ครม.รับทราบผลงาน ปปง.ปี 64 สรุปคดีส่งให้หน่วยงาน 594 คดี ส่งอัยการ 158 เรื่อง ปราบฟอกเงินรวม 739 คำสั่ง อายัดทรัพย์รวมมูลค่า 42,654 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 ตุลาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประจำปี พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญ อาทิ
1.การป้องกันการฟอกเงิน ได้ดำเนินการการตรวจสอบเพื่อวิเคราะห์หาความผิดปกติของธุรกรรมทางการเงินที่อาจเชื่อมโยงเกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น 594 คดี
2.การปราบปรามการฟอกเงิน ได้ตรวจสอบ สืบสวน สอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินผู้กระทำความผิด จำนวน 739 คำสั่ง โดยส่งให้พนักงานอัยการพิจารณา 158 เรื่อง มูลค่ารวมกว่า 2,393 ล้านบาท ส่วนการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้มูลค่ารวม 42,654 ล้านบาท ได้ดำเนินการโดย 1)ขายทอดตลาด จำนวน 22 ครั้ง ทรัพย์สินที่ขายได้ 580 รายการ คิดเป็นมูลค่า 98.52 ล้านบาท 2)นำทรัพย์สินออกบริหาร 1,606 รายการ มีรายได้จากการบริหาร 33.42 ล้านบาท 3)การนำทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดส่งคืนเจ้าของทรัพย์สินมูลค่าทั้งสิ้น 172.85 ล้านบาท 4)นำทรัพย์สินที่ศาลสั่งตกเป็นของแผ่นดิน มูลค่าทั้งสิ้น 1,967.87 ล้านบาท
3.การกำกับและตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน ได้รับรายงานการทำธุรกรรม จำนวน 20.48 ล้านธุรกรรม โดยเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย จำนวน 129,875 ธุรกรรม และธุรกรรมเงินสดผ่านแดน จำนวน 3,645 ธุรกรรม
4.ความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้จัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองทางการเงินเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และได้ดำเนินการส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รวมจำนวน 55 ฉบับ กับ 52 ประเทศ
5.การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ระบบติดตามสถานะทางคดี (Case Tracking) พัฒนาระบบสนับสนุนข้อมูลการวิเคราะห์ธุรกรรมทางการเงิน (Financial Transaction Analysis System: FTAS)
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ส่งผลให้ในปี 2564 ที่ประชุมกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering: APG) พิจารณาเห็นชอบให้ไทยมีความสอดคล้องตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ในด้านกรอบกฎหมาย จำนวน 31 ข้อ คงเหลืออีก 9 ข้อ และด้านประสิทธิผล จำนวน 4 ด้าน คงเหลืออีก 7 ด้าน โดยในระยะต่อไป ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อรักษามาตรฐานที่ดีให้คงไว้ ขณะเดียวกันก็เร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้น