ปิดตำนานอดีตรองนายกรัฐมนตรี - อดีตรมว.คลัง ‘อำนวย วีรวรรณ’ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคปอดอักเสบ รวมอายุได้ 90 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 เมษายน 2566 มีรายงานข่าวระบุว่า ดร.อำนวย วีรวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคปอดอักเสบ สิริอายุ 90 ปี มีกำหนดสวดพระอภิธรรม วันที่ 19-25 เม.ย.2566 ณ ศาลาสิทธิสยามการ วัดธาตุทอง พระอารามหลวง กรุงเทพมหานครสำหรับรายละเอียดอื่นๆจะรายงานให้ทราบต่อไป
สำหรับประวัติ ดร.อำนวย วีรวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2475 สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี 2518 เริ่มทำงานการเมืองโดยการได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (จอมพลถนอม กิตติขจร) ในปี พ.ศ. 2506 ต่อมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2523 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปีเดียวกันและได้รับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2535จากนั้นจึงลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2538 และได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในปี พ.ศ. 2539ต่อมาจึงได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การเงิน ในปี พ.ศ. 2540 ได้ ซึ่งต่อมาได้มีการแต่งตั้งนายทนง พิทยะ เข้ามารับหน้าที่แทน และได้มีการลดค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม
ดร.อำนวย วีรวรรณ เคยก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยใช้ชื่อว่า "พรรคนำไทย"และได้ยุติการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2541 และต่อมาเมื่อปี 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เรื่อง ศาลมีคำสั่งให้นายอำนวย วีรวรรณ (อดีตรองนายกรัฐมนตรี) เป็นบุคคลไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของ น.ส.อมรพิมล วีรวรรณ ผู้ร้อง
รายละเอียดคำสั่ง ระบุว่า ด้วย น.ส.อมรพิมล วีรวรรณ ผู้ร้อง ยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้ นายอํานวย วีรวรรณ เป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของ นางสาวอมรพิมล วีรวรรณ ผู้ร้อง
ศาลไต่สวนพยานหลักฐานผู้ร้องแล้วเห็นว่านายอำนวย วีรวรรณ ประสบอุบัติเหตุหกล้มที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีอาการสมองเสื่อมและเนื้อสมองตายถามตอบไม่รู้เรื่อง ไม่ทำตามคำสั่ง สติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องมีผู้ดูแล 24 ชั่วโมง เดินไม่ได้ เขียนหนังสือไม่ได้ ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ และไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ด้วยตนเองได้ ข้อเท็จจริงรับฟ้งได้ว่านายอํานวย วีรวรรณ เป็นคนไร้ความสามารถ ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 จึงเห็นสมควรตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรเป็นผู้อนุบาลได้ตามขอ
จึงมีคำสั่งว่า นายอำนวย วีรวรรณ เป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของ นางสาวอมรพิมล วีรวรรณ ผู้ร้อง
ที่มา: สยามรัฐ
ภาพจาก: รายการมองต่างมุม ออกอากาศเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2538