และสิ่งเหล่านี้สามารถส่งทอดกันได้
ขณะที่ นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทางการเมือง เรามี 2 ทางเลือก คือ พูดความจริงกับฆ่าความจริง ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่งมีเครื่องบินตกที่เยอรมัน เพราะกัปตันประมาท ซีอีโอของสายการบินนั้นออกมายอมรับความจริงในทันทีก่อนที่สื่อจะกระพือข่าว ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กรนั้น เพราะเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นได้ยอมรับความจริง ขณะที่อีกไม่นานมีอุบัติเหตุทางเรือครั้งใหญ่ในไทยเกิดขึ้น ซีอีโอของบริษัทเรือออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่หลังจากนั้น 7 วัน กลับต้องยอมรับความจริง ทำให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทลดลงไปอีก
พร้อมกันนี้ตั้งคำถามว่า ในโลกของสื่อ มีหน้าที่พูดความจริง ค้นหาความจริง หรือทำให้ความจริงถูกลดทอนลง จะเห็นความขัดแย้งทุกวันนี้มาจากสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เกิดวิกฤติการณ์ จะมีสื่อรายงานความจริงกับสื่อพยายามฆ่าความจริง พยายามสร้างเรื่อง เพราะคนไทยชอบดราม่า ชอบเรื่องเล่า ถ้าข่าวที่เป็นวิกฤติถูกลดทอนแค่เรื่องดราม่า จะกระพือได้
อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี กล่าวต่อว่า อีกด้านหนึ่ง คนไทยถูกสอนมาตั้งแต่เด็กให้เชื่อฟัง เพราะฉะนั้นคนจึงไม่ตั้งคำถาม เพราะถูกสอนว่า ถ้าฟังแล้วต้องเชื่อเลย แต่ที่น่าสลดใจ ปัจจุบันไม่ทันฟังก็เชื่อแล้ว และยังมีวิธีการพาดหัวข่าวกับเนื้อข่าวคนละอย่างกัน จึงไม่แปลก เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะคนไทยพยายามสร้างเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อมีเหตุผลว่า สิ่งที่ตัวเองเชื่อ ยืนยันว่าใช่แล้ว และสื่อเองก็นำข่าวนี้ไปใช้ต่อ ทั้งที่สื่อต่างจากการส่งต่อข้อมูลผ่านอีเมล แต่ต้องกรองว่า สิ่งที่ฟังมานั้น มีความน่าเชื่อถือและเป็นข่าวได้หรือไม่ มิฉะนั้นเราจะทำหน้าที่เพียงแค่ส่งข้อมูลผ่านอีเมลเท่านั้น ทั้งนี้ สุดท้ายความน่าเชื่อถือของสื่อคือภูมิคุ้มกันของสื่อเอง ยิ่งแสวงหาข้อเท็จจริงมากเท่าไหร่ สื่อปลอมจะค่อย ๆ หายไป แล้วสามารถทุเลาความรุนแรงในสังคมได้
สุดท้าย นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เราไม่ปฏิเสธความเห็นต่าง แต่คิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะควรจะมีการพูดคุยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่พบ คือ การดึงไปสู่การด่าทอ สาดโคลน ในโลกออนไลน์ โดยลืมเรื่องที่จะพูดคุย ยิ่งเป็นผู้หญิงลุกขึ้นมาพูด จะโดนหนัก หรือแม้กระทั่งกรณีจ่านิวถูกทำร้าย มีการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ด่าทอองค์กรหรือมีวาทกรรมต่าง ๆ มองสิ่งที่เราทำสิ่งอื่น ไม่เฉพาะโทษประหารเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องลี้ภัยด้วย อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ฯ ไม่เลือกจะโต้ตอบ เพื่อโหมไฟให้ลุกขึ้น แต่พยายามทบทวนวิธีการสื่อสารใหม่ในยุคปัจจุบันแทน ทั้งนี้ อยากเห็นเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าทุกฝ่ายจะเห็นต่างก็ตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/