“... “ข้าพเจ้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะประพฤติปฏิบัติตน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน จักปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยจิตอาสา พร้อมทำความดี ด้วยหัวใจ…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต ในงานวันต่อต้านคอรัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” จัดที่ห้องนนทบุรี 1 ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี โดยโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต มีสาระสำคัญ ดังนี้
องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงภัยร้ายแรงจากการทุจริต และเพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบตลอดมา
และรัฐบาลได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่าย จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลขึ้น เพื่อร่วมกันแสดงจุดยืนพร้อม ๆ กับคนไทยทุกภาคส่วน ที่จะ “ไม่ทำ ไม่ทน และไม่เพิกเฉย” ต่อการทุจริตอีกต่อไป ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในวันนี้ แต่จะต้องอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนไทย ทุก ๆ คน ในทุก ๆ วัน
@คอร์รัปชั่น เป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ทุกคนทราบถึงปัญหาคอร์รัปชันที่ส่งผลเสียหายต่อประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ TI ได้สะท้อนปัญหาการทุจริตที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทยที่สำคัญ คือ ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับสินบน ตลอดจนการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน การไม่สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตน และความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ
ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการทุจริตเป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง ทั้งในการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทำลายภาพลักษณ์ ทำลายความเชื่อมั่นในสายตาประชาชนชาวไทยและชาวโลก ซึ่งทุกคนจะต้องไม่ยอมให้การทุจริตเป็นมรดกบาปตกทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานอีกต่อไป
@บรรจุแนวทางปราบโกงในแผนยุทธศาสตร์ชาติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ สร้างกลไกการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้มีการบรรจุแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ลงไปถึงการจัดทำแผนระดับรอง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมเป็นภาพรวมของประเทศแล้ว เช่น 1) พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ 2) นโยบาย National e-Payment เป็นต้น ที่ช่วยขจัดโอกาสการทุจริต หักหัวคิว เรียกรับสินบน เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของภาครัฐให้สามารถติดตามตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
สถานการณ์ในช่วงวิกฤตโควิดและวิกฤตพลังงานที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาคู่ขนาน คือปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ช่วยให้ทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และนานาชาติให้การยอมรับถึงความสำเร็จนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เพิ่มช่องการรับเรื่องราวร้องเรียนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส ตรวจสอบการทุจริตในทุกระดับอีกด้วย
@ย้ำ รัฐบาลตามคนทำผิดมารับโทษตามพยานหลักฐาน
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม” ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญที่สุดในเรื่องการติดตามนำผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้รับโทษตามกฎหมาย ตามพยานหลักฐานที่มีอยู่โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลในสังคม ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจมุ่งมั่นเพื่อลดละและขจัดการทุจริตให้หมดสิ้นไป โดยพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เปิดกว้างรับฟัง เสริมสร้างความเข้มแข็ง และคงความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้โครงการพัฒนาประเทศ การค้า การลงทุน การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม สามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่ยอมให้พลังความดี ความถูกต้อง ต้องพ่ายแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ
@ปลื้มผลงาน - วอนผู้เกี่ยวข้องช่วยกันรับผิดชอบ
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริตที่มีความก้าวหน้าตามลำดับ เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ทุกคนร่วมกันไม่ทำความผิดไม่เรียกรับผลประโยชน์ใด ๆ ซึ่งปัญหาทุจริตเป็นปัญหาของทุกประเทศ แต่สามารถแก้ไขได้หากทุกคนมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่เห็นประโยชน์จากการทุจริต มีเกียรติยศ ศักดิ์ศรีตามวัยวุฒิและคุณวุฒิ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันเฝ้าระวัง ดูแลและเป็นหูเป็นตา
ในขณะเดียวกันผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่รักษากฎกติกาก็ร่วมกันดูแลรับผิดชอบ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักฐานและกระบวนการตรวจสอบที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่ทำให้สังคมไม่ไว้วางใจ ซึ่งการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้นโดยเร็วที่สุด ร่วมกันสร้างจิตสำนึก ช่วยกันระมัดระวัง สอดส่อง ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ทำให้สังคมเป็นสังคมสีขาวปลอดการทุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและคนไทยทุกคนให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป
@ปฏิญาณปราบโกง
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนทุกระดับ ขอให้ช่วยกันทำต่อไปเพื่อให้ประเทศชาติมีความปลอดภัยในทุก ๆ เรื่อง พร้อมยืนยันว่าในฐานะผู้รับผิดชอบทางนโยบายจะไม่ให้มีการทุจริตเชิงนโยบายโดยเด็ดขาด การดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวนำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลว่า “ข้าพเจ้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะประพฤติปฏิบัติตน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน จักปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยจิตอาสา พร้อมทำความดี ด้วยหัวใจ”
ภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล