"...สูตรบัตรเลือกตั้ง 2 ใบพร้อมกับคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 100 ย่อมผ่านสายตา ‘กุนซือ’ ประจำตัวทั้ง ‘2 ป.’ แล้วว่าจะไม่เสียเปรียบ แม้หลายฝ่ายจะมองว่าสูตรนี้เอื้อกับ ‘พรรคเพื่อไทย’ มากกว่า ที่อาจจะได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ และคาดหวัง ‘แลนด์สไลด์’ ทั้งแผ่นดิน..."
ผ่านไปแล้วสำหรับ “กฎหมายลูก” สำคัญทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ‘เป็นเอกฉันท์’ ว่า ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่กลายเป็นสาระสำคัญถึงกับต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความมีแค่เรื่องเดียวคือ ‘สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์’ ที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรกลับไปใช้สูตร ‘หาร 500’ แบบปี 2562 อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่ากฎหมายลูกฉบับนี้ที่แก้ไขใหม่ต้องใช้สูตร ‘หาร 100’ จึงสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
สาระสำคัญของสูตรหาร 500 คือแบบเดียวกับที่เคยใช้ใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 ซึ่งอิงกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา โดยคิดคำนวณ ‘ส.ส.พึงมี’ อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์จำนวน 150 ราย ข้อดีคือบรรดา ‘พรรคเล็ก’ มีโอกาสเข้าไปโลดแล่นในสภา แต่ข้อเสียคือถูกมองว่าทำให้สภาไม่เข้มแข็ง เนื่องจากอาจถูกต่อรองจากพรรคเล็กได้
ข้อเท็จจริงนี้เห็นได้จากการจัดตั้งรัฐบาลของ ‘บิ๊กตู่’ สมัย 2/1 เมื่อกลางปี 2562 ว่า ต้องใช้ถึง 20 พรรค จึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยจำนวนนี้มีบรรดา ‘พรรคเล็ก’ ร่วมด้วยมากถึง 11 พรรค (ปัจจุบันเหลือเพียง 18 พรรค เนื่องจากพรรคไทยศรีวิไลย์ โดย ‘มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์’ ถอนตัวเป็นไป ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ ส่วนพรรคไทรักธรรมถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค)
เมื่อสูตรหาร 500 ถูกบรรดา ‘นักเลือกตั้ง’ มองว่าไม่เอื้อประโยชน์ จึงนำมาซึ่งการรื้อฟื้น ‘สูตรหาร 100’ ลักษณะเดียวกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ผ่านการเลือกตั้งในปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย
อย่างไรก็ดีสูตรหาร 500 ถูกบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจเอื้อประโยชน์กับ ‘พรรคใหญ่’ เกินควร โดยเฉพาะกับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ช่วงหลัง ‘กระแสสูง’ จากการนำของ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก นั่งเก้าอี้หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แถมยังมีชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ ซีอีโอแสนสิริ เตรียมเป็นแคนดิเดตนายกฯ
ท้ายที่สุดที่ประชุมรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ด้วยเสียงข้างมาก โดยกลับไปใช้ ‘สูตรหาร 100’ ทำให้ ‘หมอระวี มาศฉมาดล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ รวบรวมเสียงพรรคเล็ก ร่วมกับ ส.ว.รวม 105 ราย เข้าชื่อถึงประธานรัฐสภา ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ให้ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ดับฝันบรรดา ‘พรรคเล็ก’ ไปโดยปริยาย
สาระสำคัญในร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับนี้คือ มาตรา 25 ที่แก้ไขมาตรา 130 เดิม ที่กำหนดว่า หากต้องมีการเลือกตั้งใหม่บางเขตหรือบางหน่วยก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ห้ามนำคะแนนการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ต้องเลือกตั้งใหม่มาคำนวณหา ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับ
อย่างไรก็ดีมาตรา 25 ดังกล่าวถูกมองว่าอาจขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 มาตรา 93 บัญญัติว่า ถ้าต้องมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใหม่ในบางเขต หรือบางหน่วยก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่มีการประกาศผลครบทุกเขตไม่ว่าด้วยเหตุใด การคำนวณ ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ตและพรรคการเมืองพึงได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.
ส่วนมาตรา 26 ยกเลิกมาตรา 131 เดิม ที่กำหนดว่า ภายใน 1 ปีหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ถ้ามีผู้สมัคร ส.ส.ทุจริตจากการเลือกตั้ง หรือต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แบบแบ่งเขต เพราะการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ โดยห้ามนำคะแนนจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมมาคำนวณรวมด้วย
แต่อาจถูกมองว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 มาตรา 94 บัญญัติว่า ภายใน 1 ปีหลังจากวันเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตขึ้นใหม่ เพราะเหตุที่การเลือกตั้งดังกล่าวไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้นำความในมาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ว่างไม่ว่าด้วยเหตุใดภายหลังพ้นเวลา 1 ปีนับจากวันเลือกตั้งทั่วไปแล้ว มิให้มีผลกระทบต่อการคำนวณ ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีตามมาตรา 91
โดยรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 มาตรา 5 มีการแก้ไขมาตรา 91 จากเดิมบังคับให้ใช้สูตรหาร 500 มาเป็นการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.
อธิบายให้ง่ายคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2564 เปิดช่องให้สูตรการคำนวณ ส.ส.ไม่ต้องใช้สูตรหาร 500 อีกต่อไป แต่ให้ใช้ตามที่เขียนไว้ใน ‘กฎหมายลูก’ คือร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พร้อมกับการหวนคืนมาใช้ ‘บัตร 2 ใบ’
ประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปคือ ขั้นตอนหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องแจ้งผลไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวแก่นายกรัฐมนตรีดำเนินขั้นตอนทูลเกล้าฯ
โดยก่อนการทูลเกล้าฯ จะต้องพักรอไว้ 5 วัน เผื่อมี ส.ส.หรือ ส.ว. หรือแม้แต่นายกฯเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้อาจมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกรอบได้ แต่หากพ้น 5 วันดังกล่าวไปแล้ว นายกฯจะต้องทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนเมื่อ ‘2 ป.’ แยกกันสร้างดาวคนละดวง โดย ‘พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์’ อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงปักหลักบัญชาการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ มีกระแสข่าวเตรียมโยกย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
@ ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ดังนั้นสูตรบัตรเลือกตั้ง 2 ใบพร้อมกับคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 100 ย่อมผ่านสายตา ‘กุนซือ’ ประจำตัวทั้ง ‘2 ป.’ แล้วว่าจะไม่เสียเปรียบ แม้หลายฝ่ายจะมองว่าสูตรนี้เอื้อกับ ‘พรรคเพื่อไทย’ มากกว่า ที่อาจจะได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ และคาดหวัง ‘แลนด์สไลด์’ ทั้งแผ่นดิน
แต่กระดานการเมืองไม่ว่ายุคสมัยใด สามารถปรับเปลี่ยนหมากได้ตลอดเวลา การที่ ‘2 ป.’ แยกกันเดิน-ร่วมกันตี พร้อมกับใช้สูตรหาร 100 ดังกล่าว คงคิดมาอย่างดีแล้วว่า ‘ไม่เสียเปรียบ’ พรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน
@ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เพราะอย่างน้อยยังมีเสียง ส.ว.ตุนอยู่ในมืออย่างน้อย 250 เสียงที่ยังมีสิทธิ์เลือกนายกฯได้อีกเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่ ‘คีย์แมน’ ของฝ่ายค้านต่างมี ‘ชนักปักหลัง’ เป็นพรวน
ทุกอย่างคงผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองมาแล้วว่า การสืบทอดอำนาจของ ‘2 ป.’ จะยังคงมีต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็อีก 4 ปีข้างหน้านี้
แต่จะเป็นไปตามนี้หรือไม่ เมื่อถึงเวลาทุกอย่างจะมีคำตอบที่ชัดเจน