‘ประยุทธ์’ยุบสภามี.ค.นี้ ก่อนขอ ส.ส.รัฐบาลร่วมประชุมสภาเพื่อ 4 ร่างกฎหมาย ด้านโฆษกรัฐบาลเปิดคำชี้แจง ‘วิษณุ’ เกี่ยวกับไทม์ไลน์การเลือกตั้ง โดยรัฐบาลรักษาการถึง ส.ค.นี้ จนกว่าจะมีการถวายสัตย์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงไทม์ไลน์หลังจากนี้ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง, อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ อะไรทำได้ ทำไม่ได้ และได้แจ้งในที่ประชุม ครม.แล้วว่า จะมีการยุบสภาในเดือน มี.ค.นี้ โดยคาดว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 7 พ.ค. 2566 นี้
เมื่อถามว่า จะต้องดูวันที่จะยุบสภาอีกทีหรือไม่ นายกรัฐมนตรีตอบว่า เรื่องยุบสภาเป็นเรื่องของตน ก็ประมาณเดือนมี.ค.นั่นแหละ เพื่อให้ ส.ส.มีเวลาของเขาด้วย ถึงยังไงก็ทำงานทุกวัน และรักษาการต่อจนได้คณะรัฐมนตรีใหม่ ส่วน กกต.จะออกระเบียบการยุบพรรคที่ระยะเวลาจะเร็วขึ้น ก็ว่าไป ส่วนประกาศดังกล่าวทำให้พรรคการเมือง ต่างมองกันไปว่าพรรคไหนจะโดนเป็นพรรคแรก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนก็ไม่รู้ อย่าทำผิดกันทุกพรรค เรื่องนี้เป็นเรื่องของ กกต. อย่าไปมองอย่างนั้นอย่างนี้ กกต.หวังให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นเรื่องของ กกต. ตนเข้าไปยุ่งไม่ได้ และคิดว่าทุกคนไม่ควรจะไปยุ่งกับเขา ตามกติกาแล้วใครรับผิดชอบตรงไหนให้ทำตรงนั้น ดีที่สุด ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนทุกพรรคเหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการในที่ประชุมให้รัฐมนตรีแต่ละพรรค ขอความร่วมมือ ส.ส.ในการเข้าร่วมประชุมเพื่อผ่านร่างกฎหมายของรัฐบาล 4 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ..... ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริการราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และ ร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ....
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
@รัฐบาลใหม่เข้าทำงาน ต้นเดือน ส.ค. 66
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดที่นายวิษณุ เครืองามแจ้งในที่ประชุมว่า สภาผู้เแทนราษฎร (ส.ส.) จะครบวาระการดำรงตำแหน่งวันที่ 23 มี.ค. 2566 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ระบุให้การเลือกตั้งหลังจาก ส.ส.สิ้นอายุใน 45 วัน แต่ถ้ามีการยุบสภาก่อนครบวาระ จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45-60 วัน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีการยุบสภาภายในเดือน มี.ค. 2566 นี้
ส่วนไทม์ไลน์หลังการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะใช้เวลาตรวจสอบและประกาศผลการเลือกตั้งประมาณ 1 เดือนครึ่ง ซึ่งจะไปตกเอาประมาณต้นเดือน ก.ค. 2566 จากนั้นจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทย และจะมีการเลือกประธานรัฐสภา ประมาณกลางเดือนก.ค. 2566 หลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา เมื่อได้ชื่อแล้ว คาดว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี ประมาณช่วงปลายเดือน ก.ค. 2566 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ถวายสัตย์ก่อนดำรงตำแหน่ง โดยจะมีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศในเดือน ส.ค. 2566
ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้จะรักษาการไปประมาณ 4 เดือนครึ่ง นับจากเดือนมี.ค. 2566 ที่อาจจะมีการยุบสภา หรือการอยู่จนครบวาระ
นอกจากนี้ เมื่อ ส.ส.หมดวาระแล้ว สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะไม่สามารถจัดประชุม ส.ว.ได้ เว้นแต่มีวาระเร่งด่วน หรือการพิจารณาแต่งตั้งองค์กรอิสระ ส่วนกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภามีจำนวน 29 ฉบับ หากหมดวาระสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถือว่าตกไปทั้งหมด ขณะที่กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษามีจำนวน 11 ฉบับ ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีปัญหาอะไร
@รักษาการ 4 เดือนครึ่ง จนกว่าจะมีการถวายสัตย์
นายอนุชา กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันนายวิษณุได้ชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ ข้าราชการการเมืองยังทำงานตามปกติ จะพ้นตำแหน่งเมื่อมีการถวานสัตย์แล้วเท่านั้น หากมีการลาออกก่อน ก็ไม่กระทบกับการทำงาน การประชุม ครม. ยังสามารถทำได้ และยังปรับ ครม.รักษาการได้
แต่ ครม.รักษาการ จะไม่สามารถอนุมัติโครงการที่ผูกพันไปยังรัฐบาลต่อไปได้ เว้นแต่เป็นโครงการที่อยู่ในปีงบประมาณ, ไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ จะต้องเสนอให้ กกต. พิจารณา, ไม่สามารถอนุมัติงบกลางได้ เว้นแต่ กกต.อนุมัติ และไม่สามารถใช้ทรัพยากร บุคลากรของรัฐที่มีผลต่อกาสรเลือกตั้ง เช่น การจัดประชุมครม.สัญจร หรือการโอนงบแจกในโครงการต่างๆ เป็นต้น
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล