ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศ กคพ.ฉบับที่ 8 เพิ่มคดี ‘คุ้มครองผู้บริโภค – มาตรฐานอุตสาหกรรม’ เข้าข่ายพิจารณาเป็นคดีพิเศษ พร้อมปรับลดมูลค่าความเสียหายในคุณลักษณะความผิดหลายประเภท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่องกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เพื่อปรับปรุงลักษณะการกระทำความผิด รวมถึงเพิ่มประเภทคดีที่จะได้รับการพิจารณาเป็นคดีพิเศษจากเดิมมี 23 ลักษณะความผิดเป็น 25 ลักษณะความผิด โดยให้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลักษณะความผิดที่ถูกเพิ่มขึ้นใหม่มี 2 กรณี ดังนี้ 1.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นคดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 47 และมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีมูลค่าสินค้าหรือบริการตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีจานวนผู้เสียหายตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการฝ่าฝืนมาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 และมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และคดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 58 และมาตรา 59
2.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคดีความผิดที่มีบทกาหนดโทษตามมาตรา 48 มาตรา 48 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีมูลค่าผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป หรือมีจำนวนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรืออาจเป็นอันตรายต่อประชาชน จำนวน 50,000 หน่วยขึ้นไปตามชนิดของผลิตภัณฑ์
ขณะที่การปรับปรุงสาระสำคัญคุณลักษณะความผิดเดิม ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดมูลค่าความเสียหายของการกระทำผิด เพื่อให้เข้าข่ายการพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ ดังนี้
คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ปรับลดวงเงินหรือมูลค่าโครงการเหลือ 30 ล้านบาทจากเดิม 50 ล้านบาทขึ้นไป
คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า ปรับลดมูลค่าตามราคาท้องตลาด หรือ มูลค่าความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดเหลือ 5 ล้านบาทจากเดิม 10 ล้านบาทขึ้นไป
คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ และคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร ปรับลดมูลค่าความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดเหลือ 5 ล้านบาทจากเดิม 10 ล้านบาทขึ้นไป
คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ปรับลดมูลค่าราคาของรวมค่าภาษีอากรทุกประเภท รวมเป็นเงิน 30 ล้านบาทจากเดิม 100 ล้านบาทขึ้นไป
คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปรับลดมูลค่าความเสียหายเหลือ 50 ล้านบาทจากเดิม 100 ล้านบาทขึ้นไป
คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ ปรับลดมูลค่าความเสียหายเหลือ 50 ล้านบาทจากเดิม 100 ล้านบาทขึ้นไป
คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ปรับลดเนื้อที่ที่ได้รับความเสียหายเหลือ 50 ไร่จากเดิม 100 ไร่ขึ้นไป ส่วนมูลค่าความเสียหาย 100 ล้านบาทขึ้นไปให้เป็นไปตามราคาประเมินที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ประเมิน จากเดิมกำหนดให้ใช้เฉพาะราคาประเมินของกรมธนารักษ์
ส่วน คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้พิจารณาเป็นคดีพิเศษ กรณีที่ความผิดมูลฐานเป็นคดีอาญาอื่นที่มีมูลเชื่อว่ามีทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่มีมูลค่าตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไปจากเดิมกำหนดไว้ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงรายละเอียด เพื่อเพิ่มลักษณะความผิดเพิ่มเติม เช่น คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพิ่มลักษณะความผิดเพิ่มเติม คือ กรณีมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเงินการคลังของประเทศ
คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพิ่มคุณลักษณะที่เข้าข่ายคดีพิเศษ คือ กรณีได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ให้ตัดข้อความต่อไปนี้ออกไป คือ กรณีสถานการณืประกอบการมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนการกระทำผิดตั้งแต่ 50 ขึ้นไป
คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย เพิ่มคุณลักษณะ กรณีคดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 74 มาตรา 75 มาตรา 76 และมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีมูลค่าวัตถุอันตรายตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป
อ่านรายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/130/T_0022.PDF