'พิธา' นำทีมก้าวไกล เข้าพบองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เผยมีอย่างน้อย 20 ประเด็นที่สอบแน่หากได้เป็นรัฐบาล ชี้ในวงหารือมอง 'สายสีส้ม' เป็นประเด็นสำคัญ จ่อไลฟ์สดประชุมครม.-กรรมาธิการงบประมาณเพื่อความโปร่งใส ส่วนการรื้อองค์กรอิสระ รับมีแนวคิดเปลี่ยนกรรมการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมคณะ เดินทางมาร่วมหารือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยมีนายวิเชียร พงศธร ในฐานะประธานองค์กรฯ พร้อมคณะร่วมหารือด้วย
@หวัง 'ก้าวไกล' ปราบโกง
นายวิเชียร เริ่มต้นว่า ดีใจที่พรรคก้าวไกลเข้ามาปรึกษาหารือกัน ถือว่าได้ะรรคการเมืองที่คงจะจริงจังในการหาทางแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ทางองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นเห็นว่า บทบาททางภาคการเมืองสำคัญยิ่ง หวังจะเห็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ทางการเมือง เพื่อให้ความหวังกับประชาชนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง ซึ่งได้แลกเปลี่ยนปัญหาในบางเรื่องที่เป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกันนโยบายสำคัญๆในหลายๆเรื่อง เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ หรืออะไรก็แล้วแต่ จะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นคู่กันไป ซึ่งได้เสนอการแก้ไขการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ เพราะไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่แก้ปัญหาซับซ้อนมากมายลึกลับด้วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้นจะเป็นโอกาสในการร่วมมือกันต่อไป
"เราคาดหวังกับการแสดงเจตจำนงอย่างมุ่งมั่น (Political View) และการเห็นความสำคัญของความยั่งยืนทางการเมืองว่า เรื่องนี้ (การปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น) จะได้รับความใส่ใจและการแก้ไข เพื่อจะได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรวม เพราะประชาชนโหยหาการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น วันนี้สิ่งที่เราได้ยิน ท่านได้พูดถึงตัวอย่างของบางเรื่องที่เป็นรูปธรรมในการจะไปดำเนินการจริง ดังนั้นในวันนี้เราก็มีความหวัง" นายวิเชียรกล่าว
วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
@ตั้งเป้าปราบโกง ดึงดัชนีคอร์รัปชั่นดีขึ้น
ด้านนายพิธา กล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุม คือ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการต่อสู้คอร์รัปชั่น เพื่อเพิ่มดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยที่ตกลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลาย 10 อันดับ มีความตั้งใจที่จะมีแผนในระยะสั้นไม่ว่าจะเป็นร้อยวันจะทำอะไรบ้าง หรือ 4 ปีทำอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นภาพว่าดัชนีด้านคอรัปชั่นดีขึ้นโดยเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นเจตจำนงของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องกี่ยวกับเศรษฐกิจและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ ได้พาส.ส. ที่มีบทบาทในการต่อต้านคอร์รัปชั่นมาแลกเปลี่ยนว่าจะแก้ไขปัญหาข้อไหนในการต่อสู้คอร์รัปชั่น การนำเทคโนโลยีเอามาช่วย และแสดงความชื่นชมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะในการอภิปรายหลายๆครั้งก็ได้ข้อมูลจากระบบค้นหาข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ https://actai.co/ ในการใช้อธิปรายในสภาหลายๆครั้ง
และหารือเกี่ยวกับการลดกฎหมายและขั้นตอนต่างๆเพื่อปิดทางในการเรียกรับผลประโยชน์หรือส่วยและลดการใช้ดุลพินิจ เพื่อลดคอรัปชั่นและอำนวยความสะดวก
โดยการหารือกันในวันนี้ นายรังสิมันต์ โรมและนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จะนำข้อมูลไปร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลในการทำงานและต่อสู้เกี่ยวกับประเด็นคอร์รัปชั่น โดย 25 ข้อมูลที่ไม่ได้รับการเปิดเผยในยุครัฐบาลอดีต ก็ได้รับโจทย์มาแล้ว จะนำไปดูว่ามีข้อจำกัดอะไร จะรีบทำงานตรงนี้ เพื่อนำมาหารือกับ ACT อีกรอบในโอกาสต่อไป
@20 กรณีจากรบ.ที่แล้ว เตรียมสอบโกง
เมื่อถามว่า มีโครงการของรัฐบาลชุดที่แล้วที่พร้อมจะตรวจสอบหรือเช็กบิลกี่โครงการ นายพิธาตอบว่า จริงๆรัฐบาลชุดที่แล้ว ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาหลายปี 1 ปีมีเรื่องที่น่าสนใจ 4-5 กรณี รวมๆก็ประมาณ 20 กรณี ส่วนเรื่องที่ปรึกษาหารือกันในวันนี้ก็มีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะกลับไปตามเรื่องต่อกับหน่วยงานที่ได้ไปยื่นเรื่องไว้
ส่วนเรื่องที่พรรคก้าวไกลจะทำเพื่อต่อต้านการคอรัปชั่นเป็นเรื่องแรกคือ การประชุมรัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณจะเปิดให้สื่อมวลชนถ่ายทอดสดได้ ถือเป็นการบริหารจัดการเล็กๆน้อยๆ ที่จะเปลี่ยนระบบปิดเป็นระบบเปิด ส่วนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอาจจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
@เปิดงบลับ ทำเท่าที่กม.เปิดช่อง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในส่วนของงบลับต่างๆ เช่น งบของกระทรวงกลาโหมจะสามารถเปิดตรงนี้ได้หรือไม่ นายพิธาตอบว่า จะทำเท่าที่กฎหมายอนุญาต โดยที่ยังไม่แก้ไขกฎหมาย ซึ่งเท่าที่หารือร่วมกันยังพบว่า กฎหมายในประเทศไทยยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล โดยยังไม่สอดคล้องกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับระหว่างประเทศอาจจะไม่เปิดเผย
"ตัวเลขจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีประมาณ 5 ล้านโครงการ เป็นการจัดซื้อ 40% และเป็นการก่อสร้าง 30% เพราะฉะนั้นแค่โครงการจัดซื้อกับโครงการก่อสร้างก็คิดเป็น 70% ของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะฉะนั้น ถ้าจะจัดลำดับความสำคัญและเกาให้ถูกที่คันโดยเร็ว จะต้องเป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งก็ได้หารือกับนายกสมาคมก่อสร้าง ได้พูดคุยถึงการจัดทำทีโออาร์ที่เหมาะสม และการใช้เทคโนโลยีในการจัดประเภทโครงการที่เป็นธงแดง ธงเหลือง จะได้เริ่มต้นให้รู้ถูกจุดว่าจะจัดการปัญหาที่เกิดคอร์รัปชั่นอย่างไร" นายพิธากล่าว
@แก้ไขระบบ ไม่ แก้แค้นตัวบุคคล
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า รัฐบาลที่แล้วมีการกล่าวหารัฐมนตรีหลายคน ทั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในกรณีนาฬิกา หรือนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประเด็นหุ้น หจก.บุรีเจริญ หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ การสะสางการทุจริตจะเร็วขึ้นหรือไม่ นายพิธาบอกว่า น่าจะเป็นเรื่องของการสร้างระบบมากกว่า ซึ่งระบบนี้จะกลับมาตรวจสอบพวกตนด้วย ไม่ใช่แค่แก้ทุจริตของรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่ง แต่จะเป็นระบบที่ยุติธรรมทั้งกับรัฐบาลชุดก่อน และรัฐบาลนี้ จนรัฐบาลต่อๆไป คงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว การชำระแค้น การเมืองไทยต้องมุวฒิภาวะจึงจะออกจากความขัดแย้งได้
เพราะฉะนั้น การแก้ไขระบบที่มีทั้งการลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดการผูกขาด เพื่มความโปร่งใส จะดีสำหรับทุกฝ่าย และหากตนได้เป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกการประชุมจะมีการถ่ายทอดสด
@เล็งรื้อใหญ่องค์กรอิสระ
เมื่อถามอีกว่า แล้วกรณีองค์กรอิสระหลายๆองค์กรที่เป็นแดนสนธยา จะเพิ่มความโปร่งใส เข้าถึง และการตรวจสอบทุจริตได้ดีขึ้นหรือไม่ นายพิธาตอบว่า ก็ยกตัวอย่างกันในที่ประชุม เพราะองค์กรอิสระหลายแห่ง ที่มาของกรรมการก็มาจากการแต่งตั้ง ก็พยายามที่จะให้องค์กรเหล่านี้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะจะต้องยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ควรมีคณะกรรมการที่คัดเลือกคนเหล่านี้ โดยตัวแทนมาจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ให้มีความเป็นกลางมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แสดงว่ากรรมการในองค์กรอิสระที่ดำรงตำแหน่งในขณะนี้ จะถูกเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นายพิธาตอบว่า เป็น 1 ใน 300 นโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เบื้องต้นยังเป็นไปตามนั้นอยู่ ยืนยันว่าแนวคิดของเรื่องนี้ไม่ได้ยึดที่ตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องของที่มาที่ไปและการใช้อำนาจ และอาจจะต้องแก้กฎหมาย ส่วนจะโละกรรมการชุดใดบ้าง ยังต้องหารือกันอีกเยอะ เพราะตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้กำเนิดองค์กรเหล่านี้ ยังต้องหารือว่าในภาพใหญ่ องค์กรเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่